จากคลิปเหตุการณ์ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผกก.โจ้ ผกก.สภ.นครสวรรค์ ใช้ถุงดำครอบหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ จนทำให้ผู้ต้องหาคนดังกล่าวถึงแก่ชีวิต ทำให้มีการพูดถึงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย) ขึ้นมาอีกครั้ง โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเห็นชอบให้บรรจุเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วในวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา และกลายเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับการพูดถึง ถกเถียงในสังคมอย่างหนาหูในระยะเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา
- ในวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เรื่องที่ตำรวจซ้อมผู้ต้องหาระหว่างการควบคุมตัวไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ที่ผ่านมามีเหยื่อหลายคนพยายามฟ้องร้องดำเนินคดี แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดพยานหลักฐาน จนทำให้เจ้าหน้าที่ลอยตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งยังแจ้งกลับฐานแจ้งความเท็จแก่เหยื่อด้วย ที่เป็นดังนี้เพราะเจ้าหน้าที่บางคนเชื่อว่าต้องทรมานเหยื่อเพื่อให้ได้ข้อมูล หรือเชื่อว่าเหยื่อเป็นคนไม่ดี ต้องกำจัดให้หายไป นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางคนยังไม่เกรงกลัวกฎหมายและมีผู้บังคับบัญชาที่คอยปกป้อง จนหลายคนลอยนวล ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- อังคณายังระบุด้วยว่า หากกฎหมายเพื่อยุติการทรมานและการบังคับสูญหายที่ผ่านมติ ครม. ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ยังไม่ถูกให้ความสำคัญ และยังไม่ได้รับการรับรองว่าเนื้อหาสาระของกฎหมายจะสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ ก็คงยากที่จะยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทยได้
- ขณะที่ในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายซ้อมทรมานฯ-ปฏิรูปองค์กรตำรวจ ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เนื่องจากพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวของ ผกก.โจ้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่าผู้ต้องหาอาจถึงแก่ชีวิตได้ ถือว่าขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ตลอดจนไม่สอดคล้องตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
- ดังนั้น กสม. จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งสอบสวนและดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มดังกล่าวด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ให้มีการคุ้มครองพยานหลักฐานที่รัดกุม แนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาสั่งการให้มีการติดกล้องวงจรปิดในกระบวนการและสถานที่สอบสวนทุกแห่ง และเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. และผลักดันให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง กระบวนการ และกฎระเบียบ ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชน
- ในวันเดียวกันนั้น สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรณีของ ผกก.โจ้นั้นเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ขณะนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว จึงไม่ได้มีการมุ่งเน้นตัดตอนเพื่อเอาชีวิต แต่เน้นการยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่าย โดยทางกระทรวงยุติธรรมจะจับตาดูกรณีนี้ให้เป็นคดีตัวอย่างว่าไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมอีก โดยหากประมวลกฎหมายยาเสพติดออกมาบังคับใช้ จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
- นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งอยู่ระหว่างการรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก สาระสำคัญคือ การทำให้การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับ ผลกระทบ มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นการช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม และยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น แสดงให้สากลโลกเห็นว่าประเทศไทยมีความตั้งใจจะเคารพสิทธิมนุษยชน
- ฝั่งการเมืองเองก็รับลูกเรื่องร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เช่นกัน โดยในวันนี้ (26 สิงหาคม) อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เวลานี้เกิดวิกฤตศรัทธาอย่างต่อเนื่องในทุกองค์กร โดยเฉพาะองค์กรตำรวจ และได้ทวงถามการปฏิรูปองค์กรตำรวจดังที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่าจะปฏิรูปตำรวจว่ามีความคืบหน้าถึงไหนแล้ว ขอถามไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ดูแล กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่าจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร และยังชูถุงดำมอบให้นายกฯ กลับไปพิจารณาว่าจะใช้กับตัวเองอย่างไร
- ด้าน สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส. ปัตตานี พรรคประชาชาติ ได้ขอฝากให้นายกฯ เร่งรัดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเร่งรีบบรรจุการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งทางพรรคประชาชาติได้ยื่นต่อสภาไว้ด้วย
- ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเรียกร้องให้สภาพิจารณาบรรจุร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้เป็นบุคคลสูญหายว่า กฎหมายที่ส่งมาทุกฉบับมีข้อบังคับกำหนดให้ต้องบรรจุระเบียบวาระภายใน 7 วัน และโดยทั่วไปก็จะบรรจุให้เป็นเรื่องด่วนตามที่ขอมา โดยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้เป็นบุคคลสูญหายนั้น จะเหลือเวลาประชุมถึงวันที่ 18 กันยายน และต้องรอผลการหารือจากวิป 2 ฝ่าย
- ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ป้องกันและกำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้อมทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยสหประชาชาติระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ไทยมีผู้ถูกบังคับสูญหายแล้ว 82 ราย โดยที่ผ่านมาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่เป็นที่รับรู้มีอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นฉบับที่กระทรวงยุติธรรมผลักดัน และอีกฉบับคือฉบับจากภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ในฉบับร่างจากประชาชนนั้นได้กำหนดโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดไว้ว่า การทำความผิดฐานทรมานและบังคับสูญหาย ต้องระวางโทษ 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท, ถ้าทำให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี ปรับตั้งแต่ 2-2.5 แสนบาท และถ้าผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต