×

‘ปิดปาก-ลิดรอนเสรีภาพ’ จับนักข่าว-ช่างภาพรายงานเหตุพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว

13.02.2024
  • LOADING...
จับนักข่าว Key Messages

‘สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ’ คือ 2 ข้อหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พระราชวัง แจ้งต่อ 2 สื่อมวลชนที่เป็นนักข่าวและช่างภาพข่าว ที่เดินทางไปเก็บภาพศิลปินอิสระพ่นข้อความบนกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกับพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการตั้งข้อหาและนำไปสู่การจับกุมตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จนถึงการนำตัวทั้ง 2 คนไปขอฝากขังต่อศาลวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งคู่ต่างยืนยันถึง ‘ความบริสุทธิ์ และเจตนารมณ์การทำงานสื่อ’ ว่าการเดินทางไปที่เกิดเหตุเป็นการทำตามหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อรายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนและสังคมรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้น

 

อีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ตำรวจก็เปิดเผยพยานหลักฐานชนิดที่ถอดเนื้อหาจากทุกเวลา ทุกสถานที่ เพื่อโยงให้เห็นความเชื่อมโยงของ ‘กลุ่มบุคคล’ ที่เข้าข่ายกระทำผิดครั้งนี้ว่าเป็นไปอย่างมีแผนการ

 

THE STANDARD ประมวลเหตุการณ์ พร้อมสรุปสาระ-เนื้อหาจากทุกฝั่งของเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดังนี้

 

‘พ่นกำแพงวัง’ สัญลักษณ์ต่อต้าน ม.112 เขตพระราชฐาน

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 17.40 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานว่า มีการจับกุมศิลปินอิสระ ศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือ บังเอิญ ขณะพ่นข้อความและสัญลักษณ์เกี่ยวกับมาตรา 112 ระบบอนาธิปไตย บนกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) 

 

ตำรวจ สน.พระราชวัง เข้าจับกุมศุทธวีร์ได้ทันที พร้อมนำตัวไปสอบสวนที่ สน.พระราชวัง แจ้ง 2 ข้อหา คือ

 

  1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 32 ‘ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน’ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรค (1) เป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 12 ‘ห้ามมิให้ผู้ใดขูด กะเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนน ที่ต้นไม้ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ เว้นแต่จะเป็นการกระทำของราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนอื่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจกระทำได้’ และถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

 

นอกจากนี้ยังมีการจับกุมเยาวชนหญิง ‘หยก’ ซึ่งขณะนั้นอายุ 14 ปี ระหว่างที่เธอเดินทางไปที่ สน.พระราชวัง เพื่อติดตามการจับกุมศุทธวีร์

 

ทั้งนี้ ไม่มีรายงานการแจ้งข้อหามาตรา 112

 

บุกจับด้วยหมายจับเก่า โยกย้ายตัวออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ

 

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ช่วงบ่าย ตำรวจได้จับกุม 2 สื่อมวลชน ได้แก่ ณัฐพล เมฆโสภณ และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 จากกรณีติดตามทำข่าวศิลปินอิสระพ่นสี-ข้อความบนกำแพงวัดพระแก้ว

 

โดยสื่อมวลชนทั้งสองคนถูกแจ้งข้อกล่าวหา ‘สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ’ ทั้งคู่ถูกพาตัวไปที่ สน.พระราชวัง ทำบันทึกการจับกุม สอบสวน ก่อนที่ 1 คนถูกพาตัวไปควบคุมที่ สน.ฉลองกรุง และอีก 1 คนถูกคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 1 คืน

 

ต่อมาเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ และ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปรอพบ 2 สื่อมวลชนที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อยื่นคัดค้านการขอฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

คุ้มเกล้าให้สัมภาษณ์ใจความว่า เป็นเรื่องที่แปลกเพราะเวลาผ่านมาประมาณ 1 ปีแล้วจากการออกหมายจับ ซึ่งมาจับเอาตอนนี้ เข้าใจว่าแม้ทั้ง 2 คนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ที่ต้องเป็นหมายจับเนื่องจากฐานความผิดในข้อกล่าวหามีโทษเกินกว่า 3 ปี

 

ส่วนตัวมองว่าการแยกจับกุมทั้งสองคนไว้ต่าง สน. ทั้งที่เหตุเกิดในพื้นที่ สน.พระราชวัง เป็นเรื่องที่ผิดปกติ ตำรวจควรจะควบคุมตัวทั้งสองไว้ที่ สน.พระราชวัง เพื่อให้ญาติหรือทนายความสามารถเข้าพบได้ 

 

ขณะที่กฤษฎางค์ระบุว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เหตุใดถึงเพิ่งติดตามจับนักข่าว และพวกเขาเองก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำความผิดนี้ 

 

ในข้อกล่าวหาที่ตำรวจแจ้งกับนักข่าวคือผู้สนับสนุนการกระทำผิด เรื่องนี้ต้องผ่านการสืบสวนทวนความอย่างดีว่า ผู้สื่อข่าวคนนี้ไปสนับสนุนอย่างไร ถ้าลองคิดดูว่าพวกคุณไปทำข่าวการชุมนุมต่างๆ ถือว่าเป็นการไปสนับสนุนหรือไม่ ประเทศนี้ไม่มีหลักแล้ว และการที่วันนี้ตนจะมายื่นประกันตัวผู้สื่อข่าว ฉะนั้นตนถือเป็นผู้สนับสนุนหรือไม่

 

โดยทั้งคู่ให้ความเห็นตรงกันว่า สื่อมวลชนควรจะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพในการทำข่าวของสื่อมวลชน เพราะสื่อเองก็คือประชาชน และถ้าไม่มีสื่อประชาชนจะทราบข้อเท็จจริงได้จากที่ไหน สื่อควรจะปกป้องจรรยาบรรณและยืนหยัดทำงานได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวอะไร

 

การเปิดใจครั้งแรกหลังถูกกระทำในลักษณะปิดปาก

 

ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าว หนึ่งในผู้ต้องหาเหตุการณ์จับสื่อมวลชนนี้ กล่าวเปิดใจระหว่างถูกคุมตัวไปศาลอาญาว่า การเดินทางไปทำงานในวันดังกล่าวเป็นการไปตามหน้าที่ ส่วนการที่ทราบหมายข่าวเพราะได้ติดตามแหล่งข่าวกลุ่มนี้มาเป็นระยะเวลานาน ตนขอยืนยันในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ชี้นำ ชี้แนะ สนับสนุนการทำลายโบราณสถานใดๆ

 

การกระทำในครั้งนี้ของตำรวจเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการทำงานในหน้าที่สื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง ตนเพียงถ่ายภาพอย่างเดียวเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้จึงมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เป็นการปิดปาก หรือทำให้เป็นตัวอย่างในการไม่ให้สื่อทำงานได้สะดวก

 

เปิดเหตุผลแจ้งข้อหา 2 สื่อมวลชน สนับสนุนการทำลายโบราณสถาน

 

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 15.31 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พิจารณาอนุญาตให้ฝากขัง 2 สื่อมวลชนได้ โดยศาลยกคำร้องขอคัดค้านการฝากขังจากฝั่งจำเลย ก่อนที่เวลา 15.50 น. ศาลพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 2 สื่อมวลชนได้ในระหว่างสอบสวน ตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยให้ประกันในวงเงิน 35,000 บาท ไม่มีเงื่อนไข

 

สำหรับพฤติการณ์ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนระบุว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 17.40 น. เวลาเกิดเหตุ ส.ต.ต. วราวุฒิ เทศวงษ์ และ ส.ต.ต. พชรพล แสงภารา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพยาน ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยเขตพระราชฐาน (พระบรมมหาราชวัง) โดยใช้รถจักรยานยนต์ของทางราชการเป็นยานพาหนะออกตรวจรอบพระบรมมหาราชวัง ทั้งหมด 5 จุด และได้ออกตรวจเป็นรอบเวลา 

 

ต่อมาตามวันและเวลาเกิดเหตุ พยานทั้งสองได้ออกตรวจรอบเขตพระราชฐาน พระบรมมหาราชวัง ก่อนถึงจุดตรวจที่ 4 พยานทั้งสองได้หยุดรถ ถ่ายภาพบริเวณจุดตรวจเพื่อส่งภาพรายงานทางกลุ่มในแอปพลิเคชัน LINE ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เมื่อตรวจครบทั้ง 5 จุด ขณะพยานทั้งสองกำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ออกตรวจต่อไป ส.ต.ต. พชรพล ได้พบเห็นเหตุการณ์ ศุทธวีร์ได้ใช้กระป๋องสีสเปรย์พ่นสีบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า

 

โดยสามารถจับกุมตัวศุทธวีร์ พร้อมยึดสีสเปรย์ของกลางได้ในขณะกระทำความผิด และได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้ทราบตามกฎหมาย จากนั้นได้นำตัวศุทธวีร์พร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 

 

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน จากการตรวจสอบข้อมูลทางสื่อโซเชียลและภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า วันก่อนเกิดเหตุ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เดินทางมาที่สนามหลวงและพูดคุยกับศุทธวีร์ และได้ไปร่วมนั่งรวมกลุ่มที่บริเวณหน้าศาลฎีกา 

 

ในวันเกิดเหตุ เวลา 17.35 น. ภาพวงจรปิดจับภาพผู้ต้องหาที่ 1 ยืนอยู่หน้าร้านกาแฟหน้ากระทรวงกลาโหมประมาณ 20 นาที ลักษณะเหมือนเป็นการรอเวลานัดหมาย ต่อมาเวลา 17.39 น. ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ยืนถ่ายภาพอยู่ที่ถนนหน้าพระลาน ตรงป้อมเผด็จฯ (ถ่ายภาพมุมด้านหน้า) ขณะที่ศุทธวีร์ก่อเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง และเข้ามาถ่ายภาพขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวศุทธวีร์ แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 ได้รู้มาก่อนแล้วว่าศุทธวีร์จะมาก่อเหตุ

 

จากการตรวจสอบข้อมูลทางสื่อโซเชียลและภาพจากกล้องวงจรปิด ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้ต้องหาที่ 2 พบว่าเมื่อเวลา 16.56 น. ผู้ต้องหาที่ 2 เดินขึ้นมาจากถนนใต้อุโมงค์ ฝั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ และเดินอยู่ภายในสนามหลวง อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานที่เกิดเหตุ ลักษณะเดินไปเดินมาเหมือนเป็นการรอเวลานัดหมาย 

 

ต่อมาเวลา 17.39 น. ผู้ต้องหาที่ 2 ยืนรอถ่ายภาพอยู่ตรงบริเวณมุมสนามหลวง ฝังทิศตะวันตก (มุมถ่ายภาพจากทางขวา) ขณะศุทธวีร์กำลังก่อเหตุพ่นสีกำแพง ซึ่งเหมือนรู้มาก่อนแล้วว่าจะมีคนก่อเหตุ เพราะคนปกติทั่วไปหากไม่ทราบแผนการมาก่อนก็ไม่สามารถเอาโทรศัพท์มือถือมาถือรอถ่ายภาพขณะศุทธวีร์ก่อเหตุได้ (ปรากฏตามภาพจากกล้องวงจรปิด) พนักงานสอบสวนจึงได้ขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาที่ 1-2 ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 15.06 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 ได้บริเวณร้านข้าว ถนนเจริญกรุง กทม. และเวลา 14.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาที่ 2 บริเวณกลางซอยประชาอุทิศ 4 แยก 1-2 แขวงราษฎร์บูรณะ กทม. 

 

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ และทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร 

 

อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 32 วรรค (1) และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 12, มาตรา 56 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 

 

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 2 เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ 

 

อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 32 วรรค (1) และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 12, มาตรา 56 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86 

 

ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา 

 

พนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 5 ปาก เป็นพยานชุดจับกุมและประจักษ์พยาน รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2 ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวน หากผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้าน เนื่องจากหากปล่อยตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาที่ 1-2 จะกระทำผิดซ้ำ

 

วงจรปิดเชื่อมโยง การทำผิดที่ (อาจ) มีการวางแผน

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเปิดเผยข้อมูลภาพวงจรปิดเพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์ การนัดหมายก่อนเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุ ของผู้ก่อเหตุในคดีพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ประกอบด้วย

 

  • ศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือ บังเอิญ ศิลปินอิสระที่ก่อเหตุพ่นสีสเปรย์ 
  • ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ สื่อมวลชน
  • ณัฐพล เมฆโสภณ สื่อมวลชน 
  • เวหา แสนชนชนะศึก
  • สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์
  • ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 
  • หยก เยาวชนวัย 14 ปี

 

โดยไล่ลำดับเหตุการณ์ได้ดังต่อไปนี้

 

  • วันก่อนเกิดเหตุ 27 มีนาคม 2566 ช่วงเวลา 18.00-19.30 น. เจ้าหน้าที่รายงานว่า ทุกคน (ศุทธวีร์ สร้อยคำ, ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์, เวหา แสนชนชนะศึก และ ณัฐพล เมฆโสภณ) ได้เดินทางมาบริเวณหน้าศาลฎีกาเพื่อวางแผนและสำรวจเส้นทางก่อเหตุ
  • วันก่อเหตุ 28 มีนาคม 2566 ช่วงเวลา 16.00-17.40 น. ทุกคนมารวมตัวกันในบริเวณรอบๆ สถานที่ที่ศุทธวีร์จะก่อเหตุ โดยเจ้าหน้าที่มีการแจกแจงหน้าที่ดังนี้ หยก ทำหน้าที่ไลฟ์ขณะก่อเหตุ, นภสินธุ์ ทำหน้าที่ถ่ายวิดีโอตอนก่อเหตุจากมุมซ้าย, ณัฐพล เมฆโสภณ ทำหน้าที่ถ่ายรูปตอนก่อเหตุจากมุมขวา และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ทำหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งขณะก่อเหตุ
  • จากนั้นช่วงเวลา 17.40-18.00 น. ขณะก่อเหตุ เจ้าหน้าที่รายงานว่า ทุกคนเข้าประจำจุดและทำหน้าที่ที่แต่ละคนรับผิดชอบ ขณะที่ศุทธวีร์กำลังก่อเหตุ มีบุคคลเพิ่มเติมจากช่วงก่อนหน้านี้คือ ทานตะวัน กระจายคลิปที่นภสินธุ์ถ่ายลงโซเชียล

 

ซึ่งหลักฐานในส่วนนี้ เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่เกิดเหตุและใกล้เคียง

 

การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมหลังจากนี้ ในส่วนของศิลปินอิสระที่ก่อเหตุพ่นสีได้อยู่ในชั้นการตรวจสอบพยานหลักฐานในชั้นศาลแล้ว แต่สำหรับสื่อมวลชนที่ถูกดำเนินคดีฐานสนับสนุนให้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสอบพยานเพิ่มเติม

 

มีสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ในส่วนหนึ่งของหลักฐานที่เจ้าหน้าที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อที่ถูกจับกับกลุ่มผู้ก่อเหตุคือ กิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ ที่มีสื่อมวลชนอีกหลากหลายสำนักไปติดตามทำข่าวเช่นกัน แต่กลับปรากฏภาพสื่อเพียง 2 รายนี้ที่เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising