ในที่สุดวันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ฝั่งไทยสามารถตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าใน 5 จุดที่มีการซื้อขายกระแสไฟฟ้าบริเวณชายแดนเมียนมา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ขณะที่หลายฝ่ายสงสัยว่า เหตุใดกระบวนการจึงใช้เวลานาน
THE STANDARD ลำดับเหตุการณ์สำคัญก่อนนำมาสู่การตัดไฟฟ้าในวันนี้ เพื่อให้เห็นกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจหลายฝ่าย ที่อาจสะท้อนให้เห็นเสถียรภาพการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในรัฐบาล
▪️ 23 มกราคม 2568 รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เชิญการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าหารือกรณีการซื้อขายไฟฟ้าบริเวณชายแดนแม่สาย
จุดแรกฝั่งแม่สอด ได้ข้อมูลสำคัญว่าบริษัทคู่สัญญากับ กฟภ. คือ บริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry and Manufacturing Company Limited (SMTY) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่าพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเมียวดี
ทั้งนี้ กฟภ. ไม่อยากตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ขอรอฟังความเห็นจากหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทำให้ไม่สามารถตัดไฟก่อนได้ ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งวันที่ 29 มกราคม
▪️ 29 มกราคม 2568 ประดิษฐ์ เฟื่องฟู และ ประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการ กฟภ. แถลงข่าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เมียนมาจำนวน 5 จุดในพื้นที่
- บ้านพระเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองซู รัฐมอญ: บริษัท Mya Pan Investment and Manufacturing Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากเมียนมา
- บ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน: บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากเมียนมา
- สะพานมิตรภาพไทย-พม่า – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน: บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากเมียนมา
- สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 – เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง: บริษัท Nyi Naung Oo Company Limited และบริษัท Enova Grid Enterprise (Myanmar) Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากเมียนมา
- บ้านห้วยม่วง – เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง: บริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry and Manufacturing Company Limited (SMTY) เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากเมียนมา
การงดจ่ายไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญามี 2 กรณี
- คู่สัญญาดำเนินการผิดสัญญา เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด หรือไม่วางหลักประกันสัญญา
- กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
อย่างไรก็ตาม กฟภ. จำเป็นต้องมีหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนดำเนินการบังคับใช้ข้อสัญญาดังกล่าว
▪️ 31 มกราคม 2568 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เกี่ยวกับ 5 จุดที่ กฟภ. ขายไฟให้เมียนมา ขอข้อมูลว่ามีจุดใดที่มีเครือข่ายยาเสพติด การฟอกเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศหรือไม่
▪️ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สมช. ประชุมหารือกับ กฟภ. เพื่อสรุปข้อมูลด้านความมั่นคงเสนอให้ กฟภ. และกระทรวงมหาดไทยพิจารณา พร้อมเสนอให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
▪️4 กุมภาพันธ์ 2568 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการด่วนให้ กฟภ. ตัดไฟฟ้าข้ามแดนในพื้นที่เสี่ยงขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ประเทศเพื่อนบ้านทันที พร้อมเรียก สมช. ประชุมในช่วงเย็นเพื่อความชัดเจน
ต่อมา สมช. รวบรวมข้อมูลทุกฝ่ายแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 557,500 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยสูญเสียเงินกว่า 80 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อพี่น้องประชาชนและทั่วโลก จึงมีมติให้ตัดไฟ อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
▪️5 กุมภาพันธ์ 2568 ช่วงเวลา 09.34 น. อนุทินเดินทางไป กฟภ. และเป็นประธานการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าทั้ง 5 จุด พร้อมยอมรับว่า ที่กระทรวงมหาดไทยไม่ตัดกระแสไฟฟ้า ต้องบอกว่ามันอยู่นอกเหนืออำนาจ แต่เมื่อ สมช. ประชุมและมีมติออกหนังสือคำสั่ง เราก็ดำเนินการทันที
อนุทินยังเปิดเผยว่า การตัดไฟฟ้าในครั้งนี้ ตัดไฟฟ้าไปทั้งหมด 20 เมกะวัตต์ รายได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้การขายไฟฟ้าทั้งหมดรวม 6 แสนล้านบาทต่อปี ในส่วนนี้จึงไม่ถึง 1% แค่นี้ถือว่าคุ้ม
▪️ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ภูมิธรรมมีกำหนดการเดินทางไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตรวจเยี่ยมพื้นที่แนวชายแดน เพื่อดูปัญหาการลักลอบค้ายา และตรวจพื้นที่ที่ตัดกระแสไฟฟ้า