การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ถูกจับตามองว่าจะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของฟิลิปปินส์ เนื่องจากครั้งนี้ตัวเต็งผู้สมัครที่กำลังได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดและมีแนวโน้มที่จะคว้าชัยชนะหากไม่มีการพลิกโผคือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ ‘บองบอง’ อดีตวุฒิสมาชิกวัย 65 ปี ลูกชายเพียงคนเดียวของอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส
โดยผลสำรวจความนิยมล่าสุดจากหลายสำนักโพลชี้ว่า บองบองได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนฟิลิปปินส์อยู่ที่กว่า 56% นำหน้าคู่แข่งอย่างรองประธานาธิบดี เลนี โรเบรโด มากกว่า 30% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่น่าสนใจและอาจสะท้อนไปถึงผลการเลือกตั้งที่ผู้ชนะจะมีคะแนนเสียงค่อนข้าง ‘ทิ้งห่าง’ คู่แข่ง
ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้บองบองอาจก้าวขึ้นไปถึงเก้าอี้ผู้นำฟิลิปปินส์ตามรอยบิดาของเขาได้ โดยหนึ่งในปัจจัยที่ถูกมองว่าอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากฐานเสียงของประชาชนที่ยังนิยมในตระกูลมาร์กอส ยังมีการใช้เครื่องมือแห่งยุคสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เขาสามารถลบล้างภาพจำอันอื้อฉาวของครอบครัว ทั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบและความร่ำรวยผิดปกติ
มรดกเผด็จการ ‘มาร์กอส’
สาเหตุที่การกลับคืนสู่อำนาจของครอบครัวมาร์กอสเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากพฤติกรรมอันอื้อฉาวระหว่างที่อยู่ในอำนาจของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองฟิลิปปินส์มายาวนานกว่า 20 ปี
อดีตประธานาธิบดีมาร์กอสถูกโค่นลงจากอำนาจภายหลังการประท้วงใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ ‘การปฏิวัติพลังประชาชน (People Power Revolution)’ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1986 โดยประชาชนทั่วประเทศนับล้านคนออกมาชุมนุมต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐและการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อโกงเลือกตั้ง จนส่งผลให้ครอบครัวมาร์กอสต้องลี้ภัยไปยังฮาวาย ก่อนที่มาร์กอสผู้พ่อจะเสียชีวิตอยู่ที่นั่น
หนึ่งในชนวนการลุกฮือของประชาชนฟิลิปปินส์เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีมาร์กอสมาจากการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศในเดือนกันยายน ปี 1972 เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามการประท้วงที่ทวีความรุนแรงขึ้นของกลุ่มเสรีนิยม ตลอดจนรับมือภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ก่อความไม่สงบ
โดยข้อมูลจาก Amnesty International แสดงให้เห็นว่า ขณะที่มาร์กอสผู้พ่ออยู่ในอำนาจนั้น มี ‘ศัตรูของรัฐ’ ประมาณ 70,000 คนถูกกักขังในเรือนจำ ราว 34,000 คนถูกทรมาน และมากกว่า 3,000 คนถูกสังหาร ขณะที่สื่ออิสระต่างก็ถูกปิด ซึ่งการใช้อำนาจควบคุมและปราบปรามผู้ต่อต้านมาร์กอสเกิดขึ้นนานถึง 9 ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีมาร์กอสชี้ว่า ช่วงเวลาในการครองอำนาจของมาร์กอสนั้นเป็นยุคทองแห่งการพัฒนาของฟิลิปปินส์ มีการสร้างศูนย์วัฒนธรรม โรงพยาบาลเฉพาะทาง หรือแม้แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับทุนจากเงินกู้ต่างประเทศ แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะไม่เคยถูกใช้ และตัวเลขหนี้จากการกู้เงินต่างประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 800 ล้านดอลลาร์ในช่วงเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งสมัยแรกในปี 1965 เป็น 28.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงที่เขาถูกขับไล่
ขณะที่ GDP ของฟิลิปปินส์ในปี 1984 ร่วงลงถึง 7% ต่ำสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นผลจากการดำเนินนโยบายแบบ ‘ทุนนิยมแบบพวกพ้อง’ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสมุ่งสนับสนุนผลประโยชน์ทางธุรกิจของบรรดาเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง
ครอบครัวมาร์กอสยังถูกกล่าวหาว่าขโมยเงินจากกองทุนของรัฐเป็นจำนวนสูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่พวกเขายืนกรานปฏิเสธ แม้ว่าต่อมา ทางการฟิลิปปินส์จะสามารถกู้คืนเงินดังกล่าวกลับมาได้กว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์
นอกจากอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส ทางด้าน อิเมลดา มาร์กอส อดีตสตรีหมายเลข 1 ก็ตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และได้รับฉายาว่า ‘ราชินีแบรนด์เนมแห่งฟิลิปปินส์’
เนื่องจากหลังการลี้ภัยของครอบครัวมาร์กอส รัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดใหม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นในคฤหาสน์ของเธอและสามี และต้องตกตะลึงเมื่อพบรองเท้ายี่ห้อหรูกว่า 1,100 คู่ พร้อมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องเพชร และผลงานศิลปะราคาสูงอีกจำนวนมาก
โดยสิ่งของบางส่วนยังถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จนถึงทุกวันนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจเรื่องการโกงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์
แล้วทำไม บองบอง มาร์กอส ยังได้รับความนิยม?
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ผู้สมัครคู่แข่งของบองบองมักจะหยิบยกมรดกอันอื้อฉาวของบิดาของเขาขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีในการหาเสียง แต่สิ่งที่ได้ นอกจากจะไม่ทำให้ความนิยมของบองบองลดต่ำลงแล้ว ยังให้ผลตรงกันข้าม เนื่องจากประชาชนจำนวนมากที่ตัดสินใจว่าจะเลือกบองบองนั้นไม่ใช่เพราะเขานิยมชมชอบในตระกูลมาร์กอส แต่พวกเขาแค่ไม่ชอบการชี้นิ้วบอกและทำกับอีกฝ่ายเหมือนเป็นคนเลว
“ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวผู้อื่นด้วยความเกลียดชัง” อัซคูน หนึ่งในชาวฟิลิปปินส์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งวัย 20 ปี กล่าว
นอกจากนี้ประชาชนไม่น้อยยังตอบรับคำสัญญาของบองบองที่ประกาศว่าจะสร้างความปรองดองภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็พร้อมสานต่อมรดกจากการทำหน้าที่ของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต ที่กำลังจะหมดวาระ ซึ่งเขายังได้จับมือเป็นทีมเดียวกับ ซารา ดูเตร์เต บุตรสาวของประธานาธิบดีดูเตร์เต ที่ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี
‘โซเชียลมีเดีย’ เครื่องมือล้างภาพลักษณ์ตระกูลมาร์กอส
จุดแข็งที่น่าจับตามองอย่างหนึ่งในการหาเสียงของบองบองคือ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของตระกูลในขณะที่ดึงคะแนนจากกลุ่มผู้สนับสนุน
โดยเขามีผู้ติดตามจำนวนมากในโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์ม อาทิ TikTok 1.2 ล้านคน, YouTube 2 ล้านคน และ Facebook อีกกว่า 5.3 ล้านคน ฟาติมา กอว์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัยการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นต่อความนิยมในโซเชียลมีเดียเหล่านี้ว่า “แทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะแยกแยะระหว่างการโฆษณาชวนเชื่อและการสนับสนุนอย่างแท้จริงในแพลตฟอร์มดังกล่าว”
ตัวอย่างหนึ่งของการสนับสนุนจากโซเชียลมีเดียที่น่าสนใจคือ คลิปวิดีโอความยาว 13 วินาทีที่โพสต์ใน TikTok โดย โจอี โตเลโด หนึ่งในผู้สนับสนุนบองบอง ซึ่งเป็นคลิปขณะที่บองบองกำลังพูดคุยกับ ฮวน พอนซ์ เอ็นไรล์ อดีตรัฐมนตรียุติธรรม และอดีตรัฐมนตรีกลาโหมในยุคมาร์กอสผู้พ่อ ซึ่งเอ็นไรล์วัย 94 ปี อ้างว่า “การประกาศกฎอัยการศึกของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสทำให้ฟิลิปปินส์นั้นปลอดภัย ถึงขนาดที่ประชาชนออกจากบ้านได้โดยไม่ต้องล็อกประตู และไม่มีใครไปยุ่ง”
ซึ่งแม้คลิปดังกล่าวที่มียอดวิวกว่า 92,000 วิว จะก่อให้เกิดข้อสงสัยและมีการถกเถียงเรื่องข้อเท็จจริง แต่โตเลโดก็เชื่อว่าเอ็นไรล์นั้นรู้จริงว่าอะไรเกิดขึ้นในช่วงนั้น
นอกจากนี้โตเลโดที่มีอาชีพเจ้าหน้าที่ IT ยังเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่เขาเริ่มใช้ TikTok มากว่า 8 เดือน เขาสังเกตได้ว่า หลังจากที่เริ่มโพสต์คลิปวิดีโอสนับสนุนบองบอง ผู้ติดตามเขามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเขายืนยันว่าเต็มใจที่จะโพสต์คลิปเหล่านั้นเองโดยไม่ได้รับค่าจ้างและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหาเสียงของบองบอง
คนรุ่นใหม่ไม่สนเรื่องราวเผด็จการมาร์กอส
นอกจากการใช้โซเชียลมีเดีย บองบองยังมีฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนในหลายจังหวัดทางภาคเหนือที่ยังคงชื่นชอบในครอบครัวมาร์กอส
โดยบองบองเริ่มเข้าสู่เวทีการเมืองครั้งแรกด้วยการรับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดวัย 23 ปีที่บ้านเกิดของเขาในจังหวัดอีโลโคสนอร์เตเมื่อปี 1981 ซึ่งหลังจากที่เขาและครอบครัวมาร์กอสเดินทางกลับสู่ฟิลิปปินส์ในปี 1991 เขาได้พยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนเองและครอบครัว และได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกในปี 2010 และลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปี 2016 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
อีกปัจจัยที่ถูกมองว่าส่งผลต่อความนิยมของบองบองคือ เรื่องราวในช่วงการครองอำนาจของมาร์กอสผู้พ่อ ที่รวมถึงการประกาศกฎอัยการศึกและใช้อำนาจปราบปรามประชาชนและคู่แข่งทางการเมืองอย่างรุนแรง ไม่ถูกบอกเล่ามากพอในระบบการศึกษาของประเทศ
นั่นหมายความว่าประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เกิดหลังปี 1986 สามารถเชื่อได้อย่างง่ายดายว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
อีกทั้งทางการฟิลิปปินส์ยังล้มเหลวในการทำให้ครอบครัวมาร์กอสรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมของพวกเขา โดยอิเมลดายังเป็นอิสระและไม่ถูกตัดสินโทษ ขณะที่บองบองที่ถูกตัดสินความผิดฐานเลี่ยงภาษีในปี 1997 ก็ไม่ต้องเข้าคุกหลังศาลอุทธรณ์แก้ไขคำตัดสิน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมของฟิลิปปินส์
ชัยชนะของบองบองจะเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยไหม?
นิโคล คูราโต นักสังคมวิทยาชาวฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นการต่อสู้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของประเทศฟิลิปปินส์
โดยผู้ที่ไม่สนับสนุนตระกูลมาร์กอสและบองบองจะโต้แย้งว่า “ชัยชนะของบองบองนั้นเป็นสัญญาณแห่งความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย ในการทำให้นักการเมืองที่ทุจริตรับผิดชอบต่อความผิดที่ทำ” ส่วนทางฝั่งผู้สนับสนุนบองบองก็จะบอกว่า “การคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของบองบองจะเป็นสัญญาณว่าประชาธิปไตยของประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้าและมองไปยังอนาคต”
อย่างไรก็ตาม การที่บองบองจะเป็นเหมือนบิดาของเขาหรือไม่หากได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่นั้นยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่า บองบองไม่น่าจะเดินตามรอยเท้าบิดาของเขา เนื่องจากเขาไม่มีแรงผลักดันและความทะเยอทะยาน ตลอดจนขอบเขตวิสัยทัศน์แบบเดียวกับที่บิดาของเขามี
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังมองว่า การที่ฟิลิปปินส์จะกลับไปเป็นยุคของเผด็จการแห่งศตวรรษที่ 20 นั้นดูจะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปเสียแล้วสำหรับตอนนี้
ภาพ: Photo by Ezra Acayan / Getty Images
อ้างอิง:
- https://time.com/6173757/bongbong-marcos-tiktok-philippines-election/
- https://time.com/6162028/bongbong-marcos-philippines-president-popular/
- https://edition.cnn.com/2022/05/06/asia/philippines-election-presidency-marcos-profile-dst-intl-hnk/index.html
- https://nypost.com/2022/05/05/bongbong-marcos-likely-next-president-of-philippines/
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/philippines-marcos-keeps-big-lead-poll-presidential-race-2022-05-02/