×

รัฐธรรมนูญ 60 สู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กล้าฝันสู่ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’

โดย THE STANDARD TEAM
20.09.2024
  • LOADING...

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งจัดทำภายใต้บริบทของคณะกรรมการ ที่มีต้นทางมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ถูกระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และอยู่คู่สังคมไทยมาแล้ว 7 ปี

 

รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ ถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในเจตจำนงที่ถูกกำหนดไว้ในนโยบายของหลายพรรคการเมืองว่าต้องการแก้ไขให้เร็วที่สุด 

 

ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ‘ทบทวนรัฐธรรมนูญ 2560 สู่ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ ซึ่งจัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 กันยายน มีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่

 

  • ผศ. ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา
  • นิกร จำนง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
  • พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ

 

ทั้งหมดได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างหลากหลาย 

 

7 ปีรัฐธรรมนูญ 60 มีแต่ความตึงเครียด

 

ผศ. ดร.เข็มทอง กล่าวว่า ผลงานที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญปี 25​60 ที่ใช้มากว่า 7 ปี เข้าสู่ปีที่ 8 มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจอยู่นานกว่าฉบับปี 2540 และคาดว่าจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเร็วๆ แต่น่าจะเป็นการแก้ไขฉบับเดิมเพิ่มเติม 

 

สำหรับภาพรวมของรัฐธรรมนูญนั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวต้องดูจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่มีรัฐธรรมนูญขึ้นมา ในโลกยุคใหม่นั้นระบบการเมืองควรถ่ายทอดเสียงประชาชนให้ออกมาเป็นนโยบายหรือการกระทำที่เป็นรูปธรรม เป็นระบบการเมืองที่ต้องฟังเสียงประชาชน และรัฐธรรมนูญควรเป็นเครื่องมือลดความขัดแย้งในสังคมที่เคยผ่านบาดแผลใหญ่ ทั้งการประท้วง และการปะทะ 

 


 

ผศ. ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ. ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แฟ้มภาพ: THE STANDARD

 


 

รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น เป็นฉบับที่แปลก เป็นรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ทับซ้อนกันอยู่ กล่าวคือ ฉบับ 5 ปีแรก และฉบับถาวรที่ใช้ในปัจจุบัน กว่าจะได้ใช้อย่างจริงจังก็ผ่านไปเกือบ 3 ปี คือหลังการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากก่อนหน้านั้นอยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง คดีความทางการเมืองอีกมาก ผ่านการยุบพรรคการเมืองมาแล้ว 3 พรรค และมีการประกาศว่าการกระทำบางอย่างเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองไทย 

 

ที่น่าสนใจ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ไม่สามารถทำให้เจตจำนงของประชาชนเปลี่ยนเป็นรูปธรรมทางการเมืองได้ เพราะมีกลไกจำนวนมากในการกลั่นกรองเสียงข้างมาก รวมถึงกลไกหลังการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มาโหวต จนทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน หรือแม้แต่การที่สังคมตื่นตัวในการสรรหา สว. แต่ระบบถูกออกแบบให้ประชาชนไม่สามารถเลือก สว. ได้ คะแนนมาจากการเจรจารอบต่างๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดในระบบการเมืองไทย

 

ฝันที่จะเสร็จในสภาชุดนี้ แต่ไม่ทันเลือกตั้งสมัยหน้า 

 

ขณะที่ นิกร จำนง ในฐานะคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า จากประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ความขัดแย้งมักจะนำไปสู่การยึดอำนาจ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ถือว่าผิด ตนเคยเห็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาก่อน จึงรู้ว่าประชาชนมีความชื่นชมอย่างไร รัฐธรรมนูญควรมีกลไกให้แก้ไขได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญไหลไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม หากไปล็อกไว้ไม่ให้แก้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 มันก็จะแตกเพราะบิดตัวไม่ได้ 

 

แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้น สิ่งแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากประชาชนที่สามารถแก้ไขได้ง่าย ซึ่งกระบวนการต้องค่อยๆ เดินไป โดยใช้ประชาชนเป็นหลังพิง และต้องคำนึงถึงหลักของการเปลี่ยนแปลง อย่างวันนี้เรามาเถียงกันเรื่องแอปพลิเคชัน แต่หากไม่สามารถอัปเกรดเครื่องโทรศัพท์ มันก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องออกแบบกระบวนการให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญเสียก่อน เพื่อให้เขาเคารพความขัดแย้ง แล้วค่อยพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยขอไม่เอารัฐธรรมนูญแบบฟาสต์ฟู้ด

 


 

นิกร จำนง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

นิกร จำนง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

แฟ้มภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

ขณะเดียวกัน เหตุที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลได้นั้น เนื่องจากโดยปกติการร่างรัฐธรรมนูญมีกระบวนการต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี โดยไม่ทราบว่าทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เนื่องจากตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตามธงที่เราตั้งไว้ว่าจะทำประชามติรอบแรกพร้อมการเลือกตั้ง อบจ. ทั้งประเทศ ยืนยันว่าทำได้แน่นอน เป็นการเริ่มก้าวแรกของการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

 

อย่างไรก็ตาม นิกรกล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลบอกว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด และเชื่อว่ากระบวนการจะถูกเร่ง แต่ยอมรับว่าอาจจะไม่ทันใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพราะเราไปควบคุมขั้นตอนในการแก้มาตรา 256 ไม่ได้ การทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้งก็ใช้เวลาทั้งหมด 1 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เรามีสิทธิ์ที่จะฝันโดยส่วนตัวมองว่าจะทำได้ทันในสภาชุดนี้ แต่อาจไม่ทันได้ใช้กฎหมายลูกในการเลือกตั้ง แต่อย่างน้อยเราก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 

 

กระนั้นก็มีความกังวลใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีหลายธง ทั้งของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดังนั้นปัญหาที่เราต้องระวังคือ ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญเป็นฉบับของประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่ของพรรคการเมืองหรือของกลุ่มใด เพราะฉะนั้นควรฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายด้วย แม้แต่กองทัพและชนชั้นนำ หากเราไม่ฟังโดยรอบก็จะเป็นรัฐธรรมนูญของพรรคใดพรรคหนึ่ง

 

พรรคประชาชนเสนอแพ็กเกจแก้รายมาตรา

 

ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ตนคิดว่าเส้นทางที่ 1 ที่เราต้องเดินแน่นอนคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด แต่จะเดินเส้นนี้อย่างเดียวคงไม่พอ เพราะกระบวนการบางอย่างต้องใช้เวลา แม้จะเร่งเร็วที่สุดไม่มีอุปสรรคอะไรเลยก็อาจจะใช้เวลา 1-2 ปี 

 

ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเดินเส้นทางที่ 2 คู่ขนานไป คือการแก้ไขรายมาตราในประเด็นที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขบางปัญหาไปล่วงหน้าก่อน ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาบางร่างในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่สัปดาห์หน้าก็สัปดาห์ถัดไป 

 


 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ

พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ

แฟ้มภาพ: THE STANDARD

 


 

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะใช้วัดว่าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่นั้นมี 2 เกณฑ์คือ ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและโดยเร็วที่สุด เพราะหากเราจะทำเพียงแค่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยไม่สนใจเรื่องความชอบธรรม ตนคิดว่าก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้

 

ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยนั้น พรรคประชาชนมองว่าต้องสะท้อนความคิด ความฝัน และความต้องการของคนทุกคน ซึ่งหากจะวางนิยามที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในเชิงรูปธรรมควรมี 3 องค์ประกอบ คือ

 

  1. สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% 
  2. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ สสร. อาจจะตั้งขึ้นมานั้น ควรมีองค์ประกอบที่เป็นธรรมกับประชาชน และเป็นธรรมกับแต่ละฝ่ายทางการเมือง 

 

“โมเดลที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอไว้เมื่อปีที่แล้ว เกิดความกังวลเล็กน้อย เพราะในจำนวน 47 คนนั้น 24 คนมาจาก สสร. แต่อีก 23 คนเป็นคนนอกที่มาจากสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แยกจาก สส. และ สว. แต่เมื่อรวมโควตาของ ครม. กับ สส. ฝ่ายรัฐบาลแล้วจะอยู่ที่ 14 คน ขณะที่โควตาของ สส. พรรคฝ่ายค้านอยู่ 4 คน และ สว. 5 คน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่ไม่สมดุล”

 

  1. เมื่อ สสร. จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ควรนำร่างดังกล่าวไปทำประชามติ โดยไม่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน เพราะ สว. ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากจะให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน ก็อาจจะเปิดช่องให้ตัวแทนที่อาจจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้ามาแทรกแซง ปรับแก้เนื้อหาบางประการได้ แม้อาจจะส่งมาที่รัฐสภาได้แต่ต้องไม่เปิดให้ลงมติ เพียงแค่เปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแล้วนำความเห็นนั้นบันทึกไว้ เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ประกอบตอนลงประชามติ

 

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลกางโรดแมปให้ชัดว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่บอกว่าจะทำให้เร็วที่สุดนั้น จะได้เมื่อไร และทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแพ็กเกจการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคประชาชนมองว่ามีความสำคัญเร่งด่วนและเป็นไปได้จริง ซึ่งเราได้เดินหน้าแล้ว 2 แพ็กเกจ

 

แพ็กเกจที่ 1 การลบล้างผลพวงรัฐประหาร เพราะมองว่าฝ่ายการเมืองที่อาจจะเห็นต่างในบางเรื่องนั้น แต่คงเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีรัฐประหารแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ร่างคือ การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. เพื่อคืนอำนาจในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์กลับไปที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและประชาชน, การทลายเกราะคุ้มกันคำสั่ง คสช. หรือการยกเลิกมาตรา 279, เติมพลังป้องกันรัฐประหาร คือการเพิ่มหมวดในการป้องกันการทำรัฐประหาร เช่น การเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร, เพิ่มหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ทำตามผู้บังคับบัญชาหากมีคำสั่งให้ไปยึดอำนาจ และการห้ามไม่ให้ศาลรับรองการรัฐประหาร

 

แพ็กเกจที่สองคือ การตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ โดยการตีกรอบอำนาจเรื่องของการยุบพรรคการเมือง ที่จะพยายามทำให้พรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น คือการทำให้พรรคการเมืองเกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีส่วนสำคัญเกี่ยวกับพรรคการเมือง ส่วนการตีกรอบอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน 

 

แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปนิยามว่าอะไรคือมาตรฐานจริยธรรม และนำคำนิยามนั้นไปบังคับใช้กับทุกองค์กร รวมถึงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไต่สวน วินิจฉัยว่าการกระทำอะไรที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม

 

สิ่งที่เรากังวลคือการผูกขาดอำนาจมาตรฐานจริยธรรมในลักษณะนี้ ขณะที่การได้มาซึ่งองค์กรอิสระก็มีการตั้งคำถามว่า จะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริงหรือไม่ และเป็นการไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้บทบัญญัติเหล่านี้ก่อให้เกิดการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่เป็นธรรม สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เรื่องจริยธรรมจะถูกใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจเดิมที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

ส่วนข้อเสนอของพรรคประชาชน มี 4 ข้อ คือ 

 

  1. ต้องแยกกลไกการตรวจสอบจริยธรรมออกจากการตรวจสอบการทุจริต โดยให้การพูดถึงจริยธรรมเป็นการรับผิดชอบทางการเมือง แต่การตรวจสอบการทุจริตควรมีกลไกทางกฎหมาย
  2. การยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดการนิยามมาตรฐานจริยธรรม แต่พยายามให้แต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของตนเองที่เหมาะกับการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร
  3. ยกเลิกอำนาจที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไต่สวน และวินิจฉัยว่ากรณีไหนเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม 
  4. ปรับกระบวนการที่ประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภาสามารถยื่นเรื่องร้องได้ หากเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ให้มีความรัดกุมมากขึ้น และลดบทบัญญัติที่ปัจจุบันมีการใช้ดุลพินิจของประธานสภา ในการตัดสินใจว่าจะยื่นเรื่องต่อหรือไม่ แต่จะแก้ให้ประธานสภาเป็นเพียงแค่คนส่งเรื่องเท่านั้น

 

เชื่อผ่าน สว. ยาก แนะร่วมกันสร้างบทสนทนาในสังคม

 

ส่วน รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวเสริมถึงการยกเลิกมาตรา 279 เป็นมรดกของ คสช. ที่มีหลายคำสั่งนำมาสู่การปฏิรูประบบกฎหมาย และการจัดการในหลายเรื่อง และเป็นการสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน เช่น เรื่องที่ดิน โดยส่วนตัวมองรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างมาก เพราะมีเรื่องการถ่ายโอนอำนาจจากข้างบนลงข้างล่าง สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 

 


 

รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา 

รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา 

แฟ้มภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 


 

แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการสร้างระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง และมีหลายองค์กรที่ปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย เสมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสะท้อนการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนไป เป็นการนำอาจขึ้นไปข้างบน ลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจให้รัฐ ไม่ใช่มิติเฉพาะการเมืองที่แตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ทำให้กลายเป็นยุคตกต่ำ ถดถอย ในเรื่องสิทธิชุมชน และการเมืองภาคประชาชน

 

“ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่เกิดขึ้นภายในสถาบัน องค์กรทางการเมือง แต่มันเกิดขึ้นจากบริบททางการเมืองภายนอกที่กดดัน ซึ่งตราบใดก็ตามถ้าพลังทางสังคมไม่เข้มแข็ง ไม่ผลักดัน ก็จะไปไม่ได้“ รศ. ดร.ประภาส กล่าว

 

ส่วนบทบาทของ สว.ใหม่ ไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น รศ. ดร.ประภาส มองว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่อาจจะมีการแก้ในรายมาตรา ซึ่งข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญของพริษฐ์ เชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่จะผ่านการเห็นชอบจาก สว. แต่ก็มีส่วนที่สำคัญอย่างมากที่เห็นด้วย อย่างกรณีบทบัญญัติเรื่องการป้องกันการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ต้องฉันทานุมัติของสังคม ไม่ให้เกิดการยอมรับในการแทรกแซงทางการเมืองแบบนี้ และแม้จะไม่ได้ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ แต่การรณรงค์อย่างกว้างขวางเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก และสังคมไม่ควรรับรองคำสั่งของคณะรัฐประหาร มีศักดิ์และสถานภาพเทียบเท่ากับกฎหมาย

 

รศ. ดร.ประภาส กล่าวเห็นด้วยกับนิกรในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนในรายมาตราก็มีความสำคัญ และควรมีการสร้างบทสนทนาในสังคม แม้จะยากในเรื่องการยอมรับจากผู้คนในสังคม ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนจะเสนอไป รัฐบาลควรกำหนดปฏิทินหรือประกาศให้มันชัดเจนเกี่ยวกับการลงประชามติ ประชาชนจะได้เห็นว่าเราจะเดินก้าวแรกได้เมื่อไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising