“เป็นคำถามที่เปิดกว้างว่าโอมิครอนจะเป็น ‘วัคซีนเชื้อเป็น’ อย่างที่ทุกคนคาดหวังหรือไม่” นพ.แอนโทนี เฟาชี หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แลกเปลี่ยนความเห็นในการประชุมประจำปีของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในหัวข้อ ‘โควิด-19: อะไรต่อไป’ (COVID-19: What’s Next?) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2022 “ผมคาดหวังว่าจะเป็นกรณีนั้น แต่จะเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อเราไม่มีอีกสายพันธุ์หนึ่งที่หลบหลีกภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ก่อนหน้า”
ในการประชุมหัวข้อดังกล่าว นพ.เฟาชีได้พูดถึงโรคประถิ่น (Endemic) ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจว่าหมายถึงอะไร และโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ โพสต์นี้จะสรุปประเด็น ‘โรคประจำถิ่น’ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐฯ ท่านนี้
“ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปีนี้ เราจะเปลี่ยนจากโรคระบาดทั่วโลก (Pandemic) สู่โรคประจำถิ่นหรือไม่ บนความเร็วที่เร่งขึ้นจากความสามารถในการแพร่กระจายและสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการติดเชื้อ” เป็นคำถามที่พิธีกรถาม นพ.เฟาชี ซึ่งเชื้อที่ว่าคือโอมิครอนที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้
“คำตอบคือเราไม่รู้ และผมคิดว่าเราต้องซื่อตรงอย่างเปิดเผย เมื่อคำว่า ‘โรคประจำถิ่น’ ถูกใช้ในบริบทที่ต่างกัน” นพ.เฟาชีตอบ “เมื่อพูดถึงการระบาดทั่วโลก ผมจะแบ่งเป็น 5 ระยะ” ได้แก่
- การระบาดทั่วโลก ซึ่งทั้งโลกได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงอย่างที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน
- การชะลอตัว (Deceleration)
- การควบคุม (Control)
- การกำจัด (Elimination)
- การกวาดล้าง (Eradication)
โดยในประวัติศาสตร์โรคติดเชื้อที่ผ่านมา เราเคยกวาดล้างโรคติดเชื้อในมนุษย์ได้สำเร็จเพียงโรคเดียวคือไข้ทรพิษ (Smallpox) ซึ่งนั่นจะไม่กำลังเกิดขึ้นกับไวรัสนี้ ต่อมาคือการกำจัด หมายถึงการกำจัดโรคออกจากประเทศของคุณ แต่ยังมีบางพื้นที่นอกประเทศที่พบโรคนั้นอยู่ เช่น โรคโปลิโอที่ถูกกำจัดออกไปจากสหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ดังนั้นบันไดขั้นถัดมาคือ ‘การควบคุม’ ซึ่งการควบคุมหมายถึงโรคยังเกิดขึ้นอยู่ แต่เกิดขึ้นในระดับที่ไม่กระทบต่อสังคม
“ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นเวลาพวกเขาพูดถึง ‘ความเป็นโรคประจำถิ่น’ (Endemic) ซึ่งถูกรวมเข้ากับประสบการณ์ต่อโรคติดเชื้อที่เรามี” ยกตัวอย่าง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนในช่วงอากาศหนาว เช่น ไวรัสพาราอินฟลูเอนซา ไวรัสอาร์เอสวี ไวรัสไรโน เราต้องการให้มันอยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อสังคม นั่นคือนิยามความเป็นโรคประจำถิ่นของผมว่าหมายถึง การเกิดโรคที่ไม่ทำให้สังคมต้องหยุดชะงักและไม่ได้ถูกกำจัดให้หายไป (a non-disruptive presence without elimination)
เมื่อคุณพูดถึงว่าจะเป็น ‘โอมิครอน’ หรือไม่ เพราะมันแพร่กระจายได้เร็ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ก่อให้เกิดโรคเท่าเดลตา ผมคาดหวังว่าจะเป็นกรณีนั้น แต่จะเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อเราไม่มีอีกสายพันธุ์หนึ่งที่หลบหลีกภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ก่อนหน้า เช่น เราโชคดีที่โอมิครอนถึงแม้ว่าจะแพร่กระจายได้เร็ว แต่ไม่ก่อโรครุนแรง ทว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับความรุนแรงที่ต่ำ ดังนั้นจึง “เป็นคำถามที่เปิดกว้างว่าโอมิครอนจะเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอย่างที่ทุกคนคาดหวังหรือไม่ เพราะคุณมีความแปรปรวนอย่างมากกับสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น”
ส่วนศาสตราจารย์แอนเนลลีส์ ไวเดอร์-สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) มหาวิทยาลัยลอนดอน แขกรับเชิญอีกท่านหนึ่งก็เห็นด้วยกับนพ.เฟาชี ว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการได้ยินคือเมื่อไรที่เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะเรียกว่าโรคประจำถิ่น และโอมิครอนไม่น่าจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย เนื่องจากการแพร่กระจายในระดับสูงในขณะนี้ทำให้มีโอกาสมากที่จะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
อ้างอิง:
- Fauci says it’s still an ‘open question’ whether omicron spells Covid endgame https://www.cnbc.com/2022/01/17/fauci-its-an-open-question-whether-omicron-spells-covid-endgame.html
- Does Omicron mean the end for COVID-19? Anthony Fauci and other experts on Radio Davos https://www.weforum.org/agenda/2022/01/omicron-end-of-covid-19-anthony-fauci-radio-davos/