×

‘หยุดถอดบทเรียนความสูญเสีย’ ตั้งหลักเฝ้าระวัง 3 เดือนอันตราย เสี่ยงการก่อเหตุลอกเลียนแบบ

05.10.2023
  • LOADING...
ลอกเลียนแบบ

จากเหตุการณ์เยาวชนชายวัย 14 ปี ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงภายในศูนย์การค้า เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ช่วงเวลา 16.20 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ในจำนวนนี้ผู้สูญเสียเป็นชาวต่างประเทศที่เดินทางมาพักผ่อนในประเทศไทยกับครอบครัว

 

ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตทุกรายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่คนร้ายลงมือ ไม่มีใครเป็นคู่อริหรือศัตรู ไม่มีใครที่สูญเสียเป็นต้นเหตุของการกระทำที่อุกอาจนี้

 

ทีมข่าว THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ พีท-พีรพงศ์ เพิ่มแสงงาม หนึ่งในคนไทยที่ปฏิบัติงานใน Los Angeles Police Department: LAPD ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าวหลังเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 

 

โดยพีรพงศ์ระบุว่า เหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภูถือเป็นสัญญาณแรกที่บอกว่าคนไทยต้องเตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทุกคนต้องเรียนรู้หลักสูตรที่จะฝึกเอาตัวรอด ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรหันมาเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ จัดโครงการฝึกอบรมให้กับบุคลากรตั้งแต่ระดับนักเรียนจนถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้และเข้าใจจนสามารถนำบทเรียน ‘หนี ซ่อน สู้’ มาใช้ได้อย่างถูกต้อง

 

เรื่องนี้เริ่มต้นอย่างไม่มีที่มา และจบลงอย่างน่าสงสัย

 

พีรพงศ์ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์การค้าย่านปทุมวันว่า อันดับแรก เครื่องแต่งกายของผู้ก่อเหตุที่เป็นเยาวชนชาย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายกันกับผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542

 

เยาวชนรายนี้สวมเสื้อสีดำที่เป็นลักษณะเสื้อซ้อมยิงปืน ใส่กางเกงทางยุทธวิธีหรือกางเกงฝึกซ้อม คาดเข็มขัดยุทธวิธีที่สามารถเสริมซองเก็บปืนและแมกกาซีนได้ พร้อมสวมหมวกแก๊ป พีรพงศ์กล่าวว่า ขณะแรกที่เห็นทำให้นึกไปถึงผู้ก่อเหตุกราดยิงโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ในทันที นี่จึงเป็นอีกข้อสังเกตแรกว่าการก่อเหตุในครั้งนี้อาจมีแรงจูงใจที่ต้องการลอกเลียนแบบ

 

ในลักษณะการก่อเหตุจากรายงานข่าว ตนมองว่าผู้ก่อเหตุวางแผนเป็นลำดับขั้น เดินทางมาโดยขนส่งสาธารณะ ปะปนมากับฝูงชนตามปกติ หยุดพักก่อนเริ่มลงมือ ส่วนการก่อเหตุเลือกกลุ่มเหยื่อที่เป็นกลุ่มที่อ่อนแอกว่า เช่น ผู้หญิงและผู้ที่มีอายุ ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนได้

 

พีรพงศ์ให้ความเห็นต่อว่า จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่ห่างจากผู้ก่อเหตุเพียง 15 เมตร และสามารถหลบวิถีกระสุนได้โดยที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้ตามมายิงซ้ำ แต่เลือกเดินต่อเพื่อไปยิงรายอื่น เป็นอีกข้อสังเกตว่าผู้ก่อเหตุมีสติดีและไม่เสียเวลากับเหยื่อที่ได้พลาดไป 

 

“ตัวเขาอาจไม่ได้มีอาการทางจิต ไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิตเภท เพราะการตัดสินใจก่อเหตุ การเคลื่อนไหว การวางแผนถูกตระเตรียมมาเป็นอย่างดี และเป็นระเบียบมากเกินกว่าผู้ที่มีปัญหาด้านสติปัญญาจะสามารถทำได้” พีรพงศ์ระบุ

 

และในท้ายที่สุด ภาพวงจรปิดที่เราได้เห็นการยอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน ตัวผู้ก่อเหตุวางอาวุธและลดระดับร่างกายลง หันหลังให้เจ้าหน้าที่เป็นสัญญาณบอกว่าจะไม่ต่อสู้ นั่นก็เท่ากับว่าเขาอาจมีสติรู้ว่าหากมีการปะทะเกิดขึ้นตัวเขาเองจะเป็นฝ่ายเสียหายและได้รับบาดเจ็บ

 

Copycat การลอกเลียนแบบเพื่อสนองความต้องการเอาชนะ

 

พีรพงศ์กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเกิดเหตุกราดยิงขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เนื่องด้วยกฎหมายที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถครอบครองปืนได้อย่างเสรี ทำให้มีอาวุธกระจายอยู่ในสังคมเป็นจำนวนมาก

 

สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำหลังเกิดเหตุคือการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำโดยการลอกเลียนแบบเหตุที่เกิดขึ้นก่อนหน้า หรือที่เราเรียกว่า Copycat

 

แน่นอนว่าการถอดบทเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ เพื่อให้เรารู้ว่ามีจุดอ่อนหรือช่องโหว่ตรงไหนที่ต้องได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้อีก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งเป็นการก่อเหตุในลักษณะที่อุกอาจ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม

 

เพราะสำหรับคนบางกลุ่มแล้วจะมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เท่ ทำแล้วได้รับการชื่นชมยกย่อง ทำแล้วถูกพูดถึง อยากทำบ้าง และกำหนดการทำเรื่องเลวร้ายเป็นเหมือนภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จสักครั้ง

 

พีรพงศ์กล่าวว่า ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่อันตรายและเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่กังวลมากที่สุด เพราะการก่อเหตุเพียงหนึ่งครั้งก็สร้างความสูญเสียแล้ว หากมีการก่อเหตุซ้ำเติมไปอีกโดยไม่หยุดยั้ง มันจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่เลวร้าย 

 

ฉะนั้นช่วงเวลา 3-4 เดือนหลังเกิดเหตุลักษณะดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวัง กวดขันอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการก่อเหตุลอกเลียนแบบมากที่สุด

 

ช่องว่างเพียงจุดเดียวอาจนำมาซึ่งปัญหาและความสูญเสีย 

 

พีรพงศ์กล่าวว่า ในประเทศไทยการเข้าถึงอาวุธถือว่าทำได้ยากกว่าที่สหรัฐอเมริกา แต่การที่เด็กคนหนึ่งจะมีเครื่องบรรจุกระสุน อาวุธดัดแปลงครอบครองไว้กับตัวเองจำนวนมาก ส่วนตัวคิดว่าอาจมีช่องว่างใดช่องว่างหนึ่งที่เอื้ออยู่

 

การที่เยาวชนคนดังกล่าวปรากฏภาพไปซ้อมที่สนามยิงปืน ตนเองมองว่าส่วนนี้อาจเป็นช่วงเวลาการสะสมกระสุน เพราะทุกครั้งที่ไปสนามยิงปืนแม้จะต้องมีผู้ดูแล ต้องมีการเบิกกระสุนใช้ยิงที่สนาม แต่อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้ดูแลสนามไม่ได้กลับมาตรวจสอบว่ากระสุนถูกใช้หมดไปในสนามหรือไม่ จึงเป็นไปได้ที่เด็กชายคนดังกล่าวจะลักลอบนำกระสุนออกไป

 

และอีกประเด็นคือเรื่องแบลงค์กัน ปืนลักษณะนี้ก็ควรถูกบรรจุอยู่ในหมวดอาวุธ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการก่อเหตุไม่ได้มาจากอาวุธที่ถูกขึ้นทะเบียนหรือถูกจัดหมวดหมู่อย่างชัดเจน แต่ล้วนมาจากอาวุธที่ถูกประดิษฐ์หรือดัดแปลงขึ้น 

 

นอกจากนี้ พีรพงศ์ยกตัวอย่างการจับกุมเยาวชนที่สหรัฐอเมริกาว่า หากเจ้าหน้าที่สามารถเข้าจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้แล้ว เจ้าหน้าที่ทุกนายจะถูกอบรมฝึกฝนมาอย่างดีในการอ่านสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งในกรณีที่ผู้ก่อเหตุยังเป็นเยาวชน เจ้าหน้าที่จะต้องอ่านข้อคำถามจากกฎหมายที่เรียกว่า ‘Gladys R.’

 

เพื่อประเมินและยืนยันว่าขณะนั้นเยาวชนคนดังกล่าวรับรู้สิ่งที่ทำลงไปหรือไม่ รับรู้ถึงระดับไหน รู้หรือไม่ว่าผิดหรือถูก ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญอย่างมากที่เจ้าหน้าที่จะใช้ต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

 

“ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุมเป็นสิ่งจำเป็นมากที่เจ้าหน้าที่ไทยจะต้องมีหลักปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อเป็นการป้องกันช่องว่างเล็กๆ ที่อาจทำให้การต่อสู้คดีเปลี่ยนไป” พีรพงศ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising