สำนักข่าว CNN เผยแพร่รายงานบทสัมภาษณ์ พลจัตวา ซอ มิน ตุน โฆษกกองทัพเมียนมา หลังทีมข่าวได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำข่าวสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งระหว่างการลงพื้นที่ทำข่าว CNN ได้สัมภาษณ์ผู้นำกองทัพและบุคคลสำคัญหลายคน ทั้งในนครย่างกุ้งและกรุงเนปิดอว์ ช่วงวันที่ 31 มีนาคม ถึง 6 เมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางการควบคุมและรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดโดยกองทัพ และนี่คือบทสรุปที่ถอดความมาบางส่วน
ใจความสำคัญคือกองทัพเมียนมาปฏิเสธความรับผิดชอบกรณีการสังหารเด็ก และเผยความเป็นไปได้ว่าอาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะจัดภายใน 1 ปีหลังรัฐประหาร โดย CNN ชี้ว่า บทสัมภาษณ์นี้คือความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดครองอำนาจครั้งนี้ของกองทัพ
- ตลอดการสัมภาษณ์นานกว่า 1 ชั่วโมง โฆษกกองทัพเมียนมาแสดงความแน่วแน่ในการสนับสนุน ‘เรื่องเล่า’ ของรัฐบาลทหารที่อ้างว่า ผู้นำกองทัพเพียงแค่ ‘ปกป้องประเทศ’ ขณะเดียวกันก็กำลังสืบสวนเรื่องการโกงเลือกตั้ง ท่ามกลางการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงจนนองเลือด และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 600 คน
- ซอ มิน ตุน ชี้แจงว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินอาจขยายเพิ่มอีก 6 เดือนหรือมากกว่านั้นหากภารกิจยังไม่สำเร็จ และไม่ระบุวันเวลาที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ยืนยันว่าภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่กองทัพร่างขึ้นนั้น ทุกสิ่งจะต้องเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งกองทัพให้คำมั่นว่า จะต้องจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรมภายใน 2 ปี
- กำหนดการใหม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐประหาร เคยประกาศไว้หลังยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์จะคงอยู่ต่อไป 1 ปี และจะมีการจัดเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการประกาศภาวะฉุกเฉินทำให้อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ อยู่ในกำมือของเขา
- ซอ มิน ตุน ยังกล่าวย้อนไปถึงการปฏิรูปของรัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เริ่มต้นในปี 2011 หลังกองทัพยอมสละอำนาจการปกครองและเดินหน้าจัดเลือกตั้งในปี 2015 ซึ่ง ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยยืนยันว่ากองทัพไม่เคยต่อต้านการเข้าสู่การเมืองของซูจี
“หากเราไม่ต้องการเธอตั้งแต่แรก มันคงจะไม่มีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้น” เขากล่าว
- ซอ มิน ตุน ยังเน้นถึงกรณีของซูจีที่ถูกกักตัวอยู่ในบ้านพักและไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏตัวต่อสาธารณชน โดยเธอเผชิญข้อหาร้ายแรงถึง 5 ข้อหา ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงข้อหานำเข้าอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร การละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 และข้อหาคอร์รัปชันและรับสินบน ซึ่งข้อหาร้ายแรงที่สุดคือการฝ่าฝืนกฎหมายความลับของทางราชการที่มีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการคอร์รัปชันในระดับชาติและความผิดพลาดในขั้นตอนระดับรัฐ และเรากำลังกล่าวหาในข้อเท็จจริง ออง ซาน ซูจี เป็นบุคคลที่รู้จักกันดีทั้งในเมียนมาและทั่วโลก และเราจะไม่กล่าวหาบุคคลโดยปราศจากเหตุผลใดๆ” โฆษกกองทัพเมียนมาระบุ
- CNN ชี้ว่า การตั้งข้อหาฝ่ายตรงข้ามด้วยกฎหมายในยุคอาณานิคมนั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ดีของกองทัพตลอดระยะเวลาที่พวกเขาปกครองเมียนมารวมถึงในช่วงการปฏิรูป ซึ่งทนายความของซูจีระบุถึงการตั้งข้อหาทั้งหมดว่าเป็นการสร้างเรื่อง และระบุถึงข้อหารับสินบนว่าเป็นการสร้างข้อหาปลอมอย่างชัดเจน
- ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาอย่างกว้างขวาง ซึ่ง ซอ มิน ตุน ระบุว่า พยายามเจรจากับรัฐบาล NLD เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนในเรื่องนี้ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้น โดยเขาระบุว่า กองทัพมีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการโกงเลือกตั้ง แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ แก่ CNN
- เขายืนยันว่า “การทุจริตการลงคะแนนที่พบในการเลือกตั้งคือ 10.4 ล้านเสียง ส่วนจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศคือประมาณ 39.5 ล้านคน และการโกงการลงคะแนนคิดเป็น 1 ใน 4 ของคะแนนเสียง” อย่างไรก็ตามคณะกรรมการเลือกตั้งปฏิเสธว่าไม่มีการโกงเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง และผู้สังเกตการณ์อิสระที่ตรวจสอบการเลือกตั้งระบุว่าไม่มีปัญหาการทุจริตที่มากพอจะพลิกผลการเลือกตั้ง ซึ่งพรรค NLD ของซูจีชนะไปด้วยคะแนนเสียงกว่า 83%
- บทสัมภาษณ์ยังชี้ถึงสถานการณ์นองเลือดจากการใช้กำลังและอาวุธปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงของทหารและตำรวจ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 600 คน และถูกจับกุมกว่า 3,000 คน โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ทางการเมียนมาเพิ่มการใช้อาวุธหนัก ทั้งเครื่องยิงจรวด ระเบิดมือ ปืนกล และสไนเปอร์ ในการสังหารผู้ประท้วงจำนวนมาก
- ซอ มิน ตุน ยังกล่าวหากลุ่มผู้ประท้วงว่าเป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และกองกำลังความมั่นคงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม เพราะผู้ประท้วงปิดกั้นไม่ให้ข้าราชการพลเรือนไปทำงาน แต่รายงาน CNN ชี้แจงประเด็นนี้ว่า ในความเป็นจริงกลุ่มข้าราชการพลเรือนหลายพันคน ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน พนักงานบริษัท แพทย์ พนักงานธนาคาร ทนายความ ครู วิศวกร และพนักงานโรงงาน ต่างออกจากงานเพื่อร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
- ซอ มิน ตุน ยังอ้างว่าฝ่ายผู้ประท้วงขว้างปาก้อนหินและยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ก่อน อีกทั้งยังใช้ถุงทรายปิดกั้นประชาชน และใช้อาวุธทั้งปืนที่ประดิษฐ์เองและระเบิดเพลิง ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องใช้อาวุธปราบปรามการก่อจลาจล
- ผู้สื่อข่าว CNN ยังสอบถามว่า กองทัพเอาจริงหรือที่จะเปรียบเทียบการใช้หนังสติ๊กกับปืนไรเฟิล แต่ ซอ มิน ตุน ตอบกลับว่า เจ้าหน้าที่ใช้กำลังอย่างน้อยที่สุด “มีคนเสียชีวิตเมื่อพวกเขาสลายการก่อจลาจล แต่เราไม่ได้ยิงไปทั่วโดยไม่มีระเบียบวินัย” เขากล่าว ขณะที่ CNN ชี้ว่า กองทัพให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตในช่วงที่ให้สัมภาษณ์ราว 248 คน ซึ่งน้อยกว่ารายงานจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนกว่าครึ่งหนึ่ง อีกทั้งแผลกระสุนปืนที่พบที่ศีรษะและคอของผู้เสียชีวิต เป็นข้อบ่งชี้ว่าทหารและตำรวจนั้นตั้งใจยิงเพื่อสังหาร
- ส่วนประเด็นการสังหารเด็กนั้น โฆษกกองทัพเมียนมาตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีเด็กวัยรุ่น 3 คน อายุ 17, 13 และ 14 ปี ซึ่งเสียชีวิตด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคง โดยเขาอ้างว่าเป็นเพราะฝ่ายผู้ประท้วงที่เอาเด็กมาอยู่ในแนวหน้า
“ในบางแห่งพวกเขายั่วยุให้เด็กๆ เข้าร่วมในการก่อจลาจลด้วยความรุนแรง เพราะเหตุนั้นพวกเขาจึงอาจถูกโจมตีเมื่อกองกำลังความมั่นคงเข้าปราบปรามฝูงชน ไม่มีเหตุผลที่เราจะยิงเด็ก นี่เป็นเพียงผู้ก่อการร้ายที่พยายามทำให้เราดูแย่”
- ส่วนกรณีที่เด็กบางคนถูกเจ้าหน้าที่ยิงเข้าไปภายในบ้านจนเสียชีวิตและปรากฏคลิปวิดีโอในโซเชียลมีเดีย ซอ มิน ตุน ปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะยิงเข้าไปในบ้าน และยืนยันว่าจะมีการสืบสวนหากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
- CNN เผยแพร่ข้อความจากพ่อของเด็กชาย ตู เมียต วิน วัย 13 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต เล่าว่า มีผู้ยิงปืนเข้ามาในบ้านที่เมืองชเวโบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งตัวเขาหลบได้ แต่ลูกชายถูกกระสุนที่หน้าอก โดยเหตุเกิดหลังจากที่เจ้าหน้าที่เปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วง และผู้ประท้วงหลายคนวิ่งหนี ซึ่งพ่อของ ตู เมียต วิน ช่วยซ่อนตัวผู้ประท้วงบางคนไว้ เพราะกลัวว่าพวกเขาจะถูกจับ
นอกจากนี้พ่อของ ตู เมียต วิน ยังเปิดเผยว่า เขาอุ้มร่างไร้วิญญาณของลูกชายขึ้นแท็กซี่ และจำเป็นต้องไปที่โรงพยาบาลทหาร แต่แพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ชันสูตรศพกลับบอกให้เขาเซ็นเอกสารที่ระบุว่าไม่มีกระสุนปืนในร่างลูกชาย
ซึ่งจากการยิงคำถามกดดันของผู้สื่อข่าว CNN ในกรณีการยิงสังหารเด็กที่อยู่ภายในบ้าน และการพยายามปกปิดสาเหตุการเสียชีวิตของกองทัพ ทำให้ ซอ มิน ตุน เรียกร้องให้ CNN แสดงหลักฐาน
“ถ้าหากเรื่องราวแบบนั้นเกิดขึ้น เราจะดำเนินการสืบสวน มันอาจจะมีบางคลิปวิดีโอที่น่าสงสัย แต่สำหรับกองทัพของเรา เราไม่มีเจตนาใดในการยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์” เขากล่าว ซึ่ง CNN ชี้ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่ากองทัพได้เริ่มดำเนินการสืบสวนภายในสำหรับกรณีเหล่านี้แล้วหรือไม่
- อีกคำถามที่ผู้สื่อข่าว CNN กดดันหาคำตอบจาก ซอ มิน ตุน คือการที่ประชาชนอย่างน้อย 11 คนถูกจับกุม หลังพูดคุยกับทีมงานของ CNN ในระหว่างลงพื้นที่นครย่างกุ้ง และบางคนชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วต่อต้านกองทัพ ซึ่ง ซอ มิน ตุน ยืนยันว่ามีการจับกุมจริง โดย 3 คนถูกจับจากตลาดซึ่งเป็นจุดแรกที่ CNN ไปเยือน และอีก 8 คนถูกจับในจุดที่ 2 โดยโฆษกกองทัพชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่กังวลว่าพวกเขาอาจพยายามยั่วยุบุคคลอื่นและเริ่มการประท้วงภายในตลาด จึงจำเป็นต้องจับกุม ซึ่งกองทัพแสดงความเสียใจต่อการจับกุมที่เกิดขึ้น ขณะที่ CNN เผยอีกว่า ได้รับทราบข้อมูลว่าผู้ถูกจับกุมทั้ง 8 คนที่ได้รับการปล่อยตัว ตอนนี้กำลังหลบซ่อนอยู่ เนื่องจากกลัวว่าจะถูกจับอีกครั้ง
- เหตุรัฐประหารที่เกิดขึ้นส่งผลให้นานาชาติ ทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ต่างแสดงท่าทีตอบโต้ด้วยการประณามและคว่ำบาตรบรรดานายพลและธุรกิจของกองทัพ ซึ่ง ซอ มิน ตุน ตอบคำถาม CNN เกี่ยวกับท่าทีจากนานาชาติ โดยพยายามยืนยันคำมั่นของกองทัพว่าจะมีการจัดเลือกตั้งขึ้นในอนาคต แต่เตือนว่าระบอบประชาธิปไตยในเวอร์ชันของกองทัพเมียนมานั้นอาจไม่เหมือนกับระบบเสรีแบบตะวันตก
“ประเทศประชาธิปไตยที่เรากำลังสร้างนั้นเหมาะสมกับประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของเรา มาตรฐานของประชาธิปไตยในเมียนมาจะไม่เหมือนกับประเทศตะวันตก” เขากล่าว
ภาพ: Hkun Lat / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: