×

บทวิเคราะห์ CNN ชี้ วิกฤตพลังงานในเอเชียเป็นสัญญาณเตือนภัยทั่วโลก

โดย THE STANDARD TEAM
28.06.2022
  • LOADING...
วิกฤตพลังงานในเอเชีย

ภาพประชาชนในศรีลังกาต่อแถวยาวหลายกิโลเมตรเพื่อเติมน้ำมัน ร้านค้าในบังกลาเทศปิดให้บริการในเวลา 20.00 น. เพื่อประหยัดพลังงาน ขณะที่ในอินเดียและปากีสถานไฟฟ้าดับทำให้โรงเรียนต้องหยุดเรียน ธุรกิจปิดทำการ และประชาชนต้องอยู่ในที่พักอาศัยในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ ท่ามกลางอุณหภูมิที่พุ่งสูงทะลุ 100 องศาฟาเรนไฮต์ (37 องศาเซลเซียส)

 

นี่เป็นเพียงภาพบางส่วนที่เราพบเห็นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ซึ่งหลายประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี ผลักดันให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น และจุดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

 

บทวิเคราะห์โดย ทารา สุปราเมเนียม (Tara Subramaniam) ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ CNN ระบุว่า ในศรีลังกาและปากีสถาน ภาพของวิกฤตนั้นชัดเจน ความไม่พอใจของประชาชนกดดันให้รัฐมนตรีศรีลังกาทยอยลาออก และมีส่วนทำให้ อิมราน ข่าน กระเด็นตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ทั้งสองประเทศถูกบีบให้ใช้มาตรการที่สิ้นหวัง จำใจต้องหันไปพึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และลดวันทำงานในสัปดาห์ด้วยความหวังว่าจะช่วยประเทศประหยัดพลังงาน โดยเมื่อวันพุธที่แล้ว (22 มิถุนายน) นายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา ยอมรับว่าเศรษฐกิจประเทศ ‘พังทลายลงแล้วอย่างสิ้นเชิง’

 

สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แม้ภาพของปัญหายังไม่รุนแรงเท่า แต่ถึงกระนั้นก็เริ่มปรากฏเค้าลางให้เห็นแล้ว แม้กระทั่งประเทศที่ร่ำรวยกว่าอย่าง ออสเตรเลีย ประชาชนเริ่มรู้สึกได้ถึงภาวะข้าวยากหมากแพง อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

ราคาขายส่งไฟฟ้าในไตรมาสแรกของปี 2022 พุ่งทะยานขึ้น 141% จากปีที่แล้ว มีการเรียกร้องให้ภาคครัวเรือนลดการใช้ไฟฟ้า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจระงับการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดสปอต (Spot) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเป็นความพยายามเพื่อทำให้ราคาพลังงานปรับตัวลง บรรเทาแรงกดดันต่ออุปทานพลังงาน และป้องกันไม่ให้เกิดไฟดับซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน

 

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย ซึ่งประสบกับความต้องการพลังงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วิกฤตนี้เป็นวิกฤตระดับโลก ไม่ใช่แค่วิกฤตภายในภูมิภาค

 

โดยหลังจากที่ประสบปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ประกาศเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมว่า บริษัท Coal India ของรัฐบาล จะนำเข้าถ่านหินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2015

  • ปัญหาเกิดจากอะไร?

แม้แต่ละประเทศจะเผชิญกับสถานการณ์เฉพาะที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ ทุกประเทศล้วนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดและสงครามของรัสเซียในยูเครน ซึ่งเป็นสองเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และทำให้เศรษฐกิจโลกต้องตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่ความไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โควิดทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดต่ำลงอย่างผิดปกติ โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกลดลงมากกว่า 3% ในไตรมาสแรกของปี 2020 เนื่องจากการล็อกดาวน์และข้อจำกัดอื่นๆ ทำให้ประชาชนออกไปทำงานไม่ได้ ไม่มีรถวิ่งบนท้องถนน และเรือขนส่งสินค้าต้องงดออกจากท่า

 

แต่ตอนนี้ ในขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้แล้วในระดับหนึ่ง ความต้องการเชื้อเพลิงก็กลับมาพุ่งสูงขึ้น และการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ผลักดันให้ราคาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เมื่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เข้ามาซ้ำเติมทำราคาพลังงานให้พุ่งทะยานขึ้นไปอีก เนื่องจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย หลายประเทศจึงได้รับผลกระทบ ต้องดิ้นรนหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาทดแทน ส่งผลให้การแข่งขันด้านอุปทานที่มีจำกัดอยู่แล้วยิ่งดุเดือดมากขึ้นอีก

 

ซาแมนธา กรอส ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศของสถาบันบรูกกิ้งส์ กล่าวว่า “อุปสงค์พลังงานฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการระบาด และเร็วกว่าอุปทาน

 

“เราเห็นราคาสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนแล้ว มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับการจัดหาพลังงานทั่วโลก”

  • ทำไมเอเชียจึงเดือดร้อนหนัก?

ราคานำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก โดยราคาถ่านหินสูงกว่าปีที่แล้วถึง 5 เท่า และราคาก๊าซธรรมชาติสูงกว่าปีที่แล้วถึง 10 เท่า ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่านั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจเอเชียบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาและพึ่งพาการนำเข้าจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

“หากคุณเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างศรีลังกาที่ต้องซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านั้น ต้องซื้อน้ำมัน ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติ เรื่องนี้นับเป็นปัญหาที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างแท้จริง” มาร์ก ซานดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics กล่าว “คุณจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสิ่งที่คุณต้องการ แต่สิ่งที่คุณขายกลับไม่ได้ราคา นั่นเท่ากับว่าคุณต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสิ่งเดียวกันเพื่อให้เศรษฐกิจของคุณดำเนินต่อไปได้”

 

อองตวน ฮาล์ฟ นักวิจัยอาวุโสสมทบจากศูนย์นโยบายพลังงานโลกของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า ประเทศยากจนซึ่งยังคงกำลังพัฒนา หรือเพิ่งพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่นั้น แทบจะไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่มีเงินตุนอยู่ในกระเป๋า และยิ่งจำเป็นต้องนำเข้ามากเท่าไร ปัญหาก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

 

“ดังนั้น ปากีสถานจึงเข้าข่ายเหตุผลข้อนี้ ผมคิดว่าศรีลังกาก็เข้าข่ายเช่นกัน” เขากล่าว “ทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น แถมยังเจอปัญหาอุปทานสินค้า พวกเขาต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อซื้อพลังงาน และในบางประเทศ เช่น ปากีสถาน ยังประสบปัญหาในการจัดหาแหล่งพลังงานด้วย”

  • สัญญาณเตือนประเทศอื่นทั่วโลก 

เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีกระทรวงการไฟฟ้าและพลังงานของศรีลังกา กล่าวว่า เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะไม่เหลือเชื้อเพลิงในประเทศ คำเตือนที่เยือกเย็นนั้นเกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนต่อแถวยาวถึง 3 กิโลเมตร เพื่อเติมน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันในกรุงโคลัมโบ และในหลายเมืองเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและประชาชน

 

ขณะที่งานการหยุดชะงัก เมื่อหน่วยงานรัฐบาล โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ปิดทำการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่รัฐได้รับคำสั่งให้หยุดงานในวันศุกร์เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมแนะนำให้ประชาชนปลูกพืชผักกินเอง

 

ปากีสถานซึ่งมีประชากร 220 ล้านคน ก็ประกาศลดวันทำงานเช่นกัน ในขณะที่ประเทศประสบภาวะไฟฟ้าดับเป็นเวลานานหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเมืองการาจี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของปากีสถาน ได้รับคำสั่งให้ปิดก่อนเวลาเพื่อประหยัดพลังงาน

 

อุปทานพลังงานของประเทศต่ำกว่าอุปสงค์เกือบ 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถผลิตไฟฟ้าป้อนครัวเรือนได้ 2-5 ล้านหลังคาเรือน ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศของปากีสถาน มาร์รียัม อาวรังเซบ ยอมรับเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ว่า ‘เรากำลังเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรง’

 

สำหรับใครที่มองว่า มีแต่ประเทศยากจนและด้อยพัฒนาเพียงเท่านี้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ บอกได้เลยว่าคิดผิด ดังเห็นได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

 

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลก แต่กลับต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังเกิดปัญหาซัพพลายถ่านหินหยุดชะงัก ส่งผลให้โรงไฟฟ้าหลายแห่งขาดเชื้อเพลิงสำหรับผลิต โดยปริมาณไฟฟ้า 3 ใน 4 ของออสเตรเลียได้มาจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นหลัก

 

ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ออสเตรเลียเจอผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักของการจัดหาถ่านหิน โดยมีรายงานไฟฟ้าดับที่โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลายแห่ง สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นเนื่องมาจากโรงไฟฟ้าบางแห่งหยุดดำเนินงานชั่วคราว เพราะต้องเข้ารับการซ่อมบำรุงตามกำหนด แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปทานที่ตึงตัวและราคาถ่านหินที่พุ่งสูง ทำให้การผลิตหยุดชะงัก โรงไฟฟ้าไม่สามารถผลิตพลังงานได้ตามเป้าหมาย

 

และไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าออสเตรเลียต้องขอให้ประชาชนลดการใช้พลังงานเช่นเดียวกับประเทศอย่างปากีสถานและบังกลาเทศ โดย คริส โบเวน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของออสเตรเลีย ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนในรัฐนิวเซาท์เวลส์ช่วยกันประหยัดพลังงานด้วยการปิดไฟวันละ 2 ชั่วโมง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนพลังงาน โดยรัฐนิวเซาท์เวลส์มีประชากรราว 8 ล้านคน และเป็นที่ตั้งของเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างซิดนีย์

  • ปัญหาใหญ่กว่ารออยู่ 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังหวั่นเกรงคือ มาตรการรับมือวิกฤตพลังงานของประเทศเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าราคาสินค้าแพง 

 

ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชน รัฐบาลและนักการเมืองอาจถูกกดดันให้หวนกลับไปใช้ ‘พลังงานสกปรก’ ที่มีราคาถูกกว่า เช่น ถ่านหิน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

และมีสัญญาณว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลอาจเกิดขึ้นแล้ว

 

ในประเทศออสเตรเลีย คณะกรรมการความมั่นคงด้านพลังงานของรัฐบาลกลางได้เสนอให้ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพื่อรักษากำลังการผลิตในโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ เพื่อป้องกันไฟฟ้าดับ และรัฐบาลนิวเซาธ์เวลส์ยังได้ใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อเปลี่ยนเส้นทางถ่านหินจากเหมืองในรัฐไปยังผู้ผลิตไฟฟ้าในท้องถิ่น แทนที่จะส่งออกไปต่างประเทศ

 

ทั้งสองมาตรการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักเคลื่อนไหวที่กล่าวหาว่า รัฐบาลทรยศต่อพันธสัญญาของตัวเองในด้านพลังงานหมุนเวียน

 

ขณะที่ในอินเดีย ประเทศที่มีประชากร 1.3 พันล้านคน และใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าถึงราว 70% ของการผลิตทั้งหมดของประเทศ การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะเพิ่มการนำเข้าถ่านหินมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก

 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การทำเหมืองถ่านหินลดลงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อขจัดผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน แต่เรื่องนี้จะเป็นไปได้ยาก หากไม่รับการสนับสนุนจากประเทศที่ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

“ประเทศใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เยอรมนี หรือสหรัฐอเมริกา หากเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นอีก 2 เท่า จะทำให้กระทบกับงบประมาณคาร์บอน นั่นคือปัญหาระดับโลก” แซนดีป ปาย หัวหน้าฝ่ายวิจัยอาวุโสของโครงการพลังงานแห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และวิเทศศึกษา (CSIS) กล่าว

 

แม้การตัดสินใจของอินเดียอาจเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองชั่วคราวต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หากในระยะเวลา 1-2 ปีที่ประเทศต่างๆ ยังคงพึ่งพาถ่านหินต่อไปก็จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความพยายามของนานาประเทศในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

 

“หากเป็นเช่นนี้ มันจะกินงบประมาณคาร์บอนซึ่งปัจจุบันก็หดตัวลงอยู่แล้วในอินเดีย และเป้าหมายในการรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ” ปายกล่าว 

 

หากอุณหภูมิสูงขึ้นเกินจากที่กำหนดเป้าหมายไว้แม้เพียงชั่วคราว นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับโลกโดยที่ไม่สามารถย้อนกลับไปสู่สภาพปกติได้อีก 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X