×

จับตาจีนกับการประชุม 2 สภา: เดินหน้าเศรษฐกิจ ต่ออายุสีจิ้นผิง และกระจายความเจริญ

02.03.2022
  • LOADING...
Xi Jinping

ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2022 ต่อเนื่องไปตลอดทั้งสัปดาห์ จะเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะการประชุมที่สำคัญที่สุด 2 การประชุมจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน นั่นคือการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (中国人民政治协商会议 / Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) และการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) ดังนั้นคนจีนจึงนิยมเรียกการประชุมคู่ขนานทั้ง 2 ครั้งนี้ว่า 两会 (Liang Hui) ซึ่งแปลว่าการประชุม 2 วาระ

 

โดยการประชุม CPPCC หรือประชุมสภาที่ปรึกษาฯ เกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม โดยตัวแทนจำนวนกว่า 2,200 คนจากทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการ เอกชน กลุ่มชาติพันธุ์ ตัวแทนคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงตัวแทนจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เขตปกครองตนเองทิเบต เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เขตบริหารพิเศษมาเก๊า และไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนภายใต้หลักการจีนเดียว จะมาร่วมประชุมพร้อมกันที่ศาลามหาประชาชน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน

 

แม้ว่าผลการประชุม CPPCC จะไม่ได้มีผลในทางกฎหมาย หากแต่จะเป็นการรวบรวมเอาความคิดเห็นใน 10 ด้านของประชาชนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์นำไปพิจารณาในการดำเนินนโยบายต่อไปในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ คือการเข้าสู่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 ระหว่างปี 2022-2026 โดยทำงานทั้ง 10 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ, การเกษตรและการพัฒนาชนบท, ประชากร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การศึกษา วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และกีฬา, สังคมและกฎหมาย, กลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา, วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์, กิจการฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และจีนโพ้นทะเล, การต่างประเทศ และการเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค และแน่นอนว่าวาระสำคัญที่สุดในปีนี้ที่ทั่วโลกจับตามองคือ การแสดงฉันทามติของประชาชนจีนในการแสดงความต้องการให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปเป็นวาระที่ 3 

 

ในขณะที่การประชุมที่ทั่วทั้งโลกจับตามองมากกว่า คือการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งถือเป็นกลไกหลักของกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศจีน โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 2,980 คน (2,098 คนมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ 856 คนมาจากภาคส่วนอื่นๆ และมีตำแหน่งว่าง 26 ตำแหน่ง) จะมาประชุมกันปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของตัวแทนจำนวน 175 คนที่เป็น Standing Committee ที่เลือกมาจาก 2,954 คนข้างต้น ซึ่งการประชุมนี้จะใช้เวลาต่อเนื่องหลายวัน 

 

โดยสิ่งที่ทุกคนจับตามองจากการประชุม 2 วาระ คือ 

  1. การรายงานตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในปี 2021 ที่ผ่านมา ร่วมกับการกำหนดเป้าหมายในปี 2022 และแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น 
  2. การแสดงเจตจำนงและแนวทางการดำเนินนโยบายของจีนต่อเรื่องที่ทุกภาคส่วนของจีนห่วงกังวล ทั้งเรื่องภายในประเทศและเรื่องภายนอกประเทศ 

 

สำหรับมิติการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจ ข้อนี้ไม่น่าห่วงกังวล เพราะแม้จีนจะยังคงดำเนินนโยบายการติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ ทำให้เศรษฐกิจบางภาคส่วนยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ โดยเฉพาะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ปี 2021 ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของจีน ยังคงขยายตัวได้ถึง 8.1% โดยเชื่อว่าในปี 2022 จะมีการตั้งเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.0-5.5% ในขณะที่อัตราการว่างงานของจีนก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเพดานสูงสุดที่ตั้งเอาไว้ที่ระดับ 5.5% โดยในการสำรวจกำลังแรงงานเดือนธันวาคม 2021 อัตราการว่างงานของจีนอยู่ที่ 5.1% ของกำลังแรงงาน แต่มีข้อห่วงกังวลอยู่ที่แม้ในภาพรวมการว่างงานจะต่ำกว่าเพดาน แต่หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มกลับพบว่า คนจีนช่วงอายุ 16-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงมากที่ระดับ 14.3% โดยกำลังแรงงานในช่วงวัยนี้รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ของจีนที่คาดว่าในปี 2022 จะมีบัณฑิตจบใหม่ถึง 10.76 ล้านคน และอีกส่วนหนึ่งคือกำลังแรงงานกว่า 200 ล้านคน ทำงานในรูปแบบของ Flexible Job (อาทิ ไรเดอร์ส่งอาหาร) ซึ่งไม่มีความมั่นคง และไม่มีสวัสดิการที่ดี ดังนั้นการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานยังคงมีความจำเป็น โดยจีนจะมีโครงการกำหนดวงเงินกู้ของภาครัฐเพิ่มเติมอีกในราว 1.5 ล้านล้านหยวน

 

โดยก่อนที่จะมีการประชุม 2 วาระ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้บ่งชี้เป็นนัยๆ แล้วว่า เรื่องห่วงกังวลที่ต้องพิจารณาร่วมกัน คือภาวะกดดันใน 3 เท่าตัว หรือ 3 มิติที่ประดังประเดเข้ามาพร้อมกัน (3-Fold Pressure) นั่นคือ 

  1. กำลังซื้อทั้งภายในและภายนอกประเทศที่หดตัว 
  2. ห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกที่กำลังถูกคุกคาม 
  3. ความมุ่งมาดปรารถนาและความหวังของประชาชนที่ลดลง 

 

โดยทั้ง 3 แรงกดดันมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกประเทศที่จีนต้องจับตาดูและเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ 

  1. การใช้นโยบายการเงินที่หดตัวของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 
  2. การปิดล้อมมิให้จีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของโลกตะวันตก 
  3. ความตึงเครียดในมิติภูมิรัฐศาสตร์ที่มหาอำนาจต้องการปิดล้อมการขยายตัวของจีน 
  4. ภาวะเงินเฟ้อสูงและต่อเนื่องทั่วโลก  

 

และอีกประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองอย่างแน่นอน คือบทบาทของจีนในเวทีโลก โดยเฉพาะการขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีนจะส่งผลอย่างไรต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจและการปิดล้อมจีนภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา, สงครามการค้าและการเข้าสู่ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ๆ ของจีน โดยเฉพาะ CPTPP, การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างสังคมมั่งคั่งถ้วนหน้า (Common Prosperity) ร่วมกับแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG 2030) และการมุ่งสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) และท้ายที่สุด คือกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ทะเลจีนตอนใต้และกรณีไต้หวัน และหลักการจีนเดียว

 

เพื่อสรุปปิดท้ายบทความนี้ คำสำคัญ หรือ Keywords ซึ่งเราน่าจะได้ยินได้ฟังจากถ้อยแถลงของการประชุม 2 สภา ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อแนวทางในการเดินหน้าประเทศจีนต่อไปในปี 2022-2023 น่าจะได้แก่

 

  • Common Prosperity 共同富裕 Gòngtóng fùyù ความเจริญรุ่งเรือง/มั่งคั่งร่วมกัน

 

  • Rural Revitalization 乡村振兴 Xiāngcūn zhènxīng การฟื้นฟูพลังชีวิตให้ชนบท 

 

  • Efficient Investment การลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูง

 

  • New Infrastructure การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยเฉพาะในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

 

  • Green Development 绿色发展 Lǜsè fāzhǎn การพัฒนาสีเขียว ที่จะเป็นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง (High Quality Development) เพื่อมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร่งให้จุดสูงสุดของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาถึงให้เร็วที่สุด (Carbon Emission Peak) เพราะยิ่งมาถึงเร็ว นั่นแปลว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดจะมีปริมาณต่ำกว่าเพื่อเปรียบเทียบกับเมื่อทอดเวลาออกไปแล้วกิจกรรมทาเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเชื่อว่า ถึงแม้จีนจะยังไม่กำหนดเป้าหมายในการประชุม UNFCCC COP26 ว่าจีนจะเป็น Net Zero ในปี 2050 แต่พวกเขาเชื่อว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายได้ก่อนปี 2050

 

  • Innovation 革新 Géxīn นวัตกรรม

 

  • นโยบายส่งเสริมให้คนจีนทำงานที่บ้านเกิดของตนเอง (Work Just In My Hometown) เพื่อลดปัญหาคนว่างงานที่เป็นคนจากต่างเมืองต่างมณฑลที่เข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ ซึ่งจะเป็นงานสำคัญต่อไปภายใต้นโยบาย Common Prosperity   

 

  • นโยบายการจ้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่กว่า 10 ล้านคนที่จะจบการศึกษาในปี 2022 

 

  • นโยบายการสร้างสมดุลและเสถียรภาพระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม 

 

  • นโยบายการสร้างอุตสาหกรรมที่มีอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น (Local Signature Industries in Different Countryside Areas) เพื่อให้การทำงานในบ้านเกิดของตนเองมีความภาคภูมิใจและมีโอกาสเกิดขึ้น  

 

  • A Crucial Year คำนี้มักจะถูกใช้เรียกปีที่ 2 ในการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ 5 ปี โดยปัจจุบันจีนใช้แผนพัฒนาฯ 5 ปี แผนที่ 14 ซึ่งเริ่มในปี 2021 ดังนั้น 2022 จะเป็นปีที่มีความสำคัญ เพราะเป้าหมายประเภทที่ทำได้ง่ายๆ ก็ทำบรรลุไปแล้วในปี 2021 ดังนั้นปี 2022 จึงเป็นปีที่ต้องเริ่มต้นทำงานยากๆ เป็นปีแรก 

 

  • และคำสำคัญคำสุดท้าย คือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีนในการสร้าง ‘ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งมวลมนุษย์ชาติ’ Community with a Shared Future for Humankind 人类命运共同体 Rénlèi mìngyùn gòngtóngtǐ

 

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องจับตาดูจากการประชุม 2 วาระของจีนที่กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

ภาพ: Etienne Oliveau / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X