×

ส่องบทเรียนจากจีน และ EU กับสถานการณ์ ‘หมูแพง-หมูถูก’ และการรับมือโรค ‘อหิวาต์แอฟริกาในหมู’

12.01.2022
  • LOADING...
ASF

‘หมูแพง’ วลีที่กำลังเพิ่มภาระในกระเป๋าสตางค์ของประชาชนในขณะนี้ มาพร้อมกับคำยืนยันล่าสุดของกรมปศุสัตว์ว่าพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever: ASF) ใน 1 ตัวอย่างหมูของประเทศไทย

 

แต่ภาวะราคาเนื้อหมูแพงหรือถูก รวมถึงโรค ASF นั้นเคยปรากฏในที่อื่นของโลกมาแล้ว THE STANDARD รวบรวมข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศผู้บริโภคหมูอันดับ 1 ของโลกอย่าง ‘จีน’ ซึ่งเคยเจอกับปรากฏการณ์ ‘หมูแพง’ เพราะโรค ASF มาก่อนในอดีต ตลอดจนผู้ส่งออกหมูอันดับ 1 ของโลกอย่าง ‘สหภาพยุโรป’ (EU) ที่ตอนนี้สถานการณ์โรค ASF บวกกับผลกระทบของโควิดและการฟื้นตัวด้านการผลิตหมูของจีน ทำให้มีเสียงสะท้อนว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมหมูใน EU นั้นอยู่ใน ‘ภาวะวิกฤต’

 

นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งที่เรารวบรวมมาว่าทั้งสองที่เผชิญกับอะไร และเราอาจจะเรียนรู้บทเรียนใดได้บ้าง

 

จีน 

สำหรับสถานการณ์ราคาเนื้อหมูในจีน กราฟราคาจาก The Financial Times (FT) แสดงราคาขายส่งเนื้อหมูในจีนช่วงที่ผ่านมาว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 ราคาเนื้อหมูเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 20 หยวนต่อกิโลกรัม แต่หลังจากเริ่มพบการระบาดของโรค ASF ในจีนได้ครบ 1 ปี (ราวเดือนสิงหาคม 2019) ราคาเนื้อหมูก็เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับสถานการณ์ที่ฟาร์มขนาดเล็กจำนวนมากที่เป็นผู้ผลิตหมูส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีหมูเหลือสำหรับเชือด หลังจากโรค ASF ทำให้การเลี้ยงลูกหมูนั้น ‘เสี่ยงเกินไป’

 

ราคาขายส่งที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปแตะระดับสูงสุดที่เกิน 50 หยวนต่อกิโลกรัม ช่วงปลายปี 2019 จากนั้นราคายังคงขึ้นๆ ลงๆ ในระดับที่สูงอยู่ จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2021 จึงตกลงมาอย่างหนักจนใกล้เคียงกับระดับเมื่อต้นปี 2019 อีกครั้งในช่วงกลางปี และข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนล่าสุดบอกว่า ราคาขายส่งหมูกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา

 

ย้อนกลับไปเมื่อกันยายนและพฤศจิกายน 2019 ในช่วงราคาเนื้อหมูพุ่งสูง สื่อของทางการจีนยอมรับว่าสาเหตุที่ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นมาจากการระบาดของโรค ASF และปัจจัยอื่นซึ่งเป็นวัฏจักร แต่อีกด้านหนึ่งก็บอกว่า “ทางการจีนได้ดำเนินนโยบายและมาตรการทางการเงินจำนวนมากเพื่อส่งเสริมการผลิตและทำให้ราคาเนื้อหมูมีเสถียรภาพ” มาตรการดังกล่าวมีอาทิ การยกระดับนโยบายการคลัง การสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหมู การป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ การใช้ที่ดิน และการขนส่งหมูอย่างถูกกฎหมาย และมีการรายงานว่าจีนได้เพิ่มการนำเข้าและปล่อยเนื้อหมูแช่แข็งจากแหล่งสำรองส่วนกลาง รวมถึงสนับสนุนการเลี้ยงหมูในระดับใหญ่ ส่วนสื่อฮ่องกงอย่าง South China Morning Post (SCMP) ก็มีรายงานมาตรการอื่นที่ทางการจีนทำ เช่น การออกคูปองส่วนลดในการซื้อหมูเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในหลายเมือง หรือการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเปิดฟาร์มใหม่

 

‘หมูแพง’ มีผลอย่างไรในจีน? คำตอบที่ SCMP ระบุไว้เมื่อปี 2019 ก็คือ ราคาเนื้อหมูที่แพงดังกล่าวนำมาซึ่งความไม่พอใจของผู้บริโภค โดย หยวน กังหมิง นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหัวชี้ว่า แม้ชนชั้นกลางและผู้มั่งคั่งกว่านั้นในสังคมจีนจะสามารถรับมือกับราคาที่เพิ่มขึ้นได้ แต่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วน ศ.สตีฟ แซง ผู้อำนวยการสถาบัน SOAS China Institute มหาวิทยาลัยลอนดอน ก็บอกว่า แม้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกอื่นนอกจากเนื้อหมู แต่ปัญหาการขาดแคลนหมูก็ส่งผลถึงภาพลักษณ์ด้านความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ SCMP ยังชี้ว่า ราคาเนื้อหมูที่พุ่งสูงขึ้นนั้นผลักดันราคาของเนื้อสัตว์ทางเลือกอื่น เช่น ไก่และเนื้อวัวด้วย

 

ปลายปี 2020 ดูเหมือนสถานการณ์ขาดแคลนหมูจะดีขึ้น มีรายงานข่าวถึงสถิติการเปิดดำเนินการฟาร์มหมู และการระบุของจีนถึงการฟื้นตัวในการผลิตหมูที่ถูกผลกระทบจากโรค ASF และโควิดมาก่อนหน้า นอกจากนั้นเรายังได้เห็นข่าวความพยายามของทางการจีนในการปราบปรามวัคซีนป้องกันโรค ASF ปลอมและผิดกฎหมาย (ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ASF ที่ได้รับอนุญาตใช้งานแต่อย่างใด) และต่อมาในเดือนเมษายน 2021 กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนออกแผนงานเพื่อปรับปรุงระบบป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ โดยจำกัดการเคลื่อนย้ายหมูไว้ภายในภูมิภาค และภายในภูมิภาคต่างๆ จะมีการสร้าง ‘เขตปลอดโรค ASF’ ทั้งนี้ เฉพาะหมูจากเขตปลอดโรค ASF, หมูที่คัดเก็บไว้ทำพันธุ์ และลูกหมูเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ย้ายออกนอกภูมิภาคได้

 

สำหรับราคาเนื้อหมูที่ตกในปี 2021 รายงานของ SCMP ชี้ว่ามาจากการหยุดชะงักของอุปสงค์เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ราคาหมูลดลงกว่าร้อยละ 70 และผลผลิตหมูที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีผู้เล่นรายเล็กและหน้าใหม่จำนวนมากที่เข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อหวังประโยชน์จากกำไรในสถานการณ์การขาดแคลนหมูจากโรค ASF สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ผลิตเนื้อหมูหลายรายต้องขาดทุน โดยมีคำแนะนำจากทางการให้กำจัดแม่หมูที่มีประสิทธิภาพต่ำและมีการปรับระบบสำรองเนื้อหมูด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหน้าใหม่หลายรายยังคงมีความหวังว่าจะผ่านวัฏจักรของความรุ่งเรืองและซบเซานี้ไปได้ จีนยังประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์หมูแช่แข็งบางรายการสำหรับกลุ่มชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nations: MFNs) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา จากที่เคยปรับลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปเมื่อปี 2020 ซึ่งการปรับเพิ่มนี้มีขึ้นหลังจากมีการขยายการผลิตในประเทศและลดความต้องการนำเข้าลง

 

อนึ่ง ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ตั้งแต่มีการยืนยันว่าพบการระบาดของโรค ASF ในหมูครั้งแรกที่มณฑลเหลียวหนิงของจีน ในปี 2018 จนถึงขณะนี้มีการระบาดไปแล้วใน 32 มณฑล, เขตปกครองตนเอง, เทศบาล หรือเขตปกครองพิเศษ ล่าสุดเมื่อ 20 ธันวาคม กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนก็ยังรายงานว่าพบโรค ASF ในหมูที่ถูกขนส่งอย่างผิดกฎหมายที่มณฑลเหอเป่ย และในขณะที่ทำการตรวจสอบพบว่ามีหมู 9 ใน 245 ตัวที่ตาย ขณะที่การประมาณการจำนวนหมูที่ตายจากโรค ASF หรือถูกกำจัดออกเพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งปรากฏในบทความวิชาการ บทวิเคราะห์ของบริษัทด้านการเงิน ตลอดจนในสื่อบางแห่ง (และไม่ใช่ตัวเลขทางการของจีน) นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละแหล่ง เราพบว่าส่วนใหญ่ประมาณการการสูญเสียหมูในช่วงตั้งแต่สิงหาคม 2018 ถึงเดือนใดเดือนหนึ่งในปี 2019 และระบุจำนวนหมูที่ถูกกระทบดังกล่าวไว้ตั้งแต่หลักสิบล้านตัวถึงหลายร้อยล้านตัว

 

สหภาพยุโรป

ที่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นแชมป์ผู้ส่งออกเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของโลก มีการเปิดเผยการคาดการณ์ระยะกลางสำหรับตลาดสินค้าทางการเกษตรระหว่างปี 2021-2031 ในเอกสารดังกล่าวระบุว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์เนื้อหมูในยุโรปขณะนี้อาจเรียกได้ว่าตรงข้ามกับไทย นั่นคือ ‘หมูราคาตก’ สะท้อนได้จากการประชุมสภาเกษตรกรรมและการประมงของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งสาธารณรัฐเช็กและประเทศสมาชิก EU อื่น 13 ประเทศ ได้เรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการยุโรปให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนทันทีและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำมาตรการสนับสนุนของ EU มาใช้เพื่อต่อสู้กับความผันผวนของตลาดและช่วยในภาคส่วนหมูของ EU ให้ ‘อยู่รอด’

 

เอกสารข้อมูลในการประชุมนี้บรรยายไว้ส่วนหนึ่งว่า อุตสาหกรรมเนื้อหมูในสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ASF และผลกระทบอันเกิดจากโควิด ซึ่งทำให้ทั้งอุปสงค์ของผู้บริโภคและความเป็นไปได้ในการส่งออกจาก EU นั้นลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นกดดันทั้งราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตอื่น เช่น อาหารสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

“สถานการณ์ในภาคส่วนหมูของ EU อยู่ในขั้นร้ายแรงมากมาหลายเดือนแล้ว ขณะที่การคาดการณ์อนาคตก็ไม่ได้เป็นไปในแง่บวกเช่นกัน หากเทียบกับปี 2017 แล้วราคาเนื้อหมูในปัจจุบันใน EU นั้นต่ำกว่าอยู่ราวร้อยละ 30 และอยู่ในระดับที่ต่ำมากซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งคุกคามการดำรงอยู่ของภาคส่วนหมูของ EU” เอกสารดังกล่าวระบุ “ภาคส่วนหมูใน EU อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก และ EU ต้องตอบสนองเดี๋ยวนี้”

 

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ระยะสั้นของ EU ประจำฤดูใบไม้ร่วง 2021 ที่ผ่านมาคาดว่า ภาคส่วนหมูของ EU จะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่อุปสงค์ในภาคบริการอาหารและอุปสงค์จากจีนลดลง ตลอดจนรับกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นโดยการลดการผลิตลง และสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะค่อยๆ หายไปภายในสิ้นปี 2021

 

หากมองย้อนกลับไปในปี 2015 ภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์นมและเนื้อหมู ภายใต้สถานการณ์ฉากหลัง อาทิ การที่รัสเซียแบนสินค้าเกษตรจาก EU อุปสงค์ที่อ่อนตัวลงในตลาดสำคัญ หรือปัญหาโรค ASF ก็เคยทำให้กลุ่มเกษตรกรจากเบลเยียม ฝรั่งเศส และเยอรมนี ออกมาประท้วงในกรุงบรัสเซลส์ จนกรรมาธิการยุโรปมีมติออกมาตรการช่วยเหลือมูลค่า 500 ล้านยูโร และยังคงมีการออกมาตรการเพิ่มในปีถัดมา ตัวอย่างมาตรการดังกล่าวที่เกี่ยวกับเนื้อหมู เช่น การให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกร การให้ความช่วยเหลือด้านการจัดเก็บเนื้อหมูเพื่อดึงเนื้อหมูบางส่วนออกจากตลาดชั่วคราว เป็นต้น ส่วนในปี 2019 ราคาหมูมีทิศทางตรงกันข้ามคืออยู่ในระดับที่สูง รายงานของ The Financial Times (FT) สื่อเศรษฐกิจชื่อดังเมื่อเดือนตุลาคม 2019 ชี้ว่า ความต้องการหมูจากประเทศจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากโรค ASF นั้นช่วยดันราคาขายส่งในห้วงเวลาเดียวกันกับที่เกษตรกรในยุโรปเองก็ระมัดระวังที่จะเพิ่มการผลิต เนื่องจากพบการระบาดของโรค ASF เพิ่มขึ้นในยุโรปตะวันออกเช่นกัน

 

อีกหนึ่งตัวอย่างของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน EU ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโรค ASF เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 โดยครั้งนั้นเงินกองทุนภายใต้นโยบายเกษตรร่วม (Common Agricultural Policy: CAP) ของ EU จำนวน 9.3 ล้านยูโร ได้ถูกนำมาช่วยเกษตรกรรายย่อยชาวโปแลนด์ที่มีหมูหรือลูกหมูไม่เกิน 50 ตัว, อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อโรค ASF และถูกสั่งให้หยุดการเลี้ยงหมูอันเนื่องมาจากการไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ของทางการในขณะนั้นได้ โดยเกษตรกรผู้ขอรับเงินช่วยเหลือจะได้รับเงิน 33 ยูโรต่อลูกหมู 1 ตัว และ 52 ยูโรต่อหมู 1 ตัว

 

ภาพ: Feature China / Barcroft Media via Getty Images / Barcroft Media via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X