×

เลือกตั้ง 2566 : เชตวัน จากนักข่าวสู่ผู้สมัครฯ ส.ส. ก้าวไกล เล็งทวงคืนสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ ให้อำนาจท้องถิ่นดูแล

โดย THE STANDARD TEAM
08.04.2023
  • LOADING...

THE STANDARD สัมภาษณ์ เชตวัน เตือประโคน ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เบอร์ 4 เขต 6 จังหวัดปทุมธานี (คูคต-ลำสามแก้ว-ลาดสวาย)

 

ก่อนมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ผ่านการทำงานอะไรมาก่อน

 

ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนมาสิบกว่าปี ต่อมาเมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้รับการติดต่อชวนให้ออกมาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วยกัน

 

อยู่พรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งพรรคถูกยุบ 

 

โดยวันแรกเข้าไปทำหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายการเมืองของพรรค 

 

พอหลังเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. เข้าสภาไป ผมเข้าไปเป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของอาจารย์ปิยบุตรด้วย 

 

พอพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ อาจารย์ปิยบุตรถูกตัดสิทธิ จึงเริ่มคิดว่าทำงานเบื้องหลังมาตลอด ถึงเวลาแล้วที่จะออกมาทำงานเบื้องหน้า จึงมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. เขตที่จังหวัดปทุมธานี โดยมีทะเบียนบ้านอยู่ที่นี่เกิน 5 ปี 

 

ตอนเป็นบรรณาธิการฝ่ายการเมือง พรรคอนาคตใหม่ มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง

 

พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นพร้อมความคาดหวังที่ค่อนข้างใหญ่มาก เราก็เลยจัดองค์กรกัน ทำให้มีฝ่ายที่รับผิดชอบหลายฝ่ายอยู่ในพรรคการเมืองเดียวให้จบในองค์กรเดียว ขณะที่บางพรรค ใครอยากมีฝ่ายสื่อก็จะไปจ้างทีมประจำตัว หรือฝ่ายกฎหมายประจำตัว แต่ด้วยความที่พรรคอนาคตใหม่คิดใหญ่ จึงสร้างฝ่ายต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบัญชี ฝ่ายระดมทุน ฝ่ายเครือข่าย ฝ่ายสื่อ ฝ่ายศึกษาอบรม ฝ่ายอะไรต่างๆ ทั้งหมดภายใต้องค์กรร่มธงพรรคอนาคตใหม่ 

 

ฝ่ายสื่อมีบรรณาธิการ 2 คน ทำงานภายใต้ร่มธงของกองโฆษก ผมเป็นบรรณาธิการฝ่ายการเมือง พี่เบียร์-มนทกานติ รังสิพราหมณกุล เป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ทำงานภายใต้ร่มธงของกองโฆษกตอนนั้นคือ พรรณิการ์ วานิช

 

ทุกเช้าจะมีการประชุมสรุปร่วมกันว่ามีข่าวอะไร มีประเด็นอะไร โดยมี ชัยธวัช ตุลาธน เป็นรองเลขาธิการอนาคตใหม่ในขณะนั้นมาคุยด้วย 

 

หลังจากนั้น มีการนำเสนอประเด็นไปให้ทั้งผู้บริหารและผู้สมัคร ส.ส. รวมถึงผลิตเนื้อหาลงเพจพรรคและส่งข่าวสื่อมวลชน ตอนนั้นทำงานใกล้ชิดชัยธวัชและปิยบุตร ซึ่งบางครั้งเข้ามาร่วมพูดคุยกันด้วย

 

ประสบการณ์ในรัฐสภา 

 

ตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของอาจารย์ปิยบุตร ซึ่งเป็นตำแหน่งในสภา รับเงินเดือนรัฐสภา 

 

ตอนเป็นผู้สื่อข่าว ติดตามเรื่องไหนเป็นพิเศษ 

 

โต๊ะข่าวที่ผมดูแลเป็นโต๊ะเฉพาะกิจ จึงทำเนื้อหาหลากหลาย หน้าที่ดูแลอยู่คือสกู๊ปข่าว ประชาชื่น 

 

ตอนเป็นนักข่าวประจำโต๊ะทำข่าวเฉพาะกิจทำข่าว เช่น ข่าวม็อบเสื้อแดง ม็อบเสื้อเหลือง ม็อบ กปปส. ซึ่งเป็นข่าวที่ไม่มีโต๊ะข่าวประจำ รวมถึงข่าวสัมมนา ข่าวความเห็นจากนักวิชาการ 

 

จากนักข่าวก็มาเป็นหัวหน้าข่าวประจำโต๊ะ มีหน้าที่คิดเองว่าอยากได้เรื่องอะไร 

 

ด้วยความที่ผมเองโตมาจากงานประเด็นสังคมต่างๆ ก็จะผ่านงานเสวนาวิชาการ เวทีวิชาการ ทำให้ได้ไปทำข่าวคณะนิติราษฎร์ ตอนปี 2554 ที่เสนอเรื่องแก้มาตรา 112 มีความเคลื่อนไหวของ ครก.112 เกิดขึ้นตอนนั้น 

 

ได้ทำข่าวเกาะติดนิติราษฎร์ ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ต้องบุกไปหาถึงบ้าน ต้องไปหาถึงตัว ทำให้ได้รู้จักอาจารย์ปิยบุตร ตั้งแต่ตอนนั้น ได้สนิทสนมและเป็นแหล่งข่าวคนหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งอาจารย์ตั้งพรรค ก็เลยชวนมาเพราะรู้จักกัน จึงออกมาทำงานด้วย 

 

รู้จักกับปิยบุตรมาก่อน ส่วนธนาธร รู้ว่าเขาเป็นใคร เป็นลูกมหาเศรษฐี เป็นนักกิจกรรมในธรรมศาสตร์ แต่ไม่เคยรู้จักกัน เคยเจอกันในสนามฟุตบอลในกิจกรรมระดมทุนช่วยคนเสื้อแดง ผมไปเตะฟุตบอลอยู่คนละทีมกับเขา ไม่ได้รู้จักส่วนตัว 

 

งานนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากหลังสลายการชุมนุมปี 2553 มีคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและล้มตาย จึงมีองค์กรต่างๆ จัดระดมทุนช่วยกัน ผมเป็นผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ผมก็สนับสนุนการนำเสนอข่าวอย่างเต็มที่ และไปร่วมเตะฟุตบอลงานระดมทุน แล้วเจอธนาธรครั้งแรก นอกจากนั้น ก็เจอธนาธรเป็นหนึ่งในวิทยากร ร่วมพูดในงานวันเกิด ลุงคำสิงห์ ศรีนอก ที่ไร่อำเภอปากช่อง ผมไปทำข่าว ส่วนคนจัดงานขณะนั้นคือ คุณวัฒน์ วรรลยางกูร

 

ผ่านมาอีกหลายปีจนกระทั่งมาเจอกันอีกครั้งตอนผมเข้ามาอนาคตใหม่ 

 

ความสัมพันธ์กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวตั้งแต่แรก แต่รู้ว่าเขาทำธุรกิจประสบความสำเร็จ และมารู้จักกันเป็นการส่วนตัวที่อนาคตใหม่ 

 

มองอย่างไรกรณีผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย มองกันในฐานะคู่แข่ง กระทั่งมีคำว่า ‘ติ่งส้ม-ติ่งแดง’ 

 

ไม่ว่าจะพรรคไหน การแข่งขันเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนก็มีการแข่งกันเต็มที่ แต่สุดท้าย ส.ส. ก็จับมือเป็นเพื่อนกันได้ เพราะแข่งกันจบอยู่แล้วในกติกา 

 

แต่สำหรับคำว่า ‘ติ่ง’ ผมไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะรู้สึกเหมือนเป็นคำเรียกที่มองประชาชนว่าคิดเองไม่ได้ สำหรับผมเองบางเรื่องผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับคนที่ถูกมองเป็น ‘ติ่งส้ม’ เช่นกัน เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับแทนการไปเถียง อย่างไรก็ตาม ชอบคำว่า ส้ม-แดง มากกว่าคำว่า ติ่งส้ม-ติ่งแดง 

 

ส่วนตัวมองว่าควรเรียกเขาว่าเป็นผู้สนับสนุนพรรค เป็นกองเชียร์พรรค แต่ก็บอกเขาว่า ถ้าผมทำอะไรผิดช่วยเตือนผมด้วย ไม่ใช่ไปเถียงหรือเชียร์สุดลิ่ม ทำให้ถูกมองเป็นติ่งที่เถียงโดยไม่ดูเหตุดูผล อย่างผมถ้ามีคนเตือนในข้อผิดพลาดก็รับฟัง และมองเป็นผู้สนับสนุนเรา คอยช่วยเรา ทั้งที่เขาไม่ใช่ทีมงานที่ได้ค่าตอบแทน บางคนก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครด้วย 

 

ทำไมลง ส.ส. เขต ไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ และตัดสินใจตอนไหน

 

จุดเปลี่ยนคือ ตอนมีการเสนอเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ในสภา ส.ส. พรรคก้าวไกล บางคนยังไม่กล้ายกมือ สุดท้าย ส.ส. ทั้งหมดนั้นก็กลายเป็นงูเห่าไปอยู่กับพรรคอื่นไปแล้ว แค่เสนอแก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก ไม่ใช่ล้มล้าง ทำไมไม่กล้าทำ 

 

ผมจึงเริ่มคิดหนักว่า ถ้าเป็นเรา เราอยากเข้าไปทำ ไม่เฉพาะเรื่องนี้ แต่มีหลายเรื่องที่ต้องอาศัยความกล้า อาศัยเจตจำนงที่จะเข้าไปทำ 

 

ทำไม ส.ส. กลุ่มที่ปัจจุบันไปพรรคอื่นแล้ว เขาไม่ทำ นี่เป็นจุดเปลี่ยน 

 

สำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต มีความตั้งใจจะไม่ลง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะอยากอยู่ท่ามกลางมวลชน ท่ามกลางประชาชน อยากลงพื้นที่ อยากมีพื้นที่เป็นของตัวเอง 

 

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าจะต้องมาลง ส.ส. ในเร็ววันแบบนี้ แต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเร็วไปหน่อย อยู่ได้แค่ปีกว่าๆ พอมาเป็นพรรคก้าวไกล เราก็เห็น บางเรื่องบางประเด็นที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจคือ ทำไมเรื่องแค่นี้ไม่กล้ายกมือในสภา ทำไมไม่ทำ

 

เป็นผู้เคยชูประเด็นแก้ปัญหาสะพานลอยหน้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ซึ่งได้รับความสนใจเพราะประชาชนที่ต้องใช้จุดนั้นมีจำนวนมาก และไม่ใช่เฉพาะคนในพื้นที่ 

 

ประเด็นเวิ้งท่ารถรังสิต จะมีปัญหามาก ทั้งสะพานลอยมีความชัน มีความวุ่นวาย เพราะเป็นจุดที่รถวิ่งเร็ว แต่ด้วยความที่สะพานลอยมีความชัน ทำให้คนไม่ค่อยอยากเดินข้ามสะพานลอย เป็นปัญหาโดยเฉพาะสำหรับคนสูงอายุ คนพิการ คนธรรมดาก็เดินแล้วปวดเข่า ฉะนั้น จะเห็นคนข้ามถนนเต็มไปหมด 

 

จะแก้อย่างไร ผมเคยเสนอว่าต้องถามพี่น้องประชาชน จะเอาสกายวอล์กเหมือนในเขตปทุมวันไหม ที่มีการเชื่อมถึงกันได้หมด เพื่อที่เดินแล้วจะได้ไม่หลงทางว่าจะไปจุดไหน ต้องลงตรงไหน ทั้งจุดลงท่ารถตู้, จุดลงฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, จุดลงเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, จุดลงตลาดรังสิต หรือจะเดินลอดใต้ดิน จุดประสงค์คือ ทำให้พื้นที่เปิด เดินไปจุดต่างๆ ได้สะดวก ไม่เฉพาะฝั่งห้างสรรพสินค้า 

 

แต่ตอนนั้นยังเป็นการแบ่งเขตแบบเดิม เขตที่ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะรวมพื้นที่ตรงนั้นด้วย ขณะที่ตอนนี้มีการแบ่งเขตแบบใหม่ทำให้เขตที่ผมสมัครไม่รวมจุดนั้นแล้ว ตอนนี้ผมจึงส่งต่อไอเดียให้ผู้สมัครพรรคเดียวกันที่ลงสมัครรับเลือกตั้งรวมพื้นที่จุดนั้น 

 

ปัญหาอีกประการคือ เวิ้งท่ารถรังสิตตรงนั้นเป็นความรับผิดชอบของแขวงทางหลวง ทำให้เทศบาลแทบจะทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นแขวงทางหลวง เป็นปัญหาเพราะเวลาคนไม่พอใจเขาจะตำหนิเทศบาล ตำหนินายกเทศมนตรีนครรังสิต ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขา เป็นความรับผิดชอบของทางหลวง

 

มองว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการกระจายอำนาจ ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค งานไหนที่ควรอยู่กับท้องถิ่นก็ให้อยู่กับท้องถิ่นไป งานไหนเป็นความรับผิดชอบส่วนกลาง ส่วนกลางก็ทำน้อยๆ แล้วคอยกำกับเป็นนโยบาย แต่ภารกิจสาธารณะในพื้นที่ควรเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และควรให้เขาได้งบประมาณมากขึ้นด้วย เพื่อให้มีความยึดโยงกับประชาชน ถ้าไม่จัดการให้ดี เลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนก็จะไม่เลือกเขา

 

จะเข้าไปทำอย่างไรตามอำนาจหน้าที่ ส.ส.

 

หน้าที่ ส.ส. ก็คือการออกกฎหมาย ก็ต้องไปผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นจริง เพราะ ส.ส. ไม่มีงบประมาณมาสร้างอะไร แปรญัตติก็ไม่ได้ ปัจจุบันผิดกฎหมายแล้ว 

 

ในเขตที่ลงสมัคร มีจุดสำคัญที่เตรียมเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

 

ในสนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) พื้นที่ตรงนี้มีพื้นที่ 700 กว่าไร่ เป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ถูกนำมาทำเป็น 3 ส่วนของกองทัพอากาศ 

 

ส่วนที่ 1 เป็นค่ายทหาร กรมต่อสู้อากาศยานทหารรักษาพระองค์ 

 

ส่วนที่ 2 ทำเป็นสนามกีฬากองทัพอากาศ มีสระว่ายน้ำ 

 

ส่วนที่ 3 เป็นจุดที่คิดว่าจะทำการผลักดันนโยบายเรื่องนี้คือ อีก 625 ไร่ที่ถูกนำมาทำเป็นสนามกอล์ฟ และมีปั๊มน้ำมันสวัสดิการกองทัพอากาศแทรกอยู่ 

 

พื้นที่ 625 ไร่นี้ ในปี 2528 เมื่อ 38 ปีที่แล้ว ถูกเปิดเป็นสนามกอล์ฟ แต่ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะเมืองขยาย รอบๆ สนามกอล์ฟกลายเป็นบ้านเรือน หมู่บ้านจัดสรรเต็มไปหมด 

 

แต่แทบจะไม่มีพื้นที่สีเขียวให้กับคนในพื้นที่นี้ พื้นที่สีเขียวละแวกนี้น้อยมากๆ จึงคิดว่า 625 ไร่ของสนามกอล์ฟกองทัพอากาศควรนำมาทำให้เป็นประโยชน์ ซึ่งตอบโจทย์หลายนโยบาย 

 

ปฏิรูปกองทัพซึ่งไม่ได้มีเพียงยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารหรือลดจำนวนนายพลและเพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ยังมีเรื่องยกเลิกธุรกิจของกองทัพด้วย

 

625 ไร่ที่เป็นสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ ปัจจุบันกองทัพอากาศไม่เคยไปทำสัญญาอะไรกับกรมธนารักษ์เลยว่า รายได้จากการให้คนเพียงไม่กี่คนมาตีกอล์ฟตรงนี้จะแบ่งเข้ากระทรวงการคลังเท่าไร ไม่เคยทำสัญญา 38 ปีผ่านไป 

 

ตอนมีกรณีทหารกราดยิงที่โคราช แล้ว พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ออกมาร้องห่มร้องไห้ แล้วบอกว่า ตรงไหนใช้ที่ราชพัสดุไปทำธุรกิจ รีบไปเคลียร์เรื่องนี้ ให้ไปทำสัญญากับกรมธนารักษ์ แล้วแบ่งรายได้เข้ากระทรวงการคลังเท่าไร ใช้ในสวัสดิการเท่าไร 

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นจนปัจจุบัน สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ยังไม่เคยไปทำสัญญากับกรมธนารักษ์ รายได้ที่ได้ยังใช้คำว่า เป็นสวัสดิการทหารอากาศ 

 

ผมคิดว่าถึงตอนนี้ไม่ต้องทำสัญญาแล้ว แต่ให้คืนให้ราชพัสดุ กระทรวงการคลัง แล้วกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งให้หน่วยงานอื่น คือเทศบาลเมืองคูคต มาขอใช้พื้นที่ตรงนี้จากราชพัสดุ มาทำเป็นสวนสาธารณะ ทำศูนย์เรียนรู้ ทำห้องสมุดที่มีอินเทอร์เน็ต หรือทำแหล่งสร้างรายได้ มีร้านค้าขาย หลังจากกระจายอำนาจแล้วท้องถิ่นมาบริหารจัดการได้ 

 

คนในพื้นที่เห็นพ้องต้องกันว่า 625 ไร่ตรงนี้ไม่ควรเป็นสนามกอล์ฟ ส่วนจะเป็นอะไร ในอนาคตค่อยคุยกันได้ เพราะบางคนเสนอว่าควรมีโรงพยาบาล 

 

สำหรับรูปธรรมที่ ส.ส. ทำได้คือ เสนอร่างกฎหมายจะให้นำสนามกอล์ฟนี้คืนกลับราชพัสดุ แล้วให้ท้องถิ่น เทศบาลเมืองคูคตมาใช้พื้นที่แทนกองทัพ 

 

นอกจากนั้น มีนโยบาย รถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด ตรงเวลา แก้ปัญหารถติด ลดการใช้รถส่วนตัว และน้ำประปาดื่มได้ 

 

สำหรับพื้นที่เขต 6 มีตำบลคูคตและตำบลลาดสวาย ซึ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลคูคต แบ่งเป็น 2 เทศบาล คือเทศบาลเมืองคูคต กับเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ตำบลลาดสวายจะคือเทศบาลตำบลลาดสวาย 

 

ผม เชตวัน ผู้สมัครเบอร์ 4 พรรคก้าวไกล จำง่ายๆ วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม กาเบอร์ 4 ครับ ส่วนการเลือกพรรคก้าวไกลเบอร์ 31 ดูที่โลโก้พรรคได้เลยครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X