×

เหตุเพลิงไหม้ตลาดสัตว์เลี้ยง จตุจักร นอกจาก 5,000 ชีวิตที่เสียไป สังคมไทยได้อะไรจากบทเรียนนี้

13.06.2024
  • LOADING...
ไฟหม้ ตลาดสัตว์เลี้ยง จตุจักร

จากเหตุเพลิงไหม้โซนขายสัตว์เลี้ยงที่ตลาดศรีสมรัตน์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ความสูญเสียกลายเป็นบทเรียนให้ ‘คน’ กลับมาทบทวนถึงรูปธรรม-นามธรรมของการจัดให้มีพื้นที่ขาย ‘สัตว์’ เพื่อนำไปเลี้ยง

 

แน่นอนว่าประเด็นความเหมาะสมของตลาดขายชีวิตสัตว์ถูกนำกลับมาตั้งเป็นคำถามอีกครั้งในสังคมว่า ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?

 

นับตั้งแต่เกิดเรื่องต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (13 มิถุนายน) กรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าบ้านต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อหาทางออก และคำตอบว่าตลาดสัตว์เลี้ยงที่ยังมีอยู่ ทั้งที่ ตลาดมีนบุรี และตลาดธนบุรี (สนามหลวง2) จะมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

 

สรุปสิ่งที่ กทม. จะทำ ณ ตอนนี้คือ

 

  1. ติดตามขึ้นทะเบียนสถานประกอบการ ทั้ง ฟาร์ม/ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง, คาเฟ่สัตว์เลี้ยง, ร้านอาบน้ำ-ตัดขน และโรงแรมสัตว์เลี้ยง ให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2561 ให้ครบ 50 เขต
  2. สำนักงานเขตและกรมปศุสัตว์ ร่วมตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม-อนามัย-สวัสดิภาพตามสถานประกอบการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

 

ย้อนกลับมาดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เราจะพบว่านอกจากผู้ประกอบการจะสูญเสียทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างร้านรวงแล้ว ยังมีชีวิตของสัตว์มากกว่า 5,343 ชีวิตที่ตายในกองเพลิงโดยไม่มีโอกาสถูกรับไปเลี้ยง ประกอบด้วย

 

  • ปลา 3,510 ตัว
  • สุนัข 37 ตัว
  • ชูการ์ไกลเดอร์ 30 ตัว
  • หนู ไม่ระบุจำนวน
  • ลิง 2 ตัว
  • เม่น ไม่ระบุจำนวน
  • นก 1,382 ตัว
  • ไก่ 217 ตัว
  • แมว 25 ตัว
  • แรคคูน 10 ตัว
  • เต่า 100 ตัว
  • กระรอก 30 ตัว
  • งู ไม่ระบุจำนวน

 

รวมประมาณ 5,343 ตัว

 

อ้างอิง: ข้อมูลจากคำร้องของประชาชนผู้เสียหาย วันที่ 11 มิถุนายน 2567

 

งู ที่สูญเสียจนไม่สามารถระบุจำนวนได้

 

ทีมข่าว THE STANDARD พูดคุยกับ นิค-นิรุทธ์ ชมงาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูของประเทศไทย และเจ้าของเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบ Nick Wildlife ซึ่งนำเสนอเรื่องเล่าเชิงสารคดีเกี่ยวกับงูในประเทศไทย

 

ในฐานะนักอนุรักษ์ ผู้ช่วยเหลือ ‘งูจากคน’ และ ‘คนจากงู’ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก สัตว์หายาก หรือ Exotic Pet ประเภทงูจำนวนมาก ยุคสมัยใหม่คนเปิดกว้างเรื่องของสัตว์เลี้ยงและเริ่มเข้าใจมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนที่เลี้ยงงูเกิดจากความชอบส่วนตัว ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ามีการขายงูตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 

นิรุทธ์กล่าวว่า ส่วนมากงูที่คนนิยมเลี้ยงเป็นงูจากต่างประเทศ เช่น งูบอลไพธอน,คอร์นสเน็ค หรืองูข้าวโพด และเม็กซิกันแบล็กคิงสเน็ค เนื่องจากงูสายพันธุ์ต่างประเทศโดยธรรมชาติมีการพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้มีรูปแบบลวดลายสวยงาม และส่วนมากนิสัยจะไม่ค่อยก้าวร้าว ไม่เหมือนงูตามธรรมชาติ แต่อาจมีบางกลุ่มคนที่ชอบเลี้ยงงูมีพิษ

 

ในมุมมองของตนเองฐานะนักอนุรักษ์และไม่ได้เลี้ยงงู ยอมรับว่าชอบที่จะเห็นสัตว์อยู่ในธรรมชาติมากกว่า 
“เราอยากเห็นเขาใช้ชีวิตด้วยตัวของพวกเขาเอง แม้ในธรรมชาติชีวิตจะโหดร้ายมากกว่าการที่เอามาเลี้ยง ต้องเจอทั้งการถูกล่า ถูกกิน แต่ทั้งหมดนี้เป็นวงจรชีวิต” นิรุทธ์กล่าว

 

ถึงแม้ตนจะไม่ได้เลี้ยงงู แต่ที่ผ่านมาตนให้ความเคารพคนที่เลี้ยงในแง่ของคนที่มีความชื่นชอบสัตว์ประเภทนี้ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็จะต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

 

ภาพไวรัลงูกัดตัวเองตายในกองเพลิง

 

นิรุทธ์อธิบายถึงภาพที่งูกัดตัวเองว่า ‘เป็นเรื่องของปฏิกิริยาตอบสนอง (Reflex)’ งูไม่ได้ตั้งใจ การกระทำไม่ได้ถูกสั่งการมาจากสมอง ณ เวลานั้นงูได้รับบาดเจ็บสาหัสอยู่ในขั้นโคม่า ซึ่งบ่อยครั้งเราสามารถเห็นพฤติกรรมการเอาตัวรอดในขณะบาดเจ็บสาหัสได้ เช่น การดิ้น การม้วนตัวอย่างรุนแรง

 

“ในจังหวะนั้นอะไรก็ตามที่ผ่านปากของงู ถ้าตอนนั้นตัวเขายังสามารถสั่งการผ่านระบบประสาทได้ การกัดก็อาจเป็นการป้องกันตัว ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวเขา มือเรา หรือสิ่งของงูก็จะกัด” นิรุทธ์กล่าว

 

ภาพที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ คาดว่าการที่งูกัดตัวเองเกิดจากงูมีอาการโคม่า งูจึงอ้าปากโดยอัตโนมัติ ขอยืนยันว่าไม่ใช่ความเชื่อว่างูต้องการฆ่าตัวเองก่อนที่จะถูกไฟไหม้ เพราะความจริงแล้วงูไม่ได้มีสมองพัฒนาดีขั้นนั้น และสัญชาตญาณของงูมีเพียงอย่างเดียวคือทำอย่างไรก็ได้ให้มีชีวิตรอด

 

“เขาแค่พยายามหนีจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เขาจะไม่ตัดสินใจที่จะกัดตัวเองตาย” นิรุทธ์กล่าว

 

นิรุทธ์กล่าวต่อว่า ภาพที่เราเห็นงูกัดตัวเองส่วนมากจะเกิดกับงูที่ไม่มีพิษ การกัดตัวเองโดยที่ไม่มีพิษไม่สามารถทำให้ตัวเองตายได้แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้เขี้ยวงูจะเป็นลักษณะตะของุ้มเข้าทั้งปากบนและล่าง เมื่อกัดแล้วถ้าไม่ดันตัวเองไปข้างหน้าก็จะไม่หลุดจากเขี้ยว ฉะนั้นในช่วงเวลางูโคม่าไม่มีสติพอ เมื่อกัดแล้วการที่จะถอนเขี้ยวออกจึงทำได้ยาก เราจึงเห็นงูตายในสภาพนั้น

 

เมื่องูอยู่ในที่แคบและอยู่ในสภาวะวิกฤต สิ่งที่เขาคิดได้คือเขาจะพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาจากที่ตรงนั้นให้ได้ ไม่ว่าจะพยายามดันกล่องเพื่อที่จะหนี มองหาช่องว่างที่จะเลื้อยออก แต่ทั้งนี้งูเป็นสัตว์สันโดษ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ หากเกิดเหตุการณ์นี้เขาจะพยายามเอาตัวรอด พยายามหนีเพียงตัวเดียวเท่านั้น

 

ความรับผิดชอบต่องูในกล่อง

 

นิรุทธ์กล่าวถึงกรณีที่สังคมมองว่างูที่ถูกจับมาวางขายถูกจัดเก็บในบล็อกเซรามิก จะมีความคิดหรือความรู้สึกหรือไม่ว่าถูกขัง ความเห็นของตนเองมองว่างูที่อยู่ในบล็อกเหล่านั้นเป็นงูที่ถูกเพาะพันธุ์มาตั้งแต่แรก งูเหล่านั้นจะชินกับสภาวะแวดล้อมลักษณะนั้นตั้งแต่เล็ก สัญชาตญาณของสัตว์พวกนี้ไม่ได้มีอะไรมาก แค่ถึงเวลาหิวก็กิน อิ่มก็นอน พอหิวใหม่ก็ออกมากิน

 

แต่แน่นอนว่าที่กว้างๆ ก็ย่อมดีกว่า แต่ที่แคบแบบนั้นถ้าตัวเขามีความคุ้นชินที่อยู่มาตั้งแต่เล็กก็อาจไม่ได้เป็นปัญหากระทบไปถึงความรู้สึกของเขา นอกจากเรื่องของความร้อน เพราะถ้าเราเอางูมาเลี้ยงเอาไปอยู่ในที่ร้อนอากาศไม่ถ่ายเทเช่นนั้น ก็จะเป็นเหมือนการทรมานเขา

 

สำหรับงูที่มีการเลี้ยงและไม่ได้เลี้ยงต่อ เท่าที่ตนทราบจะมีวงจรของการให้ต่อหรือขายต่อ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าคนที่เลี้ยงงูจะต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะต้องระมัดระวังตั้งแต่การเลี้ยงไม่ให้งูหลุด หรือระยะยาวของการเลี้ยงว่าจะดูแลเมื่องูโตขึ้นอย่างไร

 

ตนยืนยันว่าให้ความเคารพในทุกความชอบและทุกมุมมอง เพียงแต่จะทำอะไรเราต้องพยายาม มีความรัดกุม และมีความรับผิดชอบสิ่งที่เราต้องดูแลให้ดีที่สุด

 

หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่สร้างความสะเทือนใจโดยเฉพาะกับผู้รักสัตว์ สิ่งที่หลงเหลือไว้คือคำถาม 2 ข้อใหญ่ หนึ่ง มาตรการความปลอดภัยในอนาคตที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในตลาดลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร

 

สอง คำถามที่ทำให้สังคมต้องดีเบตกันต่อว่าตลาดสัตว์เลี้ยงควรมีต่อภายใต้มาตรการใดบ้างที่จะปลอดภัยกับทั้งคนและสัตว์ หรือสุดท้ายแล้วควรจะยุติตลาดสัตว์เลี้ยงเพราะเชื่อว่าทุกชีวิตไม่ควรถูกนำมาขัง มาขาย และนำมาเสี่ยงภัยกับเหตุไม่คาดคิดที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X