×

เลือกตั้ง 2566 : ปลุกผี-สกัดตั้งรัฐบาล เปิดข้อสังเกตจากเลขาธิการพรรคก้าวไกลปมหุ้น ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

โดย THE STANDARD TEAM
12.06.2023
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

10 พฤษภาคม คือหมุดหมายแรกที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เดินทางไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตรวจสอบกรณีการถือครองหุ้น ITV ซึ่งนับเป็นหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส.​ บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

 

จากวันนั้นปมปัญหาเรื่องการถือหุ้นสื่อก็กลายเป็นประเด็นข่าวรายวัน ก่อนที่พิธาจะโอนหุ้นดังกล่าวให้กับผู้อื่นที่ระบุว่าเป็นทายาท กระแสจึงค่อยลดน้อยถอยลงไป

 

กระทั่งในเวลาต่อมา กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้องที่เกี่ยวกับประเด็นการถือหุ้น ITV โดยหนึ่งในคำร้องเป็นของเรืองไกร เหตุคำร้องดังกล่าวยื่นมาเกินระยะเวลาที่ กกต. จะพิจารณาคำร้องได้

 

แต่อย่างไรก็ตาม กกต. เห็นว่ากรณีดังกล่าวมีรายละเอียด ข้อเท็จจริง และพฤติการณ์มีหลักฐานพอสมควร มีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่าพิธามีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป ซึ่งเข้าข่ายเป็นความปรากฏในภายหลัง

 

ต่อมาช่วงดึกวานนี้ (11 มิถุนายน) รายการ ข่าว 3 มิติ โดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ได้เปิดเผยคลิปวิดีโอการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 โดยเป็นการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในสาระสำคัญไม่ตรงกับรายงานการประชุมประจำปีของบริษัทที่ยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

เช้าวันนี้ (12 มิถุนายน) พรรคก้าวไกล โดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ได้นัดหมายสื่อมวลชนเพื่อแถลงข้อสังเกต 2 ข้อหลักจากการรายงานข่าวของรายการ ข่าว 3 มิติ ดังนี้

 

  1. ความขัดแย้งระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท ในประเด็นที่ว่าไอทีวียังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

 

  • คลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรับสมัครเลือกตั้ง จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้ถามในที่ประชุมว่า “(บริษัทไอทีวี) มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ” จากนั้น คิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”

 

  • แต่ในเอกสารรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กลับบันทึกไม่ตรงกับคลิปการประชุม กล่าวคือ กลับบันทึกรายงานการประชุมว่า คิมห์ สิริทวีชัย ได้ตอบคำถามของ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ว่า “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

 

  • “หลังจากมีการจัดทำรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ออกมา เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็ได้นำเอกสารนี้ไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566” ชัยธวัชระบุ

 

  • ทั้งนี้ ก่อนที่เรืองไกรจะไปยื่นร้องต่อ กกต. นั้น นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของตนเองเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี 2 วันว่า “นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต. ด้วยนะครับ หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น”

 

  • ชัยธวัชระบุว่าโพสต์ดังกล่าวทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่ามีการวางแผนจะให้ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นไอทีวีที่รับโอนหุ้นมาจากนิกม์ และยังเป็นผู้จัดการคลินิกของครอบครัวนิกม์ด้วยนั้นตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เพื่อต้องการให้ผู้บริหารของไอทีวีตอบว่าไอทีวียังดำเนินกิจการสื่อมวลชนอยู่ใช่หรือไม่

 

  •  แต่เมื่อ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ตอบคำถามในที่ประชุมว่าตอนนี้ไอทีวียังไม่มีการดำเนินกิจการสื่อ ภายหลังกลับมีการบันทึกการประชุมให้เข้าใจได้ว่าปัจจุบันไอทีวียังดำเนินกิจการสื่ออยู่ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้เข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จหรือไม่ และถือเป็นการทำผิดกฎหมายอีกหลายฉบับใช่หรือไม่ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีอำนาจในบริษัทไอทีวี รวมทั้ง จิตชาย มุสิกบุตร กรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุม ต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ชัดเจน

 

  • ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าจิตชาย กรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุมนั้นยังเป็นผู้บริหารสายงานกฎหมายและเลขานุการบริษัทของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวีอีกด้วย ทำให้มีคำถามว่าบริษัทอินทัช รับรู้หรือเกี่ยวข้องกับแก้ไขรายงานให้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการประชุมด้วยหรือไม่

 

  • “ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นหนึ่งในข้อพิรุธที่คุณพิธาได้เคยตั้งคำถามไว้ว่านี่คือความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน เพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทานุมัติของประชาชนผ่านการเลือกตั้งใช่หรือไม่ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้อาจเข้าข่ายกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัคร ส.ส. ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 143 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.”

 

  1. ความขัดแย้งกันระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 กับแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 และเอกสารงบไตรมาสแรกปี 2566 ของไอทีวี

 

  • หากพิจารณาใจความสำคัญของข้อความที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวี กล่าวคือแก้ไขคำตอบของ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุม ต่อ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน จาก “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” กลายเป็น “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้นทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ‘แบบนำส่งงบการเงิน’ (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ก่อนวันเลือกตั้ง 4 วัน และเป็นวันเดียวกับที่เรืองไกรไปยื่นร้องต่อ กกต. หรือไม่

 

  • เมื่อพิจารณาแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 (ซึ่งเป็นงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) จะพบว่ามีการระบุประเภทธุรกิจว่า ‘สื่อโทรทัศน์’ และระบุสินค้า/บริการว่า ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ จากเดิมที่เอกสารงบการเงิน (ส.บช.3) ของไอทีวีในปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า ‘กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งส์ที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก’ แล้วในปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า ‘สื่อโทรทัศน์’ โดยในส่วนสินค้า/บริการระบุว่า ‘ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ’

 

  •  การเปลี่ยนแปลงข้อความในแบบนำส่งงบการเงินครั้งหลังสุดของไอทีวีดังกล่าว ขัดแย้งกับการตอบของ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 ต่อข้อซักถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า “หากคดีความต่างๆ จบสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป หรือจะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทจะมีแผนชำระบัญชีหรือกิจการคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่”

 

  • คิมห์ได้ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า “ผลของคดีเป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าผลคดียังไม่ได้ออกมามันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะดำเนินการใดๆ กับไอทีวี ณ ขณะนี้นะครับ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เราก็ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดูออปชันต่างๆ ทางเลือกต่างๆ ก็ยังไม่มีทางเลือกใดๆ ที่เหมาะสม ณ ขณะนี้ ฉะนั้นทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องรอผลของคดี ถ้าผลคดีสิ้นสุดลงแล้วทางบริษัทก็จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับทางผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาจะจ่ายเงินปันผลอย่างไร จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะชำระบัญชีอะไรยังไง ทางเราจะพิจารณาทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมด และเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปนะครับ”

 

  • คำตอบของคิมห์ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นแสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 คิมห์ สิริทวีชัย ในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการบริษัท มิได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าไอทีวีประกอบกิจการ ‘สื่อโทรทัศน์’ และมีรายได้จาก ‘สื่อโฆษณา’ แต่อย่างใด เป็นไปได้อย่างไรว่าแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวีนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 จะระบุว่ารายได้ของไอทีวีในรอบปี 2565 มาจากสื่อโทรทัศน์ โดยมีสินค้า/บริการคือ ‘สื่อโฆษณา’ ยังไม่รวมถึงกรณีที่คิมห์ได้ตอบผู้ถือหุ้นถึงแนวโน้มที่จะมีการชำระบัญชีปิดบริษัทหลังจากทราบผลของคดีด้วยซ้ำ

 

  • จากข้อนี้ยังทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 ของไอทีวี เพราะในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 หน้าสุดท้ายมีการระบุว่า ‘เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566’

 

  • คำถามคือเป็นไปได้อย่างไรที่ไอทีวีจะมีรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณาในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 โดยวันประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งก็อยู่ในช่วงไตรมาส 2/2566 ที่เป็นช่วงเวลาที่มีการรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 คิมห์กลับตอบคำถามว่าบริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ต้องรอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน

 

  • ชัยธวัชระบุต่อว่า และจะเป็นไปได้อย่างไรว่าหลังจากประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เมษายนแล้ว ประธานในที่ประชุมบริษัทไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสื่อ แต่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 กลับไประบุว่า ‘ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้โฆษณาลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566’ ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดแย้งกับสิ่งที่คิมห์กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน

 

  • ถ้าไอทีวีมีแผนธุรกิจดังกล่าวจริงคิมห์ย่อมต้องแจ้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึงความเป็นไปได้ในการมีแผนธุรกิจใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นเพียง 2 วัน คือวันที่ 28 เมษายน 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติรับทราบ ‘แผนธุรกิจใหม่’ ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 และบริษัทจะรับรู้รายได้ในไตรมาสเดียวกันทันที ซึ่งผิดวิสัยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น 2 วัน คิมห์ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่เคยรับทราบความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการใดๆ และยังให้ข้อมูลตอบผู้ถือหุ้นว่าจนกว่าคดีจะถึงที่สุดเป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใดๆ

 

  • “พรรคก้าวไกลขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องรักษาเสียงของประชาชน ผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศในระบอบประชาธิปไตยให้ได้”

 

  • ชัยธวัชระบุว่า แม้จะมีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการจะใช้ประเด็นหุ้นไอทีวีเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พรรคก้าวไกลยังเชื่อมั่นว่าอำนาจของประชาชนจะได้รับชัยชนะในที่สุด และคณะกรรมการการเลือกตั้งจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างบริสุทธิ์และยุติธรรมตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาที่ผ่านมา

 

  • ส่วนกรณีที่ กกต. อาจจะดำเนินคดีกับพิธาในอนาคต ตามความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น พรรคก้าวไกลมั่นใจว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ เช่นเดียวกับที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ในคดีหุ้นวี-ลัค

 

  • “สำหรับการเปิดโปงขบวนการปลุกผีไอทีวีครั้งนี้ พรรคก้าวไกลขอขอบคุณการทำงานอย่างหนักของสื่อมวลชน อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวีเก่า แม้ไอทีวีจะยุติการดำเนินงานไปหลายปีแล้วแต่จิตวิญญาณของสื่อมวลชนมืออาชีพที่ก่อร่างมาตั้งแต่ยุคไอทีวียังคงอยู่ในตัวผู้สื่อข่าวเหล่านี้เสมอ”
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X