วันนี้ (16 กันยายน) พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงการหารือ ‘กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์’ กับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงแนวการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 15 ตุลาคมนี้
- พิพัฒน์กล่าวว่า จากการหารือกับทางว่าผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ได้ตกผลึกเบื้องต้นว่า การฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ขณะนี้ สำหรับเข็มที่ 1 เกิน 70% ของจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ไม่นับประชาชนแฝง ส่วนเข็มที่ 2 ขณะนี้ประมาณ 38% ซึ่งยังห่างจากเป้าหมาย 70% อยู่อีกประมาณ 32% โดยในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ คาดว่าน่าจะฉีดให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวไม่ทัน ความเป็นไปได้คือต้องเป็นวันที่ 15 ตุลาคม และเปิดกรุงเทพฯ พร้อมกันทุกเขต
- สำหรับบุคลากรที่ให้การบริการ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงแรม พนักงานร้านอาหาร พนักงานขับรถรับจ้าง ทั้งแท็กซี่หรือรถทัวร์ เหล่านี้ต้องได้รับการฉีดวัคซีน 100% ครบ 2 เข็ม ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ที่แสดงว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว เช่น มีเครื่องหมาย SHA+ ที่ติดแสดงอยู่บนรถแท็กซี่
- สำหรับผู้ขับขี่แท็กซี่ กรณีไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ยังสามารถให้บริการได้อยู่ แต่อาจให้บริการได้เฉพาะคนไทย ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ต้องกำชับเรื่องการใช้บริการรถที่มีสัญลักษณ์ หรือต้องประสานงานกับทางโรงแรม
- สำหรับไกด์นำเที่ยว ได้มีการประชุมหารือกับสมาคมไกด์เรียบร้อยแล้ว จะมีการให้เครื่องหมาย SHA+ หรือหมายเลขประจำตัว เพื่อแสดงตนว่าได้ผ่านมาตรฐานแล้ว
- พิพัฒน์ยกตัวอย่างกรณีของจังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวต่างชาติกับคนไทยในภูเก็ตแทบจะไม่มีการส่งต่อเชื้อระหว่างกัน คนไทยในภูเก็ตติดเชื้อเพิ่มวันละ 200 กว่าคนมาเป็นเดือนแล้ว แต่ผลที่ออกมาก็คือไม่มีคนไทยเอาเชื้อไปติดให้ต่างชาติ และไม่มีต่างชาติเอาเชื้อมาติดให้คนไทย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องของพฤติกรรมที่แทบจะไม่ได้ยุ่งหรือสุงสิงระหว่างกัน ส่วนสถานประกอบการที่ต้องสัมผัสก็ต้องปฏิบัติตามาตรการและฉีดวัคซีนอยู่แล้ว
- ส่วนเรื่องการจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ก็ต้องมีการหารือแนวทางกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งต้องขอความกรุณากับทาง ศบค. ว่าจังหวัดที่นักท่องเที่ยวพักอยู่ อาจจะต้องผ่อนปรนให้สามารถดื่มได้ในคอฟฟี่ช็อปของโรงแรม หรือร้านอาหารในโรงแรม
- ส่วนเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ต้องฉีดวัคซีนครบโดส ตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR มาจากประเทศต้นทาง และตรวจโควิดในประเทศไทยอีก 3 ครั้ง รวมถึงต้องเข้าพักในโรงแรมที่มีมาตรฐาน SHA+ เท่านั้น
- เงื่อนไขการพักอาศัยในกรุงเทพฯ แบบที่ 1 อยู่กรุงเทพฯ ครบ 14 วัน ถึงจะไปพื้นที่อื่นได้ ไปเขตไหนก็ได้ แต่ต้องกลับมานอนที่โรงแรม โดยเมื่ออยู่ครบ 14 วัน จึงจะเดินทางไปพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยได้
- ส่วนแบบที่ 2 อยู่กรุงเทพฯ 7 วัน + เที่ยวพื้นที่นำร่อง 7 วัน แต่ต้องอยู่ในโรงแรมที่กำหนด ซึ่งจังหวัดที่เป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่
- ภูเก็ต
- สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า)
- กระบี่ (เกาะพีพี, เกาะไหง, ไร่เลย์)
- พังงา (เขาหลัก, เกาะยาวน้อย, เกาะยาวใหญ่)
และอีก 4 จังหวัดที่จะเสนอ ศบค. พิจารณาเป็นพื้นที่นำร่องเพิ่มเติม ประกอบด้วย
- เชียงใหม่ (อ.เมืองเชียงใหม่, อ.ดอยเต่า, อ.แม่ริม, อ.แม่แตง)
- เพชรบุรี (ชะอำ)
- ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน)
- ชลบุรี (พัทยา, อ.บางละมุง, อ.สัตหีบ)