×

จับตาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วัดกระแสมวลชน บนทางเลือกที่มีมากกว่าสองขั้วการเมือง

15.12.2021
  • LOADING...
ผู้ว่าฯ กทม.

หากย้อนกลับไปบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2556 เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเพื่อไทยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่ง พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้สมัครฯ ของพรรค ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 แต่นั่งยังไม่ครบสมัยก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง 

 

หลังรัฐประหาร 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2559 และตั้ง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากมีการตรวจสอบโครงการไฟประดับของ กทม. ในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทำให้ พล.ต.อ. อัศวินเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

ในปีนี้ 2564 เข้าสู่บรรยากาศเตรียมหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้จะยังไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่ความเคลื่อนไหวของพรรคและกลุ่มการเมืองทั้งในฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลทยอยประกาศออกมาแล้วว่าจะส่งหรือไม่ส่งใครเป็นผู้สมัคร 

 

-เพื่อไทย ไม่ส่งผู้สมัคร

เริ่มจากพรรคเพื่อไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศแล้ว ไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทย เหตุผลเพราะเสมือนมีตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยที่อาสาลงสมัครอยู่แล้ว ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการตัดคะแนนกัน 

 

ทันทีที่มีการประกาศออกมาเช่นนี้ มวลชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเข้าใจตรงกันว่า เป็นการเปิดทางให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่นเอง แม้จะไม่ใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคโดยตรง แต่ที่ผ่านมาชัชชาติไม่ได้ห่างหายไปจากพรรคเพื่อไทย เขายังปรากฏตัวร่วมงานที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย และมีภาพที่ประชาชนจดจำในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่นำโดยน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร   

 

-พลังประชารัฐ ตัวเลือกไม่ชัด กลับไปกลับมา

ฝ่ายที่ใกล้ชิดพรรคพลังประชารัฐ แรกเริ่มมีความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกตัวแรงด้วยการโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ด้วยภาพโฆษณาผลงานของ พล.ต.อ. อัศวิน ที่ปรากฏตามสถานที่ต่างๆ แต่ พล.ต.อ. จักรทิพย์เขียนแคปชันข้อความว่า “เป็นผม ผมไม่ทำ” 

 

อดีต ผบ.ตร. ผู้นี้ได้เริ่มหาเสียงพร้อมสื่อสารต่อสาธารณะว่าเตรียมจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่สุดท้ายได้ประกาศถอนตัว และถูกมองว่ามีความจำเป็นต้องหลีกทางให้ พล.ต.อ. อัศวิน ด้วยเหตุผลจากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ 

 

ถึงกระนั้นพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่า ผู้สมัครฯ ของพรรคในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้จะเป็น พล.ต.อ.อัศวินหรือไม่ และต่อมายังมีกระแสข่าวว่าคนที่พรรคจะส่งลงสมัครรับเลือกตั้งคือ ‘ผู้ว่าฯ หมูป่า’ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมกระแสข่าวว่าเป็นผู้ที่มีเรตติ้งดีกว่า พล.ต.อ. อัศวิน ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน 

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ผู้ว่าฯ หมูป่า ได้ออกมาปฏิเสธแล้ว ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรคจะส่งใครในนามพรรคหรือไม่ และ พล.ต.อ. อัศวินจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระหรือในนามพรรคกันแน่     

 

-ประชาธิปัตย์ เปิดตัว ดร.เอ้ 

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวผู้สมัครแล้วในนามพรรคคือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ เอ้ ซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาได้รับ ‘แสง’ หรือได้รับความสนใจจากสาธารณะ เพราะเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เขาเคยเป็นข่าวจากการปลอมตัวเป็นนักศึกษาที่ถูกว้ากเพราะมาสายในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2558 พร้อมเรื่องหักมุมในที่สุด ด้วยการแสดงตัวว่า จริงๆ แล้วเป็นอธิการบดี

 

ล่าสุด สุชัชวีร์เป็นผู้สมัครที่ได้รับความสนใจทั้งทางบวกและทางลบ ในทางบวกเขามีตำแหน่งในอดีตที่สามารถบอกตัวตนให้ผู้คนทำความเข้าใจได้ง่าย ประกอบกับความเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ในพรรคเก่าแก่ ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าจับตาได้ไม่ยาก แต่วิธีการนำเสนอเพื่อที่จะทำให้ได้รับการจดจำในเวลาอันรวดเร็วกลับกลายเป็นปัญหาที่ต้องตามแก้ไขและกระทบความน่าเชื่อถือทั้งต่ออดีตและอนาคต เช่น ปัญหาความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์กับ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ ที่เชื่อรุ่นพี่โดยบริสุทธิ์ใจ

 

ขณะที่การแข่งขันกับผู้สมัครรายอื่น สุชัชวีร์ตอบสื่อมวลชนที่ถามถึงประวัติการศึกษาด้านวิศวะซึ่งมีความคล้ายกับชัชชาติว่า ตัวเองมีเส้นทางเดินที่แตกต่างกับชัชชาติหลายอย่าง โดยอ้างถึงงานวิศวะใน กทม. เมื่อ 30 ปีที่แล้ว และบอกว่า “งานวิศวะต้องรู้จริง ถ้ารู้ไม่จริงลูกน้องก็หลอกเอาได้”

 

-เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้งที่ต้องจับตา

สิ่งที่น่าจับตาในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้มีความแตกต่างจากรอบที่แล้ว เพราะไม่ใช่การแข่งขันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ ซึ่งเป็นภาพตัวแทนอุดมการณ์ 2 ขั้วอย่างในอดีต 

 

เนื่องจากการเมืองในขณะนี้แบ่งออกได้เป็นหลายขั้วหลายพรรค แข่งขันกันทั้งในนามพรรคการเมือง หรือลงสมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระ แต่มีฐานมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งร่วมให้การสนับสนุนอยู่ด้วย    

 

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดตัวผู้สมัครแล้ว คู่แข่งไม่ได้มีเพียงผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ยังต้องจับตาดูพรรคพลังประชารัฐหรือผู้สมัครที่จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐแม้จะไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคก็ตาม 

 

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลที่ประกาศจะเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคต้นปีหน้า (2565) คู่แข่งของก้าวไกลไม่ได้มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ แต่ยังมีผู้สมัครในนามอิสระที่อาจจะได้รับการสนับสนุนจากโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X