×

จากใจแผ่นดิน สู่มรดกโลก สรุปประเด็นการคัดค้านขึ้นทะเบียนมรดกโลกป่าแก่งกระจาน

29.07.2021
  • LOADING...
Bang Kloi

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่กระแส #saveบางกลอย ถูกจุดขึ้นมาบ่นโซเชียลมีเดีย ก่อนที่จะเคลื่อนจากออนไลน์สู่ออนกราวด์จนกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้มีการจัดชุมนุมในประเด็นนี้หลายครั้ง

 

ทำให้คนไทยสามารถมองเห็นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ ณ ใจกลางป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มาเป็นเวลากว่า 100 ปี ได้ชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรก

 

‘ใจแผ่นดิน’ คือสถานที่ที่เป็นถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกับป่าและทำไร่หมุนเวียน จนกระทั่งป่าแก่งกระจานได้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ผันเปลี่ยนให้ชาวบางกลอยกลายเป็นผู้บุกรุกป่าในที่อยู่อาศัยของตนเอง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้บุกเข้ารื้อสิ่งปลูกสร้าง ไล่ให้ชาวบ้านต้องย้ายลงมายังที่ดินจัดสรรที่แห้งแล้ง ไม่สามารถเพาะปลูกสิ่งใดได้ จนกระทั่งพวกเขาตัดสินใจที่จะย้ายกลับไปยังใจแผ่นดินอีกครั้ง 

 

การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงหลายครั้งในช่วงของการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญอย่าง ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอุ้มฆ่า และเรื่องราวที่ซับซ้อนมากไปกว่ามิติด้านการอนุรักษ์ผืนป่าแต่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

 

แต่ทว่าในปัจจุบัน การเรียกร้องสิทธิในการกลับบ้านให้แก่ชาวบ้านบางกลอยยังไม่ได้รับการมองเห็นจากภาครัฐ จนกระทั่งวานนี้ (26 กรกฎาคม) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยว่า พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ป่าแห่งนี้ถูกควบคุมโดยมาตรการทางกฎหมายจากรัฐไทย ทั้งที่ปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ในวันเดียวกัน กลุ่มภาคีเครือข่าย SAVE บางกลอย ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม ‘มรดกโลก มรดกเลือด’ ขึ้น เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน ทวงความเป็นธรรมให้แก่ 3 ชีวิตที่ต้องสูญเสียจากการต่อสู้ พร้อมกับกระแส #saveบางกลอย ที่ได้กลับมาปรากฏบนโลกออนไลน์อีกครั้ง

 

THE STANDARD ได้สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ใจแผ่นดิน บ้านของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่กำลังจะกลายเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทยไว้ดังนี้

 

KEY MESSAGES:

 

การต่อสู้ของชาวบ้านบางกลอย

  • ชาวบ้านบางกลอยคือกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในใจกลางป่าแก่งกระจาน ในบริเวณที่เรียกว่า ‘ใจแผ่นดิน’ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน และอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติมาเป็นระยะเวลามากกว่า 100 ปี
  • ในปี 2524 ได้มีการประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้น ห้ามไม่ให้ผู้ใดตั้งรกรากและอยู่อาศัยในผืนป่า จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลายเป็นผู้บุกรุกป่า และถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานมายังบริเวณด้านล่างที่รัฐจัดที่ดินทำการเกษตรไว้ให้
  • ทว่าชาวบ้านพบว่าที่ดินทำกินที่ได้รับมามีไม่เพียงพอและหลายส่วนไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงย้ายกลับไปอยู่ยังใจแผ่นดินที่เดิม ทำให้ในปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ใช้ปฏิบัติการ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ร่วมมือกับทหาร ไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากป่า
  • ปี 2554 ชาวบ้านนำโดยปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงอาวุโส รวมตัวกันฟ้องกรมอุทยานฯ โดยแจงว่าชาวบ้านถูกเผาบ้านและยุ้งข้าว รื้อทิ้งสิ่งปลูกสร้างจากปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รวมถึงขอให้ชาวกะเหรี่ยงสามารถกลับไปอยู่ในเขตอุทยานได้ตามเดิม
  • จนนำไปสู่การเสียชีวิตของ ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงและพยานคนสำคัญ ถูกลักพาตัวและพบเป็นกระดูกในเขตป่าแก่งกระจาน และ ‘อาจารย์ป๊อด’ ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้ประสานงานของกลุ่ม ถูกยิงเสียชีวิตขณะขับรถ โดยทั้งสองคดีไม่สามารถหาคนกระทำผิดได้จนถึงทุกวันนี้
  • ชาวบ้านที่ถูกไล่ลงมาในที่ดินที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปรับจ้างในเมือง จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด ทำให้ไม่สามารถหางานทำได้ จึงตัดสินใจย้ายกลับเข้าไปอยู่ในอุทยานอีกครั้งเมื่อต้นปี 2564 และถูกเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจบุกจับตัวในข้อหายึดครองที่ดินภายในอุทยานแห่งชาติในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

การคัดค้านไม่ให้ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

  • ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี 2558, 2559 และ 2562 แต่ถูกคณะกรรมการทุกคนปัดตกทั้งหมด เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่าไทยยังไม่ได้แก้ไขเรื่องปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์
  • ในปี 2562 ยูเนสโกมีมติไม่รับรองให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก และอยู่ในสถานะส่งเรื่องกลับ พร้อมยื่น 3 ข้อเสนอให้ไทยปรับปรุงภายในระยะเวลา 3 ปี ได้แก่
  1. แก้ไขข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
  2. ปรับปรุงแนวขอบเขตที่อาจจะกระทบเส้นเขตแดนไทย-เมียนมา และ
  3. ทำเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ
  • วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ระบุว่า กสม. ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกจนกว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลาย เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ระหว่างวันที่ 16-31 กรกฎาคม ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลไทยจะเสนอให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกครั้ง 
  • ต่อมาในวันที่ 23 กรกฎาคม เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยแพร่คำเตือนจากคณะผู้เชี่ยวชาญของ UN ที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากเหตุผลเดียวกัน
  • วันที่ 26 กรกฎาคม วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยว่า พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย ทั้งที่ปัญหาของกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอยยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

กลุ่มป่าแก่งกระจานถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ส่งผลอย่างไรต่อชาวบ้านบางกลอย

  • วันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. ก่อนการประกาศผลพิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ได้มีกลุ่มมวลชนจัดกิจกรรมคัดค้านการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกบริเวณหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยภาคีกลุ่ม SAVE บางกลอย ระบุว่า พี่น้องบางกลอยถูกไล่ออกจากบ้านเกิด การเดินทางกลับบ้าน 25 ปี แลกมาด้วยการถูกจับและดำเนินคดี แต่กระทรวงทรัพยากรฯ กลับเร่งผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยไม่สนใจวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง และเรียกร้องให้เลื่อนการพิจารณาออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ผู้แทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐบาลต้องเร่งรัดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานในครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ยื่นไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารขึ้นมาเป็นรัฐบาลในระบอบเผด็จการ หลังจากนั้นมีการปัดตกมาทุกครั้งทั้ง 3 ครั้ง เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกทั้งหมด 21 ประเทศ มีมติไม่รับรองการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ 
  • “พื้นที่แห่งนี้มีกฎหมายทับซ้อนกันมากมาย พื้นที่นี้ไม่ได้ต่างอะไรกับอุทยานแห่งชาติ เพราะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับชาวบ้านได้ แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายอะไรก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการบัญญัติไว้ในกระดาษ แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยเกิดขึ้นจริง การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาก็ตั้งในนาม ไม่มีการประชุมหรือมีมติให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมสักที” 
  • ด้านกระแส #saveบางกลอย โซเชียลมีเดียได้แสดงความกังวลว่า หากพื้นที่ป่าแก่งกระจานกลายเป็นมรดกโลก จะต้องถูกควบคุมด้วยมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองมรดกโลกโดยที่รัฐไทยจะมีส่วนเป็นผู้ควบคุม ซึ่งชาวบ้านบางกลอยจะยิ่งถูกบีบให้ออกจากบ้านของตนเอง

 

การล็อบบี้ครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลไทย

  • ผู้แทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้กล่าวเพิ่มเติมในกิจกรรมหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ผลการชี้ชะตากลุ่มป่าแก่งกระจานจะถูกรับรองเป็นมรดกโลกหรือไม่นั้นจะปรากฏในวันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 16.30 น. แต่ทว่าเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม เว็บไซต์ของ UNESCO ได้เผยแพร่ร่างคำพิจารณาว่าจะมีมติให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก โดยมีประเทศรัสเซีย จีน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย สเปน เอธิโอเปีย เซนต์คิตส์และเนวิส มาลี และไทย รับรองให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ นั่นหมายความว่านี่คือการล็อบบี้ครั้งยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาล 9 ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

 

ป่ากับคน อยู่ร่วมกันได้หรือไม่

  • “ทำไมป่าแอมะซอนที่มีชนเผ่าเต็มไปหมด ทำไมยังเป็นมรดกโลกได้ ไม่เห็นเขาต้องไล่คนออกจากป่าเลย และถือเป็นจุดขาย เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำไปที่มีคนดั้งเดิมอยู่” หนึ่ง-สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา อดีตผู้สื่อข่าวที่เป็นผู้จุดประเด็นกรณีพิพาทในพื้นที่แก่งกระจานเมื่อราว 10 ปีก่อนหน้า ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา
  • สถาพรได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่าระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐและชาวบ้านควรจะพูดคุยกันเรื่องไร่หมุนเวียนและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ และถ้าศึกษาประวัติศาสตร์และบทเรียนที่ผ่านมาจะเห็นว่ากะเหรี่ยงอยู่ในป่า ป่าไม่ได้หายไปไหน แต่พอมันมีคนมาทำสัมปทานป่าไม้ ปีเดียวป่าหายเป็นพันเป็นหมื่นไร่ เราตั้งกรมอะไรขึ้นมาสักกรม จำนวนป่าก็ลดลงอย่างรวดเร็ว
  • “อย่างน้อยคำว่าสิทธิมนุษยชน การมองว่าคนเหล่านี้ก็เป็นคนที่ควรจะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล และสวัสดิการเหมือนกับเรา ไม่ใช่จะไปเผาบ้านเขาเมื่อไรก็ได้ ไม่ใช่จะไปอุ้มเขาขึ้นเฮลิคอปเตอร์หรือจับเขาโกนหัวเมื่อไรก็ได้”

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising