เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ OCA ได้แจ้งยกเลิกให้ไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์เรียบร้อยแล้ว
โดยรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลในการยกเลิกครั้งนี้มีการระบุว่า การจัดการแข่งขันยังไม่สามารถปลดล็อกเรื่องงบประมาณได้ และเวลาที่เหลือกระชั้นชิดเกินไป
ล่าสุดวานนี้ (21 สิงหาคม) การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. แถลงข่าวเรื่องการยกเลิกการจัดการแข่งขันครั้งนี้ของไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นเหมือนการ ‘สรุปจบ’ เรื่องนี้ลงอย่างสมบูรณ์
ซึ่งคงง่ายกว่า หากเรามาไล่ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบกันอีกครั้ง และพูดถึงผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการยกเลิกการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ด้วย
เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์คืออะไร?
ไม่น่าแปลกใจหากคนทั่วไปที่ไม่ใช่คอกีฬาอาจจะไม่คุ้นชินกับชื่อของเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ เพราะแม้การแข่งขันรายการนี้จะเป็นการแข่งขันชิงแชมป์ระดับเอเชีย แต่ชื่อชั้นและความสำคัญก็ยังเป็นรองมหกรรมกีฬาหลักอย่างเอเชียนเกมส์อยู่พอสมควร และดีไม่ดีเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์นี้อาจจะดูเป็นรองกีฬาระดับภูมิภาคอย่างซีเกมส์อยู่เล็กน้อยด้วย
เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ แต่เดิมเป็นการแข่งขัน 2 รายการคือ เอเชียนอินดอร์เกมส์ และเอเชียนมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ ก่อนจะถูกจับมารวมเป็นรายการเดียวกันในปี 2013
โดยเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์คือมหกรรมกีฬาที่รวมการแข่งขันกีฬาในร่มหลากหลายประเภทเอาไว้ด้วยกัน และส่วนมากจะเป็นกีฬาที่ไม่ได้รับพิจารณาให้จัดการแข่งขันในกีฬาสากลอย่างโอลิมปิกเกมส์หรือเอเชียนเกมส์ เช่น โบว์ลิ่ง, คิวสปอร์ต (สนุกเกอร์-บิลเลียด), มวยไทย, วูซู หรือหมากล้อม
จุดประสงค์หลักของการแข่งขันรายการนี้ คือการพัฒนากีฬาต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกแข่งขันในระดับสากล แต่ยังเป็นกีฬาที่เป็นที่รู้จัก ให้ได้รับการต่อยอดเพื่อความเป็นเลิศ
ดังนั้นเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์จึงเป็นรากฐานในการพัฒนากีฬาต่างๆ หลากหลายชนิด รวมไปถึงพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการของฝ่ายจัดการแข่งขันไปพร้อมๆ กันด้วย
ไทยกับการเป็นเจ้าภาพเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์
อันที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรายการนี้ เพราะไทยเคยเป็นเจ้าภาพเอเชียนอินดอร์เกมส์ครั้งแรกในปี 2005 และเอเชียนมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ในปี 2009 มาก่อนแล้ว
การรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทยในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในระดับนี้ เพราะต้องอย่าลืมว่าการเป็นเจ้าภาพมหกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อย่างเอเชียนเกมส์ เราก็เคยทำจนสำเร็จมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าภาพเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ นั้นแตกต่างจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาอื่นๆ อย่างเอเชียนเกมส์หรือซีเกมส์ เนื่องจากการแข่งขันรายการนี้มีโอกาส ‘ขาดทุน’ มากกว่ารายการที่ว่ามา เนื่องจากกีฬาหลายๆ อย่างไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก
ดังนั้นการจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์จึงมักจะมาพร้อมกับการ ‘ต่อรอง’ เพื่อขอสิทธิประโยชน์อื่นๆ หรือโอกาสในการจัดการแข่งขันรายการอื่นๆ จากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ OCA เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘ทุน’ ของชาติเจ้าภาพที่อาจ ‘จม’ ลงไป
อย่างไรก็ตาม หลังจบการแข่งขันในปี 2017 ที่เติร์กเมนิสถานเป็นเจ้าภาพนั้น ไทยก็เชื่อมั่นว่าสามารถจัดการแข่งขันครั้งนี้ได้อย่างลุล่วงแน่นอน
ปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การเลื่อนการแข่งขัน
ก่อนที่จะมีการยกเลิกการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา การแข่งขันรายการนี้เลื่อนการแข่งขันมาแล้วหลายครั้ง
โดยกำหนดการแรกในการจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ ครั้งที่ 6 ณ กรุงเทพฯ จะต้องมีขึ้นในวันที่ 21-30 พฤษภาคม 2021 แต่กำหนดการนี้ถูกเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลซึ่งเข้าใจได้ นั่นคือการแพร่ระบาดของโควิด
โดยการแข่งขันถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 10-20 มีนาคม 2022 แต่เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจึงเลื่อนอีกครั้งมาเป็นวันที่ 17-26 พฤศจิกายน 2023 ในตอนแรกเหมือนจะลงตัวแล้ว แต่ผลปรากฏว่ากำหนดการนี้กระชั้นชิดกับเอเชียนเกมส์ 2022 ที่หางโจว ประเทศจีน ซึ่งถูกเลื่อนมาทำการแข่งขันในวันที่ 23 กันยายน – 8 ตุลาคม 2023 แทน
ผลที่เกิดขึ้นทำให้มีการเลื่อนการแข่งขันอีกครั้ง มาเป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2024 แทน แต่การเลื่อนมาในช่วงเวลานี้ก็เกิดปัญหาอีกครั้ง เนื่องจากใกล้กับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 มากเกินไปอีก ทำให้มีการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันมาเป็นช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งคือวันที่ 21-30 พฤศจิกายนในที่สุด
ยืนยันว่าอย่างไรก็ไม่ยกเลิก จนวันที่ยกเลิก
ในตอนนี้เป็นที่รู้กันแล้วว่า สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียได้ส่งหนังสือขอยกเลิกการเป็นเจ้าภาพของไทยในเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ ครั้งที่ 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ก่อนหน้านั้น ทุกฝ่ายต่างยืนยันว่า ไทยจะเดินหน้าจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการนี้ต่ออย่างแน่นอน ไล่ตั้งแต่ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
โดยเรื่องนี้เริ่มเป็นเรื่องขึ้นมาในวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการยืนยันข่าวว่า ในการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์อาจจะต้องตัดกีฬาออกไป 14 ชนิดจากทั้งหมด 36 ชนิดกีฬา เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ
จนกระทั่งวันที่ 14 สิงหาคม เมื่อ นายกองเอก ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะรองประธานสภา OCA และประธานดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ ครั้งที่ 6 ก็ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจตัดกีฬาทั้ง 14 ชนิดกีฬาดังกล่าว
วันรุ่งขึ้น (15 สิงหาคม) OCA จัดประชุมพิเศษคณะผู้บริหาร เกี่ยวกับการถอนสิทธิ์ของประเทศไทย ทางคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จึงมีหนังสือขอให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อน เนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขันของไทยเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในวันที่ 19 สิงหาคม
ทาง OCA ก็ผ่อนผันให้ไทย และจะรอจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม ตามข้อเรียกร้อง โดยมีเงื่อนไขคือต้องการทราบความชัดเจนใน 9 ประเด็น ซึ่งหลักๆ คือเรื่องของงบประมาณและสถานที่พักของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่
และเมื่อถึงเวลาราว 17.00 น. ตามเวลาไทย หลังไม่มีการตอบกลับถึงความชัดเจนตามที่ OCA ร้องขอ OCA จึงยกเลิกสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพของไทยในที่สุด
คำถามต่อไป “ใครผิด?”
ถ้าจะตอบแบบไม่อธิบายอะไรมาก สามารถบอกได้ว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของหลายฝ่ายและหลายกรณี
จริงๆ ปัญหาเรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องอย่าลืมว่า ไทยได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ครั้งนี้ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่รับผิดชอบมาอย่างต่ำๆ ถึง 3 คน ได้แก่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ, สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล และล่าสุดคือ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
แม้ทั้งหมดที่ว่ามาจะยืนยันว่า ไทยจะเดินหน้าการเป็นเจ้าภาพเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์อย่างแน่นอน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลที่รับงานมากับรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นไม่ใช่ขั้วอำนาจเดิม
และหากให้ความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนล่าสุดอย่าง เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ก็เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่ได้ปฏิเสธความจริงที่ว่าเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์เกิดขึ้นไม่ได้
โดยในการแถลงข่าววันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีเสริมศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาเป็นเรื่องของความคุ้มค่า ที่ตนเองไม่สามารถเซ็นอนุมัติงบประมาณได้ โดยแต่เดิมมีข้อมูลว่าจะมีนักกีฬา-เจ้าหน้าที่มาร่วม 14,000 คน แต่ลงทะเบียนจริงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม มาเพียง 1,938 คนใน 24 ชนิดกีฬา ตัวเลขมันไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ตั้งเอาไว้
เสียชื่อ เสียเงิน เสียหาย เสียเวลา
ประโยคบนคือนิยามของผลกระทบที่เกิดขึ้น แม้ทาง จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะยืนยันในงานแถลงข่าวว่า ไทยไม่มีอะไรเสียหาย เนื่องจาก OCA เป็นคนขอยกเลิกการแข่งขันเอง แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปเสียทีเดียว
การถูกยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ อย่างแรกเลยที่ไทยเสียคือ ‘เสียชื่อ’ เพราะมีไม่บ่อยนักที่เจ้าภาพจะไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ และต้องยกเลิกการแข่งขันไป ส่วนมากจะเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุผลใหญ่ๆ อย่างการเมือง หรือวิกฤตการณ์อะไรสักอย่าง
แต่ในคราวนี้การแข่งขันถูกยกเลิกเนื่องจากความ ‘ไม่พร้อมด้านงบประมาณ’ ของไทยเอง แม้จะเป็นการแข่งขันรายการที่ไม่มีใครอยากจัดอย่างเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าเป็นการเสียชื่อและเสียเครดิตแบบเต็มๆ
ตามมาจากการเสียชื่อ คือการ ‘เสียเงิน’ เพราะในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้มีเงินถูกเบิกไปใช้แล้ว 980 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นค่าเก็บตัวและฝึกซ้อมของนักกีฬา รวมไปถึงค่าเตรียมการจัดการแข่งขันฯ และค่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
แถมเงินก้อนนี้ยังมีคดีเชื่อมโยงกับการทุจริตจนต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อรายงานกรณีสงสัยว่าอาจมีการกระทำการทุจริตด้วย
ขณะที่ฝ่ายที่ ‘เสียหาย’ มากที่สุด คือบรรดานักกีฬาที่ต้องซ้อมกันอย่างหนักเป็นเวลายาวนานถึง 3 ปี เพื่อเตรียมตัวลงแข่งขัน แต่ไปๆ มาๆ กลับเป็นการ ‘ซ้อมเปล่า’ โดยไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น
ซึ่งทาง โจ้-ญาณพล ลาภอาภารัตน์ นักกีฬาโบว์ลิ่งเจ้าของเหรียญทองประวัติศาสตร์ เอเชียนเกมส์ 2014 ที่อินชอน เกาหลีใต้ และแชมป์ World Bowling Tour Thailand 2017 ก็ออกมาโพสต์เกี่ยวกับเวลาซ้อมที่ต้องเสียไปและความเสียหายที่ไม่ได้มีการแข่งขันรายการนี้
ขณะที่วงการกีฬาไทยก็ต้องมา ‘เสียเวลา’ กับการแข่งขันที่ไม่ได้เกิดขึ้นรายการนี้ ไล่ตั้งแต่ฝ่ายนักกีฬาที่ต้องเตรียมการฝึกซ้อม, ฝ่ายจัดการแข่งขันที่ต้องประสานงานและออกแบบสิ่งต่างๆ รวมไปถึงสื่อมวลชนที่ต้องรอทำข่าว และแฟนๆ บางคนที่อาจจะรอคอยการแข่งขัน ก็ต่างเสียเวลากันไปเปล่าๆ ทั้งหมด
เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตส์เกมส์ ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยถูกยกเลิกการเป็นเจ้าภาพนี้ จึงเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ไทยต้องเรียนรู้และแก้ไข เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นต่อไปในซีเกมส์ที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้