ผู้เลี้ยงสุกรเผยความเสียหายรุนแรงระดับในช่วงชีวิตไม่เคยเจอ
5 มกราคม นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand โดยผู้ดำเนินรายการถามว่า ราคาหมูสูงขึ้นเพราะต้นทุนสูงและเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ใช่หรือไม่ อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวยอมรับว่าราคาสูงเพราะต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงขึ้น ส่วนปัญหาโรคระบาดมีความรุนแรงระดับที่ในช่วงชีวิตนี้ไม่เคยเจอความเสียหายขนาดนี้มาก่อน แต่จะเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือไม่นั้น \กรมปศุสัตว์รายงานว่าเป็นโรคเพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นโรคเพิร์สปกติจะมีวัคซีนป้องกันและมียารักษา จึงต้องถามทางกรมปศุสัตว์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเป็นอะไรกันแน่ เพราะหมูเป็นโรคแล้วตายหมด โชคดีที่ไม่ติดต่อไปสู่คน
สื่อมวลชนเผยแพร่เอกสารโรคระบาดในหมู คืออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)
7 มกราคม ‘Thairath Plus – ไทยรัฐพลัส’ เผยแพร่สำเนาเอกสารแจ้งผลการชันสูตรซากหมูตาย ที่ชันสูตรโดยห้องแล็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2564 ระบุว่า ตัวอย่างซากหมูที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรค ASF ซึ่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในกรมปศุสัตว์แล้ว
กรมปศุสัตว์ออกเอกสารชี้แจงอยู่ระหว่างค้นหาสาเหตุการเกิดโรค แต่ไม่ยืนยัน ASF ระบาดในไทย
8 มกราคม เว็บไซต์กรมปศุสัตว์ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์หัวข้อ ‘อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งหน่วยเฉพาะกิจฯ ตรวจสอบฟาร์มสุกร เพื่อค้นหาสาเหตุการเกิดโรค’ โดยระบุว่า น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวว่าขณะนี้มีการเกิดโรคระบาดในสุกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นการระบาดของโรค ASF โดยยอมรับว่าปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยารักษาโรค แม้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่น แต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
กรมปศุสัตว์จึงได้มีการกำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อโรค ASF กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที โดยการทำลายสุกรซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
คณบดีสัตวแพทย์ 14 สถาบัน ยืนยันพบ ASF และขอให้กรมปศุสัตว์ควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน
9 มกราคม สื่อมวลชนเผยแพร่เอกสารของภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เรื่องข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร
มีใจความสำคัญว่า ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน ขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพสัตวแพทย์ของประเทศไทย หลังสถาบันการศึกษาสัตวแพทย์ในประเทศไทยพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แล้ว
กรมปศุสัตว์อ้าง ยังไม่เห็นหนังสือ
น.สพ.สรวิศระบุว่า ยังไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป
ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ยืนยัน กรมปศุสัตว์เซ็นรับหนังสือแล้ว
10 มกราคม ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่าส่งหนังสือแล้วที่กรมปศุสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เซ็นรับหนังสือไว้แล้ว ส่วนสภาพปัญหาก็ทราบมาระยะหนึ่งว่ามีปัญหาโรคระบาดที่ไม่เคยมีในไทยจึงไม่มีวัคซีน
เมื่อพิธีกรถามว่าสุกรฟาร์มชาวบ้านตายหมดเหลือแต่ฟาร์มเจ้าสัว ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือการจะทำให้โครงสร้างการผลิตสุกรหรือการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยเปลี่ยนไปได้ ซึ่งก็เป็นข้อกังวลว่าผู้เลี้ยงจะเหลือน้อยรายเช่นเดียวกับในอเมริกา ฟาร์มขนาดเล็กขนาดกลางจำนวนมากไม่ได้มีการป้องกันโรคหรือไบโอซีเคียวริตี้ที่ดี จึงมีโอกาสได้รับความเสียหายจากสถานการณ์นี้มาก
สำหรับวัคซีนอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาในต่างประเทศซึ่งได้รับผลกระทบมาก่อน แต่ยังไม่มีใช้อย่างเป็นทางการ ส่วนในประเทศไทยก็มีคนเก่งมีความสามารถอยู่ระหว่างเร่งรีบศึกษาวิจัย ส่วนการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุปัญหา ดังนั้นถ้าพัฒนาวัคซีนอื่นแต่ไม่พัฒนาวัคซีน ASF การแก้ปัญหาก็ไม่ได้ผล