กรณีความสำเร็จในการพัฒนายาเม็ดต้านโควิดแบบรับประทานกำลังกลายเป็นอีกความหวังสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งทั่วโลกรวมถึงไทยให้ความสนใจและพยายามสั่งจอง เนื่องจากผลทดลองที่เปิดเผยออกมาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการช่วยลดอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อได้ชัดเจน หากให้ยาผู้ป่วยได้เร็วพอ
โดยปัจจุบันมียาเม็ดต้านโควิด 2 ตัว ที่เปิดเผยผลการทดลองขั้นต้นออกมาในช่วงเดือนนี้ ได้แก่
- ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่พัฒนาโดยบริษัท Merck & Co และ Ridgeback Biotherapeutics ของสหรัฐฯ
- ยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ที่พัฒนาโดยบริษัท Pfizer และ BioNTech
ซึ่งผลการทดลองทางคลินิกในเฟสที่ 3 ของยาโมลนูพิราเวียร์นั้นพบว่า ผู้ป่วยโควิดกลุ่มตัวอย่าง 775 คน ที่รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน มีแค่ 7.3% ที่เกิดอาการป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และไม่มีใครเสียชีวิต
ขณะที่ยาแพ็กซ์โลวิดซึ่งทดลองในเฟสที่ 2/3 พบว่า ผลทดลองขั้นต้นจากการให้ยาแก่ผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่าง 1,219 คน สามารถช่วยลดอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ถึง 89%
แต่ความสำเร็จในการพัฒนายาเม็ดต้านโควิดทั้งสองตัวใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ประชาชนในกลุ่มที่ไม่มั่นใจกับการฉีดวัคซีนอาจหันไปเลือกรับประทานยาเม็ดต้านไวรัสแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมสถานการณ์การระบาด โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ประชาชนไม่ควรสับสนระหว่างประโยชน์ของ ‘การรักษา’ กับ ‘การป้องกัน’
ความเสี่ยงจากการไม่เชื่อมั่นวัคซีน
- ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ สถานการณ์การระบาดของโควิดในสหรัฐฯ ที่ยังรุนแรง โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละหลายหมื่นคน และจนถึงตอนนี้ ประชากรอเมริกันในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้วมีประมาณ 72% โดยถือเป็นอัตราฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างช้า ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ระบุว่า สาเหตุมาจากกลุ่ม Anti-Vaxxer หรือกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน
- ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเร่งเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ โดยมีคำสั่งบังคับให้พนักงานในหน่วยงานรัฐและบริษัทต่างๆ ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจและมีการประท้วงเกิดขึ้น
- การมาของยาเม็ดต้านโควิดยิ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อในสหรัฐฯ หวั่นวิตกว่าแผนการฉีดวัคซีนอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งจากผลการสำรวจขั้นต้นในกลุ่มประชาชนกว่า 3,000 คน โดยโรงเรียนการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเมืองนิวยอร์ก บ่งชี้ว่า ยาเม็ดต้านโควิดอาจขัดขวางความพยายามในการทำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากประชาชน 1 คนในทุกๆ 8 คนที่สำรวจ เลือกที่จะรักษาโควิดด้วยยาเม็ด ดีกว่าเข้ารับการฉีดวัคซีน
- ดร.ปีเตอร์ โฮเตซ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาและจุลชีววิทยาระดับโมเลกุลแห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ ระบุว่า การมียารักษาที่ดีสำหรับผู้ติดเชื้อนั้นเป็นข้อดี แต่การพึ่งพิงยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียวนั้นค่อนข้างจะเป็นเดิมพันที่สูงและมีความเสี่ยง
- ด้านสำนักข่าว Reuters เผยแพร่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ 6 คน ซึ่งทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า ยาเม็ดต้านโควิดนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะมาทดแทนวัคซีนได้ โดยผลการศึกษาวิจัยของรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโควิดที่รุนแรงจะเกิดจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่วัคซีนจาก Pfizer/BioNTech ก็ยังให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและช่วยลดอาการป่วยหนักได้ถึง 86.8%
- กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังเผยว่า ประชาชนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนบางคนตอนนี้เลือกไปพึ่งยารักษาโควิดที่เรียกว่า Monoclonal antibody ซึ่งต้องฉีดเข้าร่างกายผ่านเส้นเลือดดำ โดยมั่นใจว่าจะช่วยลดอาการป่วยหนักได้ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อ
- ขณะที่ Reuters ยังสัมภาษณ์ อัลเบิร์ต บูร์ลา CEO ของ Pfizer ซึ่งมองว่า การเลือกไม่ฉีดวัคซีนโควิดนั้น “จะเป็นความผิดพลาดที่น่าสลดใจ” เนื่องจากยาเม็ดต้านโควิดนั้นใช้สำหรับการรักษาและสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ และ “ไม่ควรมีเหตุผลที่จะไม่ป้องกันตัวเองและทำให้ตัวเองและครอบครัว รวมถึงสังคม ตกอยู่ในอันตราย”
ความท้าทายของยาเม็ดต้านไวรัส
- ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า หนึ่งเหตุผลหลักที่ไม่ควรพึ่งพิงแต่ยาเม็ดต้านโควิดคือ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสนั้นจะหยุดการผลิตไวรัสในร่างกาย ซึ่งยาจะต้องถูกให้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ หลังติดเชื้อ เพราะการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิดในร่างกายนั้นมีหลายระยะ
- โดยในระยะแรกนั้นไวรัสจะเพิ่มจำนวนในร่างกายอย่างรวดเร็ว จากนั้นในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่ส่งผลกระทบเลวร้ายที่สุดต่อร่างกายคือ การตอบสนองของภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนไวรัส
“เมื่อคุณมีอาการหายใจลำบากหรือมีอาการอื่นๆ ที่อาจทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คุณอยู่ในระยะที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งยาต้านไวรัสไม่ได้ให้ประโยชน์มากมายนัก” ดร.เซลิน กานเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชาวอเมริกัน กล่าว
- ซึ่งความท้าทายที่สำคัญคือ การต้องเร่งให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากช่วงเวลาที่ไวรัสเปลี่ยนผ่านจากระยะการเพิ่มจำนวนไปสู่ระยะของการเกิดอาการอักเสบนั้นค่อนข้างรวดเร็ว
- ขณะที่ ดร.โฮเตซ ชี้ว่า การเกิดอาการอักเสบสำหรับผู้ติดเชื้อบางคนจะเกิดขึ้นเร็ว แต่บางคนจะเกิดขึ้นช้า ซึ่งในระยะแรกนั้นหลายคนจะมีอาการดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ โดยไม่รู้ว่าระดับออกซิเจนในร่างกายของพวกเขานั้นกำลังลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่า ระยะการเกิดอาการอักเสบจากการติดเชื้อนั้นกำลังเริ่มต้นขึ้น
“บ่อยครั้งที่คุณจะไม่ทราบว่าคุณกำลังป่วยจนกว่าจะสายเกินไป” เขากล่าว
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/covid-19-pills-are-coming-no-substitute-vaccines-disease-experts-say-2021-11-08/
- https://www.pfizer.com/news/press-release/press-release-detail/pfizers-novel-covid-19-oral-antiviral-treatment-candidate
- https://www.merck.com/news/merck-and-ridgebacks-investigational-oral-antiviral-molnupiravir-reduced-the-risk-of-hospitalization-or-death-by-approximately-50-percent-compared-to-placebo-for-patients-with-mild-or-moderat/