เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พร้อมด้วยคณะกรรมการและผู้บริหาร ร่วมกันแถลงข่าว 2 ปี การดำเนินงานของกรุงเทพธนาคม (เคที) ภายใต้นโยบายจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามแนวทาง ‘9 ด้าน 9 ดี’ ปลอดภัยดี โปร่งใสดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี สังคมดี เรียนดี และบริหารจัดการดี
โดยการบริหารงานที่ผ่านมา กรุงเทพธนาคมได้กำหนดนโยบายบริษัทสนับสนุนใน 3 ด้าน คือ โปร่งใสดี เดินทางดี และสิ่งแวดล้อมดี
FYI: ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหน่วยงานที่ กทม. ถือหุ้น 99.98% หรือเป็นวิสาหกิจของ กทม. หรือเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจควบคุมหรือกำกับของ กทม. ซึ่งถือเป็นส่วนราชการท้องถิ่น
ภารกิจของกรุงเทพธนาคมคือ การดำเนินกิจการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมทั้งบริหารจัดการกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่บริษัทได้พัฒนาขึ้น หรือที่ได้รับมอบหมายภารกิจหรือว่าจ้างโดยตรงจาก กทม. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและสาธารณะ
โปร่งใสดี
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้คณะกรรมการชุดปัจจุบัน (ตั้งเมื่อปี 2565) ได้มุ่งเน้นให้บริษัทมีหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. ควบคู่ไปกับการร่วมพัฒนาเมือง
โดยนำองค์กรเข้าเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) และเข้าร่วมโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือโครงการ ITAGC
เพื่อประเมินความโปร่งใสในโครงการกำจัดและเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ ที่ได้รับผลการประเมินระดับ AA ได้คะแนน 96.05 ในปี 2566 และในปี 2567 ในการประเมินโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม
อีกทั้งบริษัทยังปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ (TFRS for PAEs) เป็นมาตรฐานเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขในงบการเงินสามารถสะท้อนฐานะและผลการดำเนินงานของกิจการได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ
เดินทางดี
ธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้อำนวยการกรุงเทพธนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ชำระค่างานระบบเดินรถ (E&M) ของส่วนต่อขยาย 2 มูลค่า 23,312 ล้านบาท และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้ กทม. แล้ว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567
ส่วนที่ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ (O&M) ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 รวม 22,823 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ไป ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอผลการพิจารณาคดี
ในระยะสั้นบริษัทจะเร่งกระบวนการหารายได้เชิงพาณิชย์จากการให้สิทธิ์พื้นที่ป้ายโฆษณาและร้านค้าบนสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 เพิ่มเติมภายในปี 2567
ส่วนแผนการดำเนินงานต่อไป ธรัฐพรระบุว่า บริษัทจะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในภาพรวมของรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประชาชนผู้ใช้บริการ สนองนโยบายภาครัฐในการสร้างระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายให้สำเร็จได้
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงเทพธนาคมได้สรุปข้อมูลไว้ดังนี้
ส่วนหลัก
- เส้นทาง: อ่อนนุช-หมอชิต, สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน จำนวน 24 สถานี ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร
- จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 588,955 คน
- รูปแบบการก่อสร้างและดำเนินการ: งานโยธาและงานระบบ โดย BTSC
ปี 2535-2572: สัมปทานโดย BTSC
ปี 2573-2585: สัญญา O&M โดย BTSC, บริหารโดย KT
ประเด็นปัญหา
- ด้านธุรกิจและการเงิน: สัมปทานจะหมดปี 2572, จำนวนผู้โดยสารและรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการ
- ด้านกฎหมาย: ประเด็นสัญญา O&M ปี 2573-2585
- ด้านนโยบาย: ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
แนวทางดำเนินการและความคืบหน้า
- สัญญา O&M ปี 2573-2585 ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมทั้งฝ่าย กทม. และ BTSC คาดว่าจะได้แนวทางในปี 2568
- ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย กรุงเทพธนาคมรอดำเนินการตามนโยบาย
ส่วนต่อขยาย 1
- เส้นทาง: อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า จำนวน 11 สถานี ระยะทาง 12.75 กิโลเมตร
- จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 297,450 คน
- รูปแบบการก่อสร้างและดำเนินการ: งานโยธาและงานระบบโดย กทม.
ปี 2556-2585: สัญญา O&M โดย BTSC, บริหารโดย KT
ประเด็นปัญหา
- ด้านธุรกิจและการเงิน: จำนวนผู้โดยสารและรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการ
- ด้านกฎหมาย: ประเด็นสัญญา O&M ปี 2556-2585 และเคสหนี้ค่า O&M ที่รอคำตัดสินศาลปกครอง
- ด้านนโยบาย: ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
แนวทางดำเนินการและความคืบหน้า
- การหารายได้เชิงพาณิชย์เพิ่ม ดำเนินการจัดหาผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทั้งสื่อโฆษณาและพื้นที่เช่าในสถานีที่เหลือภายในปี 2567
- สัญญา O&M ปี 2556-2585 ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมทั้งฝ่าย กทม. และ BTSC คาดว่าจะได้แนวทางในปี 2568, หนี้ค่า O&M ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครอง
- ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย รอดำเนินการตามนโยบาย
ส่วนต่อขยาย 2
- เส้นทาง: หมอชิต-คูคต, แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ จำนวน 25 สถานี ระยะทาง 32 กิโลเมตร
- จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 277,306 คน
- รูปแบบการก่อสร้างและดำเนินการ: งานโยธาและงานระบบโดย กทม.
ปี 2560-2585: สัญญา O&M โดย BTSC, บริหารโดย KT
ประเด็นปัญหา
- ด้านธุรกิจและการเงิน: การชำระและส่งมอบงานระบบ E&M, จำนวนผู้โดยสารและรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการ และยังไม่มีรายได้เชิงพาณิชย์
- ด้านกฎหมาย: ประเด็นสัญญา O&M ปี 2559-2585 และเคสหนี้ค่า O&M ที่รอคำตัดสินศาลปกครอง
- ด้านนโยบาย: ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
แนวทางดำเนินการและความคืบหน้า
- การชำระและส่งมอบงานระบบ E&M สำเร็จครบถ้วนเดือนเมษายน 2567
- การหารายได้เชิงพาณิชย์ ดำเนินการจัดหาผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทั้งสื่อโฆษณาและพื้นที่เช่าในสถานีภายในปี 2567
- สัญญา O&M ปี 2556-2585 ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมทั้งฝ่าย กทม. และ BTSC คาดว่าจะได้แนวทางในปี 2568, หนี้ค่า O&M ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครอง
- ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย รอดำเนินการตามนโยบาย
สิ่งแวดล้อมดี
ในส่วนโครงการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ กทม. ธรัฐพรระบุว่า บริษัทให้บริการกับสถานพยาบาลกว่า 5,400 แห่ง น้ำหนักมูลฝอยเฉลี่ย 55 ตันต่อวัน ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาระบบการจัดการเพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 14000 รวมทั้งจะลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ทดแทนรถเก็บขนที่มีอยู่จำนวน 31 คัน
โดยโครงการใหม่ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กำลังพัฒนา ประกอบด้วย
- โครงการแอปพลิเคชันวินมอเตอร์ไซค์ เป็นแอปพลิเคชันโดยเฉพาะที่สนับสนุนและยกระดับคุณภาพของวินมอเตอร์ไซค์เพื่อการบริการที่ครอบคลุมทั่วถึง ขณะนี้ได้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหลักแล้ว คาดว่าจะเริ่มให้บริการเป็นการทั่วไปได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567
- โครงการเรือ Taxi EV Boat สร้างเส้นทางเดินเรือเพื่อการเดินทางทั่วไปและท่องเที่ยว เช่น คลองบางลำพู คลองลาดพร้าว เป็นเรือไฟฟ้า EV เพื่อช่วยในด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มโครงการนำร่องได้ในเดือนกรกฎาคม 2567
- โครงการระบบโต้ตอบ BKK Chat AI ในการบริการสาธารณะที่หลากหลาย ในการตอบสนองข้อซักถามต่างๆ ให้กับประชาชนแต่ละวันเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะเริ่มนำระบบ BKK Chat AI นี้มานำร่องทดสอบเบื้องต้นกับหน่วยงานภายใน กทม. ในเดือนสิงหาคม 2567