- “วันนี้ (16 มิถุนายน) ผมขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่าประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วันนับจากวันนี้” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายสำคัญผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (16 มิถุนายน)
- หากนับ 120 วันจากวันที่นายกฯ ประกาศ จะครบกำหนดวันที่ 13 ตุลาคม 2564 โดยเงื่อนไขสำคัญที่นายกฯ ประเมินไว้คือ “ต้นเดือนตุลาคมจะมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้วจำนวน 50 ล้านคน”
- เราลองมาเริ่มวิเคราะห์ความเป็นไปได้กันทีละประเด็น THE STANDARD ขอเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “จะฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ 50 ล้านคน ภายใน 120 วันทันหรือไม่”
- ล่าสุด ศบค. รายงานการฉีดวัคซีนประจำวันที่ 16 มิถุนายน (วันแรกของ 120 วันเปิดประเทศ) พบว่า ไทยฉีดวัคซีน ‘เข็มแรก’ สะสม 5,114,755 คน ดังนั้นจากนี้ไปต้องฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 377,187 คน ถึงจะครบ 50 ล้านคน ภายใน 120 วัน
- คำถามต่อมาคือ ฉีดวัคซีนเข็มเดียวป้องกันโควิด-19 ได้แค่ไหน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า การฉีดวัคซีนเข็มแรกป้องกันได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือการระบาดของสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย
- นพ.มานพ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติการใช้วัคซีน 2 ยี่ห้อคือ Pfizer และ AstraZeneca ในช่วงแรกๆ ที่วัคซีนมีน้อย อังกฤษใช้วิธีปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้มากที่สุด และเว้นระยะห่างระหว่างเข็มของ AstraZeneca ไปเป็น 4 เดือน ผลปรากฏว่าวัคซีนเข็มแรกของ Pfizer และ AstraZeneca มีประสิทธิผลป้องกันการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษในตอนนั้นอย่างดี จนอังกฤษสามารถทยอยเปิดเศรษฐกิจได้ตั้งแต่เฟส 1 และ 2
- ตัวแปรสำคัญคือสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ที่พบว่า การป้องกันของวัคซีนเข็มแรกมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมาก อังกฤษต้องปรับแผนการฉีดวัคซีนใหม่ โดยลดการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มของ AstraZeneca ลงจาก 4 เดือน เหลือ 2 เดือน และต้องเลื่อนการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเฟสที่ 3 ออกไป
- นพ.มานพกล่าวว่า จากกรณีศึกษาของต่างประเทศ เมื่อเริ่มพบสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ในประเทศนั้นๆ จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน มันจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยเราพบสายพันธุ์นี้โดยบังเอิญจากการสุ่มตรวจพันธุกรรมเชื้อของแคมป์คนงานก่อสร้างกลางเมืองหลวง หมายความว่า สายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาดเล็กๆ ในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว
- สิ่งที่ต้องพิจารณาคือตัวแปรของการระบาดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งหากกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย เราจะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นวันละ 3,000-4,000 คนต่อวัน (จากเดิม 2,000-3,000 คนต่อวัน) ซึ่งจะกระทบต่อเป้าหมายการเปิดประเทศ 120 วันของนายกฯ ที่ตั้งอยู่บนฐานการได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียวอย่างแน่นอน ยังไม่นับว่าวัคซีนหลักอีกตัวที่ใช้ในประเทศไทยคือ Sinovac ซึ่งมีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อในเข็มแรกต่ำมาก
- ประเด็นต่อมาคือ ‘ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ’ ถ้าสมมติว่าสามารถเปิดประเทศได้ภายใน 120 วันจริง จะเกิดผลทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน
- ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บอกกับ THE STANDARD ว่า เราค่อนข้างสงสัยว่า ด้วยภาวะในปัจจุบัน การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติแน่ๆ วันนี้เราเห็นแล้วว่ายุโรปเปิด สหรัฐอเมริกาเปิด แต่การเดินทางระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ ก็ยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ คำถามคือ ถ้าเราเปิดแล้วจะมีใครมาหรือเปล่า จะเป็นคำถามที่สำคัญมาก
- ประเด็นที่สอง ถ้าเราดูว่าตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทยก่อนเกิดโควิด-19 คือนักท่องเที่ยวจีน แต่วันนี้สังเกตจีนเงียบมาก เข้าใจว่าฉีดวัคซีน 40% ของประชากร และเริ่มบอกว่าต้องการวัคซีนชนิดอื่น ต้องการ mRNA เพื่อป้องกันสายพันธุ์อื่น ถ้าเกิดเขายังเฝ้าระวังแบบนี้ ไม่มีทางที่เขาจะปล่อยให้คนของเขาออกมาเที่ยวต่างประเทศได้
- KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่า จีนมีนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศในระยะยาว ทำให้คาดว่าในปี 2022 นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักจะยังไม่กลับเข้ามาเที่ยวในไทยปีหน้า และทำให้ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าที่ 5.8 ล้านคน เทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน
- KKP Research มองอีกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาจนปี 2023 โดยมองว่าแม้จะเปิดประเทศได้จริงในเดือนตุลาคม แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาได้เพียง 160,000 คนเท่านั้นในปี 2021 พร้อมปรับการประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2021 จากการเติบโตที่ 2.2% เหลือ 1.5% และยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่านี้ หากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมได้ หรือมีการระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต
- THE STANDARD สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และด้านเศรษฐกิจทั้งสองท่านไม่พร้อมกัน แต่ นพ.มานพ และ ดร.พิพัฒน์ ยกคำพูดเดียวกันของ ดร.แอนโทนี เฟาชี ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญของสหรัฐฯ ว่า “You don’t make the timeline, The virus makes the timeline” เราไม่สามารถกำหนดไทม์ไลน์ได้ เพราะเรายังควบคุมไวรัสไม่ได้ สิ่งที่ประเทศอื่นๆ ทำคือ กำหนดเป้าหมายที่เราควบคุมได้ คือเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้คนในประเทศ เพราะนี่คือสิ่งที่เรากำหนดได้หากรู้จักวางแผน Risk Management ที่ชัดเจน
- เมื่อเป้าหมายด้านวัคซีนบรรลุผล แต่ละประเทศถึงใช้ปัจจัยนี้ค่อยๆ เปิดระบบเศรษฐกิจเป็นระยะๆ ไม่ใช่การตั้งเป้าแบบเจาะจงนับถอยหลังเปิดประเทศ โดยที่ยังไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ข้างหน้าได้เลย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล