ระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา
สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มคนต่างชาติที่มีสิทธิขอได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยกำหนดวิธีการนำเงินมาลงทุนตามประเภทของธุรกิจหรือกิจการว่า
กลุ่มคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ที่สามารถได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย คือ 1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
มีการกำหนดจำนวนเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง ซึ่งเป็นพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
อีกทั้งมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใดไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
สำหรับร่างกฎหมายนี้ รัฐบาลได้แจ้งวัตถุประสงค์ว่า ดำเนินไปเพื่อการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยมากขึ้น ในการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด และสภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ และร่างกฎกระทรวงฯ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ย้อนไทม์ไลน์ รัฐบาลไหนผ่านกฎหมายต่างชาติถือครองที่ดิน
ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีรายงานสรุปไทม์ไลน์ที่ผ่านมา รัฐบาลใดบ้างที่เคยผ่านกฎหมายที่ดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดิน
ปี 2497
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้ ตามเกณฑ์ดังนี้
- ที่อยู่อาศัย ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่
- ที่ใช้เพื่อพาณิชยกรรม ไม่เกิน 1 ไร่
- ที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรม ไม่เกิน 10 ไร่
- ที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม ครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่
- ที่ใช้เพื่อการศาสนา ไม่เกิน 1 ไร่
- ที่ใช้เพื่อการกุศลสาธารณะ ไม่เกิน 5 ไร่
- ที่ใช้เพื่อการสุสาน ตระกูลละไม่เกิน 1/2 ไร่
รวมถึงออกกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 8 และฉบับที่ 10 พ.ศ. 2497 เพื่อตามออกประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497
ปี 2514
รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินเพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยระบุถึงกรรมสิทธิ์การถือครองของเอกชนเพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมในมาตรา 65 และกำหนดนิยามของบริษัทในมาตรา 4 ครอบคลุมทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ
ปี 2520
รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 อนุญาตให้ต่างชาติผู้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) สามารถถือครองที่ดินได้ โดยกำหนดในมาตรา 27 หมวด 3
ปี 2522
รัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โดยในมาตรา 6 อนุญาตให้ต่างชาติสามารถเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้
ปี 2542
รัฐบาลชวน หลีกภัย ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2542 เพิ่มมาตรา 96 ทวิ และมาตรา 96 ตรี เพื่อกำหนดคุณสมบัติชาวต่างชาติผู้มีการลงทุนในประเทศไทย และลักษณะพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครอง ตลอดจนอำนาจในการเพิกถอนสิทธิของรัฐ
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติผู้มาลงทุน จะต้องลงทุนในประเทศไทย, เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท และไม่น้อยกว่า 5 ปี และที่ดินที่ถือครองจะมีขนาดไม่เกิน 1 ไร่ และต้องอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยเท่านั้น
ปี 2545
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ออกกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ พ.ศ. 2545 กฎกระทรวงฯ ฉบับนี้เป็นการออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2542 กำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งคล้อยตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2542
ปี 2551
รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2551 โดยมี สุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนาม ในประกาศอนุญาตให้นิติบุคคลผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ถือครองที่ดินได้
- ที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานของกิจการ BOI ถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกิน 5 ไร่
- ที่ดินสำหรับเป็นที่พักอาศัยของผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ ถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกิน 10 ไร่
- ที่ดินสำหรับเป็นที่พักอาศัยของคนงาน ถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกิน 20 ไร่
ปี 2565
รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบร่างกฎกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปรับปรุงจากกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ พ.ศ. 2545 และคล้อยตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2542
อีกทั้งร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้เพียงปรับปรุงคุณสมบัติชาวต่างชาติผู้มาลงทุนและมีสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป แต่กรอบวงเงินการลงทุน ลักษณะการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน ขนาดที่ดิน และเขตที่ดินยังคงเดิม
ประมวลท่าทีหลัง ครม. ประยุทธ์ คลอดกฎกระทรวงฯ
เมื่อกฎหมายนี้ได้ผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 25 กันยายน จึงเกิดปรากฏการณ์จากหลากหลายฝ่ายที่มองว่า ‘รัฐบาลขายชาติ’ หรือ ‘รัฐบาลขายแผ่นดิน’ จากกฎหมายดังกล่าว THE STANDARD รวมความคิดเห็นอันหลากหลายจากบุคคลทางการเมืองและนักธุรกิจ ต่อกรณีการอนุมัติให้คนต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทยได้
กระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้เสนอร่างนี้เข้าสู่การประชุม ครม. ได้ชี้แจงว่า ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ได้เพิ่มเติมหลักการในส่วนประเภทการลงทุน และระยะเวลาการดำรงการลงทุน อันแตกต่างไปจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ พ.ศ. 2545 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
ร่างกฎกระทรวงฯ นี้มีเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้มีการลงทุนที่หลากหลายขึ้น และมีมาตรการที่จะช่วยดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนภายในประเทศมากขึ้น
เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด และสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 14 กันยายน 2564 และวันที่ 24 มกราคม 2565
ประยุทธ์เผยอยู่ในกฤษฎีกา ปรับเปลี่ยนได้
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานการประชุม ครม. กล่าวหลังจากมีเสียงวิจารณ์และคัดค้านว่า “ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องรับฟังความคิดเห็นอีก มีอะไรก็ปรับ เปลี่ยนแปลงได้” จากนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมเพิ่มเติม เพราะชี้แจงไปแล้ว
กฤษฎีกาเปิดรับฟังความเห็น 15 วัน ก่อนส่งกลับ ครม.
ส่วนท่าทีของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ผ่าน ครม. ได้ส่งมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และจะนำขึ้นสู่เว็บไซต์กลางของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
เมื่อนำร่างฯ กลับมาให้ ครม. พิจารณาทางกฤษฎีกา โดยปกติขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยมาก จะมีหนังสือตอบเป็นข้อสังเกต และนำเข้า ครม. อีกครั้ง ส่วนรัฐบาลจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย
“แม้จะแก้กฎกระทรวงฯ ส่วนนี้ ก็ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อที่ดิน เพราะวิธีคิดของต่างชาติและคนไทยต่างกัน คนไทยชอบระบบกรรมสิทธิ์ คนไทยชอบเป็นเจ้าของ แต่ฝรั่งชอบเช่าระยะยาว…ที่ดินโอนไปไหนไม่ได้ ยกไปไหนไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ต่างชาติซื้อ ปัญหาอยู่ที่แลนด์ลอร์ดคนไทย ถือที่ดินเป็นหมื่นๆ พันๆ ไร่ ทำไมไม่กระจายให้เป็นธรรม ต้องจัดการที่ต้นเหตุ ดีกว่าไปเล่นคำว่าขายชาติ”
อนุทินขอดูรายละเอียดก่อน
ส่วนท่าทีของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มองกรณีร่างกฎกระทรวงฯ นี้ว่า ต้องดูรายละเอียด เพราะมีเยอะแยะไปหมด เราต้องดูว่าเทรนด์โลกเป็นอย่างไร ประโยชน์ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร
“ต่อให้เขาเป็นเจ้าของ เขาก็ยกที่ดินตรงนี้เอากลับบ้านไปไม่ได้ เราก็ต้องพิจารณาว่าเราได้อะไรจากเขาบ้าง ไม่ใช่ว่าเขามาซื้อที่ดินแล้วสามารถทำประโยชน์คนเดียวได้เลย โดยเราไม่คิดถึงคนในชาติเลยก็ไม่ใช่ มันมีรายละเอียดเยอะแยะไปหมด เราก็ไปดูตรงนี้ก่อน” อนุทินระบุ
วิษณุชี้หากกระแสต้านมาก รัฐบาลพร้อมถอย
ส่วน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เนติบริกรของรัฐบาล กล่าวว่า แม้ ครม. จะมีมติอนุมัติในหลักการไปแล้ว แต่ยังสามารถทบทวนร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวได้ จากนี้ ครม. จะต้องส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วต้องส่งกลับมาที่ ครม. อีกครั้ง ส่วนที่มีการเสนอความคิดเห็นต่างๆ เข้ามาก็สามารถเสนอเข้ามาได้
วิษณุกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่องการให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทย จะเป็นปัญหามาตลอด ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ พ.ศ. 2531 ต่อมา พ.ศ. 2545 ก็ได้มีการร่างกฎกระทรวงฯ ออกมาในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติที่มีเงินลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไปสามารถเข้ามาซื้อที่ดินได้คนละไม่เกิน 1 ไร่ เพื่อการอยู่อาศัย
วิษณุกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องใช้นอมินี หรือบางคนปลอมแปลงคุณสมบัติตัวเองเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อมีสิทธิซื้อที่ดินในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวว่า เรื่องนอมินีมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2470 จึงทำให้เกิดปัญหา ยกตัวอย่าง กรณีหญิงไทยมีสามีเป็นชาวต่างชาติ แล้วสามีให้ภรรยาชาวไทยเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนด้วยเงินของสามี อย่างนี้ก็เรียกว่านอมินีอีกชนิดหนึ่ง
“ถ้ามีกระแสต้านเข้ามามาก รัฐบาลก็จะนำมาพิจารณา แต่ก็มีทั้งเสียงเรียกร้องและเสียงคัดค้าน” วิษณุกล่าว
หอการค้าฯ เตรียมศึกษาผลกระทบ
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เตรียมจ้างสถาบันที่เชี่ยวชาญมาศึกษาผลกระทบ ทั้งผลดี ผลเสียที่จะเกิดขึ้น จะได้วางกรอบการศึกษาไว้ว่าต้องการให้ศึกษาอะไรบ้าง คาดว่าภายในปลายปี 2565 จะรับรู้ข้อมูลทั้งหมด แล้วหอการค้าไทยจะเสนอผลศึกษาให้กับรัฐบาลรับทราบต่อไป
“กรอบที่มอบหมายให้คณะทำงานและสถาบันที่จะรับไปศึกษานั้น เช่น ผลดี ผลเสีย ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับคนไทย แนวทางการปฏิบัติของแต่ละประเทศ เพื่อนำเป็นข้อมูล โดยจะต้องดูในภาพรวมทั้งหมด คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเห็นความชัดเจน และพร้อมเสนอให้กับรัฐบาลรับทราบต่อไป
“การดำเนินการของรัฐบาลครั้งนี้มีความตั้งใจดี และมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะมีการชะลอตัว ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของประเทศไทย ก็จำเป็นจะต้องหาช่องทางเพื่อดึงดูดการลงทุนให้มากที่สุด…”
เพื่อไทยห่วงอนาคตลูกหลาน
ขณะที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลและไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯ ที่รัฐบาลจะออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้คนต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ เนื่องจากการถือครองที่ดินของคนต่างชาติจะมีผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยอย่างกว้างขวาง แทนที่จะคำนึงถึงการช่วยเหลือคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเองในปัจจุบัน
ในอนาคตที่ลูกหลานเติบโตขึ้นมาจะต้องซื้อบ้านและที่ดินในราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจากกลไกการตลาดเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เนื้อหาของกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2545 ในเรื่องเดียวกันนั้นมีเนื้อหาที่เข้มงวดและกำหนดเงื่อนไขที่คนต่างชาติซื้อที่ดินได้ยากกว่า
สมคิดไม่ค้าน แต่ไม่คิดทำนโยบายแบบนี้
ขณะที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย แสดงความคิดเห็นว่า การอนุญาตให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้ เป็นความคิดแบบนี้มีมานานหลายสิบปีแล้ว ทุกครั้งที่มีความคิดเหล่านี้ออกมาก็จะมีผู้คนต่อต้าน
ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นไปได้ ส่วนใหญ่ในพื้นที่เยาวราชมีแต่คนจีนอาศัยอยู่และมีกำลังทรัพย์จำนวนมาก หากรักษาได้ควรพยายามรักษาไว้ให้ยาวที่สุด เป็นการให้เช่าระยะยาว ให้สิทธิประโยชน์พิเศษ
“ผมไม่ได้ต่อต้าน แต่เป็นเรื่องของนโยบายของแต่ละคน แต่ละพรรค เพียงแต่ว่าจะทำอะไรก็ขอให้ทำด้วยความรอบคอบ พยายามปรึกษาชาวบ้านดู แต่พรรคสร้างอนาคตไทยยังไม่มีนโยบายอย่างนี้ เพราะนโยบายพรรคจะให้สิทธิประโยชน์พิเศษหลายๆ ด้าน เพื่อส่งเสริมนักลงทุนเข้ามา”
สร้างอนาคตไทย 25 คน ร่อนจดหมายคัดค้าน
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และประธานภาคใต้ ยื่นจดหมายเปิดผนึกและรายชื่อสมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย 25 คน ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้ยกเลิกมติ ครม. ในการขายที่ดินให้ต่างชาติ
พร้อมให้ความเห็นว่า ในขณะที่ประชาชนคนไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนยากจน การให้ต่างชาติเข้ามามีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินของประเทศจะสร้างความสะเทือนใจ และสร้างความแตกต่างระหว่างวิถีชีวิตคนรวยซึ่งเป็นคนต่างชาติกับคนจนสัญชาติไทยที่เป็นเจ้าของประเทศ โดยเห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเปิดช่องทางให้ต่างชาติเข้ามาถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของประเทศได้ง่ายขึ้น
ศรีสุวรรณจ่อร้องศาลปกครองสูงสุด
ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตนจะเดินทางไปศาลปกครองสูงสุด เพื่อยื่นฟ้อง ครม. ฐานใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ กรณีมีมติให้คนต่างด้าว-ต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยได้
เนื่องจากทรัพยากรที่ดินเป็นทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด มีพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเพียง 16.52 ล้านไร่ เราต้องหวงแหนรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา เพราะไม่สามารถหาเพิ่มใหม่ได้ มีแต่จะหมดลง ถ้าปล่อยให้ผู้มีอำนาจกระทำการใดๆ โดยอำเภอใจ ซึ่งการปล่อยให้ต่างชาติครอบครองที่ดินในไทยได้
ศรีสุวรรณระบุอีกว่า กฎหมายนี้จะส่งผลร้ายต่อคนไทย ประเทศจะสูญเสียอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย จนไม่เหลืออะไรให้กอบกู้ไว้เป็นสมบัติแผ่นดิน ทุกอย่างจะเป็นของต่างชาติ ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ของนายทุน และผู้มีอำนาจในและต่างประเทศ คนธรรมดา คนจนในประเทศที่มีมากกว่า 90% จะหมดสิทธิ์ แล้วเราจะปล่อยให้ผู้มีอำนาจนำแผ่นดินของชาติไปขายโดยอ้างการกระตุ้นเศรษฐกิจ