อัปเดต! ธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ ปรับลดหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเท่าไรแล้วบ้าง ตั้งแต่ต้นปี (YTD) หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (11 ต่อ 1) ให้ลดดอกเบี้ยลง 50 bps สู่ระดับ 4.75-5.00% ตามที่ตลาดคาด ท่ามกลางสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มทรงตัว และตลาดแรงงานเริ่มอ่อนแอลง
จากการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ต้นปี ธนาคารกลางหลายประเทศกำลังเริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว หลังอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเริ่มชะลอ ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง
โดยตั้งแต่ต้นปี ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปถึง 85 bps สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นมา 35 bps แล้ว สู่ระดับ 0.25% จากต้นปีที่ติดลบ 0.10% เนื่องมาจาก BOJ มั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้นท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยน
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายธนาคารกลางที่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ขณะที่ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา