จากกระแสหุ้น ไอพีโอ ของ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์แพรส (KEX) ซึ่งเคาะราคาขายหุ้นไอพีโอที่ 28 บาท พร้อมเปิดให้นักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศแสดงความต้องการจองซื้อเข้ามาแล้ว พบว่ามียอดจองล้นกว่า 23 เท่า โดยหุ้นไอพีโอของ Kerry จะเข้าซื้อขายวันแรกในวันที่ 24 ธันวาคม 2563
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การเข้ามาของหุ้น Kerry Express ซึ่งจากราคาไอพีโอคิดเป็นค่า P/E ปี 2564 ประมาณ 30 เท่า ทำให้นักลงทุนอาจเปรียบเทียบและมองหาหุ้นข้างเคียงซึ่งทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และยังซื้อขายที่มูลค่าต่ำกว่า
โดยกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจหากเกิดกรณีดังกล่าว คือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โลจิสติกส์ ซึ่งหุ้นอย่าง บมจ.เจดับเบิลยูดี (JWD) ปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ปี 2564 ราว 22 เท่า และมีปัจจัยหนุนจากธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทลูกของปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติม
รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่ยังประเมินมูลค่าไม่ได้แต่มีนัยสำคัญ เกี่ยวกับการขนส่งวัคซีนโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นกลุ่มรายได้หลักในระยะยาวของ JWD ปัจจุบัน JWD อยู่ระหว่างศึกษาและเจรจากับพันธมิตรในกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความต้องการจะลงทุนในส่วนนี้เอง ทำให้ JWD มีโอกาสและมีความพร้อมทั้งคลังเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำสุดได้ถึง -40 องศา และรถขนส่งที่ -18 องศา ซึ่งปรับปรุงอุณหภูมิให้เป็นไปตามความต้องการได้ไม่ยาก และมีความโดดเด่นเรื่องการขนส่งแบบทันเวลา (Just in time)
ขณะเดียวกัน Kerry น่าจะทำให้กระแสของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบรรจุภัณฑ์ยังคงคึกคักต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหุ้นใหญ่ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อย่าง บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เพิ่งเข้าจดทะเบียน ปัจจุบันราคาหุ้นขยับขึ้นมาซื้อขายราว 18-19 เท่า นอกจากนียังมีหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มอย่าง บมจ.เอ.เจ.พลาสท์ (AJ) ปัจจุบันยังซื้อขายที่ P/E 11-12 เท่า และมีปัจจัยหนุนจากการร่วมทุนกับ SCC เพื่อขยายธุรกิจไปในเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสายการผลิตได้ในปี 2565
“เมื่อมีบริษัทที่เป็นกระแสเข้าตลาด เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะมีการเปรียบเทียบระหว่างหุ้นใหม่กับหุ้นอื่นๆ ภายในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งนักลงทุนบางส่วนที่อาจจะตกรถ และไม่ได้ซื้อหุ้นไอพีโอ ก็อาจจะหันมองหุ้นอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน และยังซื้อขายด้วยมูลค่าที่ต่ำกว่า”
อย่างในปีนี้ จะเห็นว่าหุ้นกลุ่มลิสซิ่งเข้าซื้อขายหลายบริษัท และปรับตัวขึ้นได้ค่อนข้างดี อาทิ บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) และ บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) ทำให้ราคาหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มได้รับความสนใจมากขึ้น อาทิ บมจ.ฐิติกร (TK) ซึ่งราคาหุ้นปรับขึ้นจากราว 7 บาท มาเป็นเกือบ 9 บาท
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์การไล่ซื้อหุ้นอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน อาจจะมีบ้างในระยะสั้น หากหุ้นใหม่เข้ามาด้วยความร้อนแรงจนมูลค่าสูงขึ้นมาก นักลงทุนบางส่วนอาจจะเข้าเก็งกำไรในหุ้นผู้ตาม (Laggard) แต่สุดท้ายปรากฏการณ์ดังกล่าวจะไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ ความน่าสนใจของอุตสาหกรรมนั้นๆ ว่ามีแนวโน้มจะเติบโตยั่งยืนเพียงใด และพื้นฐานเฉพาะตัวของแต่ละบริษัท
“หากสองปัจจัยดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ ก็อาจจะเห็นแค่การเก็งกำไรระยะสั้น หากหุ้นตัวรองไม่ได้มีปัจจัยอะไรที่น่าสนใจ แม้ราคาหุ้นจะถูก แต่นักลงทุนอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจ และก็ไม่แน่เสมอไปว่านักลงทุนจะให้ความสนใจกับหุ้นกลุ่มรอง หากหุ้นที่เข้ามาใหม่เป็นผู้นำในตลาด มีส่วนแบ่งตลาดสูง และมี Barriers to entry นักลงทุนอาจจะยังเข้าโฟกัสแค่หุ้นผู้นำ แม้ราคาจะขยับขึ้นสูงแล้วก็ตาม”
ด้าน จิตเกษม หมู่มิ่ง ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บมจ.วีจีไอ (VGI) เปิดเผยว่า หลังจาก Kerry เข้าซื้อขายแล้ว สัดส่วนการถือหุ้นของ VGI ในหุ้น KEX จะลดลงเหลือ 19% จากเดิม 23% ทั้งนี้ VGI ยืนยันว่าจะยังคงถือหุ้น KEX และคงฐานะเป็นบริษัทร่วมเช่นเดิม เพราะเป็นธุรกิจที่ช่วยเสริมธุรกิจหลักของบริษัท
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์