Ken Rogoff อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความเห็นระหว่างเข้าร่วมรายงานกับทางสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะจัดการคลี่คลายภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบอย่างภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หรือหากสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ หมายความว่า Fed ต้องมีแต้มบุญที่สูงมากๆ
Rogoff กล่าวว่า Fed จำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องระหว่างเงินเฟ้อกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่ง Fed มีแนวโน้มที่จะเลือกจัดการกับเงินเฟ้อมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรายนี้กล่าวอีกว่า รู้สึกโกรธเคืองขุ่นข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น
Rogoff ชี้ว่า สหรัฐฯ เหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่บันยะบันยังมานานเกินไป
นอกจากนี้ Rogoff ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสงครามในยูเครน ที่ทำให้วิกฤตเงินเฟ้อซับซ้อนมากขึ้น และเป็นความท้าทายที่ใหญ่กว่าที่ Fed คิดไว้
ทั้งนี้ Rogoff กล่าวปิดท้ายด้วยการแนะว่า Fed ควรจะทำใจให้สบาย และปล่อยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงอีก 2-3 ปี และค่อยๆ จัดการปรับลดเงินเฟ้อแบบค่อยเป็นค่อยไป แทนการใช้ยาแรงที่แม้จะทำให้เงินเฟ้อลงเร็ว แต่ก็ต้องแลกกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่ง Rogoff ยอมรับว่าข้อเสนอของตนไม่มีทางเป็นไปได้ง่ายๆ
ในส่วนของความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินในรอบสัปดาห์นี้ เงินเฟ้อยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ โดยนักลงทุนจับตาข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขล่าสุดในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายนน่าจะสูงกว่าที่คาดไว้ และสูงกว่าอัตราเดิมที่ 8.6% ในเดือนพฤษภาคม
ขณะเดียวกันรายงานผลประกอบการบริษัทประจำไตรมาสที่ 2 ของบริษัทชั้นนำในตลาดจะเริ่มมีการเผยแพร่ออกมา โดยผลประกอบการของ PepsiCo เป็นรายงานหลักฉบับแรกของสัปดาห์ในวันอังคาร และ Delta Air Lines รายงานในวันพุธ ส่วน JPMorgan Chase และ Morgan Stanley เริ่มฤดูกาลรับรายได้ของธนาคารในวันพฤหัสบดี และ Wells Fargo, Citigroup และ PNC Financial ตามมาในวันศุกร์
Peter Boockvar หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Bleakley Advisory Group กล่าวว่า พาดหัวหน้าหนึ่งของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในขณะนี้ก็คือเงินเฟ้อ และปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งก็คือพลังงาน
นอกจากนี้ยังมีดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมิถุนายนในวันพฤหัสบดี และนักลงทุนกำลังจับตาดูรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในวันศุกร์ในเดือนกรกฎาคมอย่างใกล้ชิด รายงานดังกล่าวประกอบด้วยความคาดหวังของผู้บริโภคเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ Fed จับตามอง ยอดขายปลีกในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการวัดผู้บริโภคอีกอย่างหนึ่งก็ออกในวันศุกร์เช่นกัน
สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับปรับขึ้นในแดนบวก นำโดยดัชนี S&P 500 ที่ขยับขึ้น 1.9% มาอยู่ที่ 3,899 จุด และดัชนี Nasdaq ที่ตลอดสัปดาห์เพิ่มขึ้น 4.5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรบัตรอายุ 2 ปี ดังนั้นจึงเกิดสภาพการณ์ที่เรียกว่า Inverted Yield Curve ซึ่งบ่อยครั้งมักเป็นสัญญาณระบุเศรษฐกิจถดถอย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีอยู่ที่ 3.07% ส่วนอายุ 2 ปีอยู่ที่ 3.11%
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/07/08/economy/inflation-fed-recession/index.html
- https://www.cnbc.com/2022/07/08/another-hot-inflation-report-q2-earnings-make-for-difficult-week-ahead.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP