×

เคน นครินทร์ เปรียบประเทศไทยกับขบวนรถไฟ 5 ชั้น แบ่งเป็น 4 ช่วงรัฐบาล เชื่อคนทั้ง 5 โบกี้อยู่ร่วมกันได้ตามค่านิยมประชาธิปไตย

โดย THE STANDARD TEAM
14.10.2023
  • LOADING...
ปาฐกถา 50 ปี 14 ตุลา

วันนี้ (14 ตุลาคม) ที่อนุสรณ์สถาน (แยกคอกวัว) ถนนราชดำเนินกลาง นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD ผู้จัดพอดแคสต์ The Secret Sauce ร่วมรำลึก 50 ปี 14 ตุลา โดยปาฐกถาในหัวข้อ ‘50 ปี 14 ตุลา: อำนาจ เวลา ประชา โลกร้อน และแชตจีพีที’

 

นครินทร์ได้เปรียบประเทศไทยกับขบวนรถไฟ 5 ชั้นตอนหนึ่งว่า ขออนุญาตพาทุกคนขึ้นรถไฟขบวนพิเศษที่ชื่อว่าประเทศไทย รถไฟขบวนนี้มีทั้งหมด 5 โบกี้ แต่ละโบกี้มีผู้โดยสารเป็นประชาชนคนไทย แบ่งแยกตาม ‘กลุ่ม’ หรือ ‘พลัง’ ตามที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยจำแนกไว้ในปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 2562

 

กลุ่มหรือพลังดังกล่าว ประกอบด้วย

 

  1. ฝ่ายสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย 
  2. ฝ่ายข้าราชการ สถาบันทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารบก 
  3. ฝ่ายเงินทุน นักธุรกิจ นายทุน 
  4. ฝ่ายชนชั้นกลาง และสื่อมวลชน 
  5. ฝ่ายมวลชน และพระสงฆ์ 

 

โดยจะแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา โดยยึดจาก ‘ความมั่นคง’ ของรัฐบาลและระบอบการปกครอง ตามที่ อะกิระ ซุเอะฮิโระ เขียนไว้ในหนังสือ การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด: เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ดังนี้

 

ช่วงที่ 1: รัฐบาลมั่นคง และระบอบการปกครองมั่นคง (ปี 2490-2531)

 

ช่วงที่ 2: รัฐบาลไม่มั่นคง แต่ระบอบการปกครองมั่นคง (ปี 2531-2544)

 

ช่วงที่ 3: รัฐบาลมั่นคง แต่ระบอบการปกครองไม่มั่นคง (ปี 2544-2549)

 

ช่วงที่ 4: รัฐบาลไม่มั่นคง และระบอบการปกครองไม่มั่นคง (ปี 2549 – ปัจจุบัน)

 

หากเปรียบประเทศไทยเป็นรถไฟ ในขณะที่เรากำลังเคลื่อนไปข้างหน้า มีรถไฟอีกหลายขบวน หลายประเทศที่กำลังมุ่งหน้าไปพร้อมๆ กับเรา บ้างนำหน้าไปไกล บ้างจ่อท้ายมาติดๆ จุดหมายปลายทางของทุกขบวนนั้นไม่ต่างกัน คือการยกระดับประเทศให้พัฒนา นำพาผู้โดยสารซึ่งในที่นี้ก็คือประชาชน ไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คล้ายกับเป้าหมายของธนาคารโลก (World Bank) ที่ว่า ‘To end extreme poverty and to promote shared prosperity’

 

แน่นอนว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนหัวรถจักรคือรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศในแต่ละช่วงเวลา หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือคนที่มีส่วนในการบริหาร ‘อำนาจทางการเมือง’ โดยตรง 

 

เบื้องต้นหากพิจารณาตามฉากทัศน์ที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิเคราะห์ไว้ในปาฐกถาเมื่อปี 2562 ว่า การต่อสู้ในช่วงเวลาถัดจากนี้ระหว่าง 1. ตัวแทนของเครือข่ายอำนาจเดิม บารมีเดิม เงินทุนเดิม ความคิดเดิม ชนชั้นเดิม กับ 2. ตัวแทนของเครือข่ายอำนาจใหม่ บารมีใหม่ เงินทุนใหม่ ความคิดใหม่ ชนชั้นใหม่ 

 

มีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ 3 แบบ คือ

 

  1. เสมอกัน 
  2. ฝ่ายเดิมชนะ
  3. ฝ่ายใหม่ชนะ

 

ข้อสังเกตถัดมา เห็นว่าการต่อสู้ทางอำนาจที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษ ระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็น ‘แบบไทยๆ’ หรือ ‘แบบครึ่งใบ’ นั้น เป็นเพียงฉากสมมติที่ผู้มีอำนาจตัวจริงเล่นละครตบตาให้เห็นเป็นครั้งคราวว่า ‘อำนาจ’ เป็นสิ่งที่สามารถต่อรองและแบ่งสรรกันได้ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วการจัดสรรและควบคุมอำนาจนำดังที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้น เป็นไปในลักษณะของ ‘Winner Takes All’ เท่านั้น ไม่มีการแบ่งหรือจัดสรรอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีแต่ขาวกับดำ ศูนย์กับหนึ่ง ซ้ายกับขวา

 

เมื่อมองด้วยมุมของหลักนิติธรรมในรถไฟขบวนที่ชื่อว่าประเทศไทยในรอบศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากจะไม่พัฒนาไปในทางที่ควรจะเป็น นับวันกลับยิ่งสะท้อนให้เห็นความบิดเบี้ยวมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

แต่ในทางกลับกัน นั่นหมายความว่ากาลเวลาย่อมสามารถเปลี่ยนคนที่เคยมีแนวคิดเก่า วิสัยทัศน์แบบเก่า ให้เป็นคนที่มีแนวคิดใหม่ วิสัยทัศน์ใหม่ ได้เช่นกันใช่หรือไม่ ถ้าใช่ แล้วทางออกหรือวิธีการคืออะไร คำตอบอยู่ที่อำนาจสุดท้าย ซึ่งคิดว่าเป็นอำนาจที่มีอานุภาพมากที่สุด นั่นคืออำนาจของปัญญา

 

ในเมื่อประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงอำนาจทั้ง 3 แกนหลักได้อย่างที่ควรจะเป็น เห็นว่าหนทางเดียวที่เป็นไปได้คือ ต้องเพิ่มอำนาจที่ทรงพลังที่สุดที่ทุกคนมีอยู่ในมือ นั่นคืออำนาจของปัญญา

 

ในฐานะสื่อมวลชน ภารกิจที่เรายึดมั่นเสมอมาคือการทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ช่วยเสริมสร้างและบ่มเพาะปัญญาเพื่อให้คนตื่นรู้ รู้เท่าทันการใช้อำนาจที่ไม่ชอบมาพากล ไม่จำนนต่อความไม่ปกติ เพื่อหยุดยั้งวงจรอุบาทว์อย่างที่เคยเป็นมา 

 

สิ่งสำคัญคือกระบวนการเช่นนี้ต้องอาศัยเวลา ไม่สามารถล้มล้าง รื้อถอน ปฏิรูป และปฏิวัติได้ภายในชั่วข้ามคืน ไม่สามารถใช้การประจันหน้า ห้ำหั่น ฟาดฟันระหว่างอำนาจได้ แม้ว่าจะยึดมั่นในหลักการก็ตาม เพราะในบางครั้ง ‘ถูกต้องอาจไม่สำคัญเท่าถูกใจ’

 

เหมือนโควิด-19 ที่เราอาจจะรักษาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราหยุดการระบาดมันได้ด้วยการจำกัดบริเวณของมัน เหมือนการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ เพราะใช้อำนาจของเวลาคู่กับอำนาจของปัญญา ต้นไม้มีฤดูกาลเก็บเกี่ยว ดอกไม้มีฤดูกาลผลิบาน อำนาจของเวลาจึงต้องทำงานควบคู่กับอำนาจของปัญญาอย่างแยกจากกันไม่ออก ต้องเริ่มหยอดเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาตั้งแต่วันนี้

 

ในฐานะสื่อมวลชนที่คลุกคลีอยู่กับอำนาจทางวัฒนธรรม สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ เราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมแห่งปัญญา เผยแพร่วิสัยทัศน์ใหม่เพื่อสร้างผู้นำที่ยึดในหลักนิติธรรม 

 

หนทางเดียวที่มองเห็นในตอนนี้ เป็นวิธีการที่ละมุนละม่อมที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องแลกกับความสูญเสีย อาจใช้เวลาอีก 50 ปี ฟังดูเหมือนไกล แต่หากวัดจากวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นหมายความว่ารถไฟขบวนนี้อาจเดินทางมาครึ่งทางแล้วก็เป็นได้

 

อยากเล่าถึงความท้าทายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ล่าสุดมีการเปลี่ยนนิยามจากโลกร้อน สู่โลกรวน สู่โลกเดือด ถึงขั้นที่เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวว่า มนุษยชาติได้เปิดประตูสู่นรกแล้ว 

 

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายร่วมกับประชาคมโลกในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 (Net Zero 2065) หรืออีก 42 ปีหลังจากนี้ เพื่อรับมือกับวิกฤตสภาวะอากาศในปัจจุบัน 

 

สิ่งที่ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้คือ แนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) หรือ SDG (Sustainable Development Goals) 17 เป้าหมาย ซึ่งเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับสากล ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ยังเน้นถึงหลักการทางประชาธิปไตยซึ่งถือเป็น ‘Global Mindset’ ที่ประชาคมโลกยึดถือร่วมกัน

 

ย้ำกันอีกครั้งว่า ประชาธิปไตยที่ตนหมายถึงคือนิยามที่เกริ่นตั้งแต่ตอนต้นว่ามันคือระบอบการปกครองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง คือระบอบที่ประชาชนมี ‘สิทธิ’ ในการเลือกผู้ปกครองผ่านการเลือกตั้ง สามารถ ‘ตรวจสอบ’ การทำงานของผู้ปกครองได้ และต้อง ‘มีส่วนร่วม’ ในการกำหนดนโยบาย แนวทางการบริหารของประเทศ

 

เหตุผลที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะเห็นว่านี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยมองข้าม ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งที่มันควรฝังอยู่ในมโนสำนึกตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้ามามีส่วนในการบริหารอำนาจ  

 

“ผ่านอำนาจทางปัญญา และให้อำนาจทางเวลาเป็นพลังส่งให้รถไฟขบวนที่ชื่อว่าประเทศไทยแล่นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และคนในโบกี้ทั้ง 5 ตู้อยู่ร่วมกันได้ตามค่านิยมประชาธิปไตย ตามสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความเป็นพลเมือง ความหลากหลาย และความโปร่งใส”

 

นครินทร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “อาจใช้เวลาอีก 25 ปี 50 ปี 75 ปี หรือนานกว่านั้น ผมไม่อาจล่วงรู้ อย่างน้อยที่สุดเราทุกคนต้องช่วยกันมอบพลังให้เข็มนาฬิกานี้ได้เดินอีกครั้ง แล้ววันหนึ่งเวลาจะอยู่ข้างเรา”

 


อ่านปาฐกถาฉบับเต็ม:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising