×

ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช กับความเชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่มีอยู่ในตัวทุกคน

20.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • ศ.นพ.กีรติ คือหนึ่งในทีมนักศึกษาแพทย์ในโครงการ วิ่งตามรอยสมเด็จพระราชบิดา จากโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ มาที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อระดมเงินบริจาคไปสร้างอาคารสยามินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2530
  • สิ่งที่ ศ.นพ.กีรติ ได้รับนอกเหนือจากเงินบริจาค คือพลังงานดีๆ จากผู้คนระหว่างทางที่มาสนับสนุน เป็นพันธสัญญาทางใจที่ว่าเขาต้องกลับมาเป็นแพทย์ที่ดีเพื่อดูแลคนเหล่านี้ในอนาคต และเขาต้องการส่งต่อพลังงานนี้ให้นักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ได้รับด้วยเช่นกัน
  • เป็นที่มาของโครงการ 1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่-ศิริราช ในปี พ.ศ. 2560 ที่ระดมทุนบริจาคเพื่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส ในวาระครบรอบ 130 ปี โรงพยาบาลศิริราช และเป็นแรงบันดาลใจให้ตูนคิดนำเงินบริจาคจากภาพยนตร์ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว เข้าสมทบทุนในโครงการนี้เช่นกัน
  • ศ.นพ.กีรติ คิดว่าความสำเร็จของตูนในโครงการ ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ คือการแสดงให้ทุกคนเห็นว่า เมื่อมนุษย์ตั้งใจทำอะไรสักอย่างอย่างจริงจัง เราจะสามารถก้าวข้ามทุกขีดจำกัดของร่างกายได้เสมอ

ในวันที่สปอตไลต์ฉายแสงไปที่ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย ในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งประเทศจากความสำเร็จในโครงการ ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

 

แต่นอกจากความตั้งใจในระดับเหนือมนุษย์ของเขา รวมทั้งความร่วมมือจากทีมงานทุกภาคส่วน ยังมีอีกชื่อหนึ่งที่ตูนมักจะพูดถึงอยู่เสมอ คือ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช กรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่พานักศึกษาแพทย์จาก ‘โครงการ 1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่-ศิริราช’ เข้ามาขอแรงบันดาลใจจาก ‘พี่ตูน’ แต่กลายเป็นว่าตัวเขาต่างหากที่ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อรู้ว่า ไม่ใช่แค่เขาที่ออกมาวิ่ง แต่ยังมีทีมแพทย์ที่ถึงแม้จะทำงานหนัก แต่กลับยังหาเวลาออกวิ่งเพื่อระดมเงินบริจาคมาพัฒนาวงการแพทย์ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมเงินบริจาคจากภาพยนตร์เรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ของเขาต้องนำมาสบทบให้กับโครงการระดมทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส ในครั้งนี้

 

เพื่อให้เหตุผลนี้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น THE STANDARD POP เชิญคุณหมอกีรติมาพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่บรรยากาศการวิ่งของทีมแพทย์ ความยิ่งใหญ่ของการ ‘ให้’ พลังงานที่ได้รับนอกเหนือจากเงินบริจาค ให้รู้สึกอยากกลับมาเป็นแพทย์ที่ดีต่อไป รวมทั้งความรู้สึกที่มีต่อตูน ในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่แสดงให้ทุกคนเห็นว่า ถ้าเรามีความตั้งใจ เราจะสามารถก้าวข้ามทุกขีดจำกัดของมนุษย์ได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม

 

 

มีคำถามหนึ่งที่ตูนพูดอยู่เสมอคือ ทำไมบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักอยู่แล้ว ถึงต้องออกมาทำโครงการวิ่งที่เพิ่มความเหนื่อยให้ตัวเองเข้าไปอีก

ผมคิดว่าพื้นฐานของพวกเราเหมือนอาชีพอื่นๆ ที่เมื่อพบปัญหาในการทำงาน เราต้องหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ดีที่สุด เมื่อเรารู้สึกว่าความรู้ความสามารถไม่ถึง เราก็ไปเพิ่มความรู้ความสามารถ เมื่อเรารู้สึกว่าเรามีทรัพยากรที่นำมาดูแลคนไข้ไม่เพียงพอต่อจำนวนและความซับซ้อนของอาการป่วยที่มากขึ้น เราก็ต้องรวบรวมสรรพกำลังทุกอย่างที่เราพอจะทำได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาคนไข้ให้ทันกับเวลาที่เดินหน้าไปทุกขณะ และเมื่อเราไม่สามารถรอได้ เราจึงจำเป็นต้องช่วยตัวเอง

 

การวิ่งก็เป็นหนึ่งกระบวนการที่เราเลือกใช้มาตั้งแต่สมัยก่อน ในวันนั้นคนทั่วไปยังไม่รู้จักการวิ่ง มีแค่ทหาร ตำรวจ หรือนักกีฬาที่ต้องการฝึกซ้อมเท่านั้นที่ออกมาวิ่งเพื่อความแข็งแกร่งของร่างกาย แต่เราคิดว่าการวิ่งมีประโยชน์มากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการระดมเงินบริจาค แต่หมายถึงการสื่อสารออกไปว่าการวิ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา

 

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2530 ที่ผมยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เรียนใกล้จบแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะตอบแทนสถาบันอย่างไรในช่วงที่โรงพยาบาลศิริราชครบรอบ 100 ปี และมีโครงการสร้างอาคารสยามินทร์ เพื่อรองรับให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดและการรักษาที่ทันสมัย เลยไปปรึกษาศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ท่านเป็นนักวิ่ง และชวนกันมาวิ่งเพื่อตามรอยพระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย กรมหลวงสงขลานครินทร์ เลยเป็นที่มาของโครงการวิ่งจากเชียงใหม่-ศิริราช เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

 

ในยุคนั้นไม่ใช่แค่คนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับการวิ่ง แต่นักศึกษาแพทย์ที่ต้องเรียนหนักอยู่แล้วน่าจะยิ่งห่างไกลจากกิจกรรมนี้มากขึ้นไปอีก

 

 

ใช่ครับ ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเหมือนกัน ที่ต้องมาจัดสรรเวลากันใหม่ เพราะหนึ่งต้องรับผิดชอบการเรียนไม่ให้ผิดพลาด และมีวินัยในการซ้อม แบ่งเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ตอนนั้นชวนคนมาได้ประมาณ 15-16 คน แบ่งผลัดกันวิ่งระยะทาง 700 กว่ากิโลเมตรให้สำเร็จ

 

แต่ที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการเตรียมตัวและการวิ่งของพวกเรา คือพลังความรัก ความศรัทธาที่ประชาชนมอบให้ ทั้งๆ ที่เราเป็นแค่นักศึกษาแพทย์ตัวน้อยๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก แต่พอเขารู้ว่าเราออกมาทำอะไร ก็พร้อมช่วยกันบริจาค บางคนเป็นชาวนา พอเห็นขบวนวิ่งมาไกลๆ ก็รีบวิ่งเอาเงินที่เหน็บอยู่ข้างเอวมาหยอดกล่องบริจาค จำนวนเงินไม่ต้องมากมายอะไรเลยนะ แต่พลังที่เราได้รับมันเยอะมาก รวมทั้งประชาชนในจังหวัดต่างๆ ที่มาร่วมวิ่ง พอพ้นเขตชายแดนจังหวัดก็ส่งต่อให้คนในจังหวัดช่วยวิ่งต่อ อบอุ่นหัวใจมาก เพราะเขามาช่วยเหลือทั้งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเขาเลย

 

ผิดกับเราที่ทำเพราะขาดสิ่งเหล่านี้ เลยออกมาทำ แต่เขาไม่ขาดอะไรเลยแต่ยังทำให้ อันนี้ยิ่งใหญ่กว่าหลายเท่า เป็นภาพที่ยังประทับใจจนถึงทุกวันนี้ที่ผมกลายเป็นอาจารย์ แต่เสียงของประชาชนในวันนั้นก็ยังกึกก้องอยู่ในใจ และอยากถ่ายทอดความรู้สึกนั้นให้กับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ได้สัมผัสด้วยเหมือนกัน

 

พอถึงวาระครบรอบ 130 ปี โรงพยาบาลศิริราช ที่มีโครงการสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ก็เลยมาเล่าให้นักศึกษาฟัง แล้วเขาก็สนใจเลยกลายเป็นโครงการ 1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่-ศิริราช ขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2560

 

 

ระหว่างที่ทีมวิ่งของเรากำลังซ้อมกันอยู่ ก็ได้ยินข่าวการวิ่งโครงการ ก้าวคนละก้าว เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน ของตูน ก็ยิ่งทำให้พวกเรามีกำลังใจขึ้นไปอีก เพราะเขาก็ไม่ใช่คนที่ขาดแคลนในเรื่องนี้ แต่เขาก็ออกมาวิ่งเพื่อพวกเราโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องทำด้วยซ้ำ มันคือต้นแบบความสวยงามของมนุษย์ ผมรู้ว่าตูนไม่ได้ออกมาวิ่งเพราะต้องการความยิ่งใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าสิ่งที่เขาทำมันยิ่งใหญ่และสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราได้จริงๆ และผมเชื่อว่าคนเราจะยิ่งใหญ่ได้ไม่ใช่จากการที่เรามี แต่คนเราจะยิ่งใหญ่ได้เพราะการให้

 

ผมในฐานะผู้จัดการโครงการก็เลยติดต่อขออนุญาตว่าเป็นไปได้ไหมที่จะขอพาทีมวิ่งของเราไปพบกับพี่ตูน และเขาก็อนุญาตให้พบแบบไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย นักศึกษาแพทย์ก็ดีใจกันใหญ่ ตั้งตารอวันที่จะได้พบฮีโร่ของพวกเขา พอเจอกันจริงๆ ไม่ว่าพี่ตูนของน้องๆ จะดังขนาดไหน แต่เขาไม่เคยยกตัวเองเลย เขา down to earth และให้เครดิตทุกๆ คนในทีมงานของเขา รวมทั้งยินดีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์โครงการและมาร่วมวิ่งในช่วงหนึ่งร่วมกับพวกเราด้วย

 

เวลาผ่านไป 30 ปี คุณค้นพบสิ่งที่เปลี่ยนแปลงระหว่างการวิ่งในเส้นทางเดิมที่เคยผ่านมาแล้วบ้างไหม

 

 

ไม่มีสิ่งที่ต่างกัน มีแต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า 30 ปีที่แล้ว เพราะช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เพราะได้พลังจากตูนมาซัพพอร์ต และทุกคนรับรู้ถึงความสำคัญของการวิ่ง การรักษาสุขภาพ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน

 

มีช่วงหนึ่งของการวิ่งจากจังหวัดชัยนาทเข้าจังหวัดสิงห์บุรี มีคนหนึ่งอยู่จังหวัดปราจีนบุรี รู้ข่าวว่าเราจะมาแถวนี้ แต่ไม่รู้ว่าเส้นทางไหน เขาขับรถออกมาตั้งแต่ตี 5 แล้วขับวนจนเจอขบวนของพวกเราตอน 5 โมงเย็น แล้วเอาธนบัตรใบละหนึ่งพันบาทเป็นปึ๊งมาหยอดกล่องบริจาค โดยไม่ขอแสดงตน ไม่ขอรับใบรับรองอะไรทั้งนั้น เขามาบริจาคเพราะเขารู้สึกว่าอยากให้อย่างเดียวเท่านั้น นั่นเป็นหนึ่งในหลายช็อตที่ทุกคนในทีมตอนนั้นสัมผัสได้อย่างเต็มหัวใจถึงพลังศรัทธาอันยิ่งยวดที่อยู่เหนือตัวเงิน  

 

หลังจบโครงการ สิ่งที่สำคัญนอกจากจำนวนเงินบริจาคที่เกินเป้าหมายของเรา คือนักศึกษาทุกคนรู้ถึงพลังของตัวเอง พลังของนักศึกษาแพทย์ตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อเขาตั้งใจทำในสิ่งที่เขาไม่ถนัด หมั่นฝึกซ้อม มีการวางแผนชัดเจน เรียนรู้จากความล้มเหลวไปทีละขั้น พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้

 

แต่สิ่งที่ดีที่สุดในฐานะอาจารย์ คือเราได้เห็นดอกไม้ในใจของทีมวิ่งครั้งนี้อีกเกือบ 50 ดอกเริ่มเบ่งบาน เพราะเขาได้รับพลังความศรัทธา ได้รับแสงแห่งความอบอุ่นของประชาชน ที่เป็นเหมือนพันธสัญญาว่า เขาจะต้องกลับมาดูแลคนเหล่านี้ให้ดีที่สุด เพื่อตอบแทนพลังทั้งหมดที่เขาได้รับในวันนี้

 

เมื่อก่อนเราเคยเข้าใจว่าคนที่อยากเป็นหมอ ต้องตั้งใจเรียน อ่านหนังสือให้เยอะ ทำข้อสอบให้ผ่าน แต่ถ้าฟังจากที่คุณพูด เหมือนว่าการพานักศึกษาแพทย์ออกมานอกตำรา เพื่อรับรู้ความเป็นไปในโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน

 

ใช่ครับ เพราะฉะนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่เราทำมาตลอดคือ การสนับสนุนกิจกรรมทั้งหมดของนักศึกษา ไม่ว่าะเป็นการเล่นดนตรีเพื่อการกุศล ออกค่ายอาสาให้ความรู้กับประชาชน ฯลฯ เพื่อให้เขาได้สัมผัสถึงความเป็นมนุษย์จริงๆ กรมหลวงสงขลานครินทร์ สอนเราเสมอว่า “ฉันไม่ได้อยากให้คุณเป็นหมอนะ ฉันอยากให้คุณเป็นมนุษย์” เพราะหมออยู่เหนือมนุษย์ไม่ได้ เขาต้องมีหัวใจความเป็นมนุษย์ ต้องสัมผัสถึงความเดือดร้อน ความขัดสนในสภาวะที่เกิดขึ้นของคนในสังคมจริงๆ นี่คือสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังทุกคนนอกเหนือจากความรู้ ความสามารถที่ได้จากหลักสูตร คือหัวใจของมนุษย์ที่นำมาดูแลมนุษย์ด้วยกัน

 

นอกจากความ ‘เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ ของตูน ที่ทำให้เขาทำโครงการวิ่ง 2,215 กิโลเมตร ได้สำเร็จ คิดว่าคุณลักษณะ 4 ข้อนี้มีความจำเป็นกับอาชีพแพทย์มากน้อยขนาดไหน

 

 

ไม่ใช่แค่หมอ แต่ผมเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่ในตัวแน่นอน อย่างแรกที่ชัดเจนมากคือความเชื่อ เขาต้องเชื่อมั่นทุกอย่างตั้งแต่ตัวเอง ทีมงาน รวมทั้งคนไข้ที่เขาดูแลอยู่ เขาขาดความเชื่อไปเสียอย่างเดียว ทุกอย่างจะล้มเหลวไปหมด

 

อย่างที่สองคือความบ้า บ้าที่จะคิดอยู่เสมอว่าเราจะก้าวข้ามขีดจำกัดในสิ่งที่เราไม่เคยทำกันมาก่อนได้อย่างไร ผมเชื่อว่าที่การแพทย์เจริญมาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะมีเชื้อมาจากความบ้าเป็นทุนเดิม ยกตัวอย่างง่ายๆ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ จากเมื่อก่อนต้องใช้เวลา 5 วันถึงจะเดินได้ แต่ตอนนี้เราสามารถผ่าตัดตอนเช้า แล้วตอนเย็นเราให้คนไข้กลับบ้านได้เลย เมื่อแค่คิดแบบนี้ก็โดนหาว่าบ้าแล้ว แต่ก็เพราะว่าเราบ้าไง เราเลยทะลุขีดจำกัดเหล่านี้ได้

 

อย่างที่สามคือความกล้า กล้าที่จะต่อสู้กับสิ่งที่คนมองว่าเราบ้า และใช้ความกล้ามาควบคุมความบ้าให้มีระเบียบแบบแผน และสุดท้ายคือการก้าว ก้าวในความหมายของการลงมือทำ ทุกอย่างที่คิด ทุกอย่างที่ฝัน ทุกอย่างที่เชื่อ บ้า กล้า จะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงเลยถ้าเราไม่ลงมือทำ

 

เหมือนอย่างที่คุณตูนทำให้พวกเราเห็นคุณสมบัติ 4 ข้อนี้จากการวิ่ง เขาบ้าตั้งแต่คิดวิ่ง 400 กิโลเมตรจากกรุงเทพ-บางสะพานแล้ว คราวนี้วิ่งจากเบตงไปเชียงรายจะต้องยิ่งบ้าขนาดไหน แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เชื่อ เขาก็กล้า และก้าวต่อไปในทุกๆ ก้าวจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

 

ในฐานะแพทย์คนหนึ่ง รู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อรู้ว่าตูนกำลังมีโปรเจกต์วิ่งเป็นระยะทาง 2,000 กว่ากิโลเมตร โดยใช้เวลาเพียง 55 วัน

ขอพูดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก่อน ตั้งแต่ความสำเร็จที่บางสะพาน ผมก็เชื่อว่าถ้าตูนมุ่งมั่นทำอะไร จะสามารถทำได้สำเร็จ แต่เมื่อเห็นข้อจำกัดทั้งเรื่องระยะทางและเวลาที่จำกัด ในฐานะแพทย์ ความรู้สึกที่เราจะปฏิเสธไม่ได้คือความห่วงใย เพราะศักยภาพของมนุษย์มีขีดจำกัดของร่างกายที่ต้องการการพักผ่อน ซ่อมแซมอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะมีทีมแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เราก็เป็นห่วงและคอยติดตามอยู่ตลอด เพราะความสำเร็จมีหลายรูปแบบ จะสำเร็จแบบสวยงาม สำเร็จแบบสะบักสะบอม เราเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะตูนคือตัวแทนของความเชื่อ บ้า กล้า ก้าว แต่ในทุกอย่างก็ต้องมีความพอดี ไม่ใช่บ้าจนจุดหมายทั้งหมดเสียไป

 

 

มีหลายครั้งนะครับ ที่เห็นว่าเอ็นไซม์กล้ามเนื้อของตูนสลายไปเยอะมาก จนถ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาเสี่ยงภาวะไตวายแล้ว แต่ตูนแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ที่แม้กระทั่งการแพทย์ก็ไม่สามารถอธิบายได้ ผมเรียกได้แค่ว่ามันคือปาฏิหาริย์ที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่เส้นชัยได้อย่างงดงาม

 

ซึ่งเชื่อว่าถ้าตูนหยุดพักในตอนนั้นมากขึ้นกว่าเดิม ก็ไม่มีใครต่อว่าเขาหรอก แต่สิ่งหนึ่งคือ เราก็จะได้ข้อสรุปทางการแพทย์ออกมาเหมือนเดิมว่ามนุษย์เรามีศักยภาพเท่านี้นะ ตูนทำให้รู้ว่า เฮ้ย ไม่ใช่ เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่เขาก็ทำได้ มันทำให้รู้ว่าความเชื่อ บ้า กล้า ก้าว ทำให้เราทะลุทุกขีดจำกัดไปได้ เราควรเอากรณีนี้มาศึกษาเลยว่า มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่เรานำมาใช้พัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดไปได้อีกบ้าง ซึ่งสำหรับตูน ส่วนหนึ่งคงมาจากพลังที่ต้องการเอาชนะตัวเองให้ได้ และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพลังงานจากคนที่คอยเอาใจช่วยเขาอยู่ กลายเป็นพันธสัญญาที่เขาได้ให้คำสัญญาไว้โดยอัตโนมัติ ทำให้เขาไม่สามารถหยุดได้

 

และเมื่อเขาทำเสร็จ มันเป็นการส่งต่อความเชื่อนี้ไปให้คนจำนวนมากได้เลยว่า ถ้ามนุษย์ตั้งใจจะทำอะไรอย่างจริงจัง ชีวิตไม่มีขีดจำกัดอะไรเลยที่จะขัดขวางเราไว้ได้ ไม่ใช่แค่ตูน ไม่ใช่แค่ดารา นักร้อง แพทย์ แต่หมายถึงทุกๆ คนจะสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นไปได้ด้วยเช่นกัน

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว

 

ภาพ: ภาณุ วิวัฒฑนาภา และเพจ 1 ล้าน 5 แสนก้าว

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • ตอนแรกโครงการ 1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่-ศิริราช ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้รับเงินบริจาคประมาณ 90 ล้านบาท แต่สุดท้ายกลายเป็นว่ามีคนมาร่วมบริจาคมากถึง 300 ล้านบาท
  • ถึงแม้ภาพยนตร์ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว จะหมดรอบให้ชมฟรีไปแล้ว แต่ทุกคนยังสามารถเสียเงินซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ตามปกติ และสามารถร่วมบริจาคให้กับโครงการ สร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส ได้เช่นเคย
  • นอกจากเป็นที่รองรับผู้ป่วยด้อยโอกาส อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ยังจะเป็นสถานที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพไปดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศต่อไปในอนาคต
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising