×

จับตา ‘สว. สีน้ำเงิน’ กุมองค์กรอิสระ พา ‘ภูมิใจไทย’ หลุดบ่วงคดี?

โดย THE STANDARD TEAM
05.07.2024
  • LOADING...

กระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่ในครั้งนี้ ภารกิจหลักที่ถูกจับจ้องมากที่สุดหนีไม่พ้นการ ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่ต่ำกว่า 67 คน จำนวนดังกล่าวเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ทุกองคาพยพทางการเมืองแห่แหนกันมาลงสนามในกติกาที่พิสดารที่สุดในโลก

 

ถึงกระนั้นอีกหนึ่งอำนาจหน้าที่ของ สว. ซึ่งสังคมอาจยังไม่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง คือบทบาทในการสรรหา พิจารณาคุณสมบัติ และแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งใน ‘องค์กรอิสระ’ ด้วย

 

เมื่อย้อนมองผลงานขององค์กรอิสระที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอีกมากมาย จะเห็นได้ว่าองค์กรเหล่านี้กลายเป็นผู้กุมชะตาของบรรดาผู้เล่นทางการเมืองทุกฝ่าย ซึ่ง สว. มีส่วนสำคัญในการร่วมก่อร่างขึ้นมาอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

ภายในสัปดาห์หน้า คาดกันว่า สว. ชุดใหม่ จะได้เข้ามาทำหน้าที่รับช่วงต่อจาก สว. ชุดเฉพาะกาลที่ คสช. แต่งตั้ง และวางรากฐานการสืบทอดอำนาจไว้อย่างแข็งแรง แต่ สว. ชุดใหม่ที่ถูกตั้งแง่ว่าเป็นเครือข่าย ‘บ้านใหญ่’ บ้างก็ว่า ‘ไม่ตรงปก’ ตลอดจนมอบฉายาล่วงหน้าว่า ‘สว. สีน้ำเงิน’ จะเข้ามาก่อร่างขององค์กรอิสระไปในทิศทางใด

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

สว. กับองค์กรอิสระ: แม่น้ำสู่มหาสมุทร

 

กลไกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งใน 6 องค์กรอิสระ และ 7 ตำแหน่งในองค์กรอื่นๆ ประกอบด้วย

 

  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน
  • คณะกรรมการ ป.ป.ช. 9 คน
  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7 คน
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 7 คน
  • คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 7 คน
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน

 

และองค์กรอื่นๆ ได้แก่

 

  • อัยการสูงสุด
  • ประธานศาลปกครองสูงสุด
  • ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  • คณะกรรมการกิจการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
  • เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)
  • เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
  • เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

โดยในกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลต่างๆ นั้น ข้อบังคับการประชุมยังกำหนดให้เป็น ‘ประชุมลับ’ กล่าวคือการอภิปรายแสดงความเห็น ตลอดจนการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแก่บุคคลดังกล่าว จะไม่มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนด้านนอกได้รับชมเหมือนการประชุมปกติ แม้แต่บันทึกการประชุมหรือชวเลข สว. ก็สามารถลงมติให้ไม่ต้องเผยแพร่ได้

 

เนื่องจากในการประชุมดังกล่าวมักมีความละเอียดอ่อน เพราะพิจารณาถึงประวัติส่วนตัว ความประพฤติ ตลอดจนความเหมาะสมทางจริยธรรมของบุคคลนั้นด้วย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ภารกิจ สว. ชุดใหม่ ตั้ง 4 องค์กรอิสระในปีเดียว

 

สำหรับ สว. ชุดใหม่ที่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในปี 2567 และอยู่ในวาระเป็นเวลา 5 ปี จะมีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระชุดใดบ้างในปีนี้?

 

  • ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 จาก 9 คน (เนื่องจาก นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธาน และ ปัญญา อุดชาชน ตุลาการ จะครบวาระในเดือนพฤศจิกายน)
  • กรรมการ ป.ป.ช. 3 จาก 9 คน (เนื่องจาก พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน, สุวณา สุวรรณจูฑะ และ วิทยา อาคมพิทักษ์ ครบวาระในเดือนธันวาคม)
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 จาก 3 คน (เนื่องจาก สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธาน จะครบวาระในเดือนพฤศจิกายน)
  • ประธานและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6 จาก 7 คน (เนื่องจาก คตง. จะครบวาระเกือบยกคณะในเดือนกันยายน)

 

ทำไมจึงได้ฉายา ‘สว. สีน้ำเงิน’?

 

กลับมามองกติกาการเลือก สว. สูตรพิสดารที่เพิ่งสิ้นสุดไป และถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ต้นว่า เอื้อต่อการจับกลุ่มฮั้ว ตลอดจนต่อรองขอคะแนน หรือกระทั่งช้อนซื้อคะแนนเสียงให้คนบางกลุ่มได้เข้ารอบ มากกว่าจะเป็นการเลือกกันเองตามคุณสมบัติและความเหมาะสมจริงๆ

 

การเลือก สว. คราวนี้จึงกลับกลายเป็น ‘สงครามตัวแทน’ ของกลุ่มการเมืองหลากขั้วหลากสี ซึ่งในช่วงต้น ‘สีแดง’ ซึ่งเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย หรือเครือข่ายอำนาจของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกเพ่งเล็งเนื่องจากมี ‘บิ๊กเนม’ ตบเท้าลงสมัคร เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลอดจนอดีต สส. และผู้สมัครตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยในหลายจังหวัด

 

อีกกลุ่มที่ดูมีเป้าหมายชัดเจนคือ ‘สีส้ม’ หรือตัวแทนจากพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า รวมทั้ง ‘สว. ประชาชน’ ที่ประกาศตัวว่าเป็นอิสระ แต่มีลักษณะร่วมคือความหัวก้าวหน้า และจับกลุ่มผนึกกันแน่น จนคาดการณ์กันว่าอาจมีเข้ารอบไปได้ไม่น้อย

 

ทว่าผลกลับพลิกผัน เมื่อบรรดา สว. ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจริงๆ นั้นกลับกลายเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับเครือข่าย ‘บ้านใหญ่’ หรือกระทั่งเคยร่วมงานใกล้ชิดกับ ‘สีน้ำเงิน’ หรือพรรคภูมิใจไทยมาก่อน เอาว่าเพียง ‘บุรีรัมย์’ จังหวัดเดียว กลับมีผู้ได้เป็น สว. ถึง 14 คน ขณะที่หลายจังหวัดไม่ได้ สว. แม้สักคน

 

นำมาสู่ข้อวิจารณ์นานัปการ ตั้งแต่การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของว่าที่ สว. บางคนก็ประกอบอาชีพไม่ตรงกับกลุ่มที่สมัครและเอกสารแนะนำตัว เช่น ในกลุ่มชาวนาที่เต็มไปด้วยอดีตข้าราชการ หรือผู้สมัคร สส. จนถูกสวนกลับไปว่าเป็นการ ‘ด้อยค่า สว.’ ไปเสีย ถึงขั้นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ออกตัวแรงว่า “รู้สึกสมเพช” ผู้ที่มีความคิดด้อยค่าเช่นนี้

 

กระนั้นเอง ก็ไม่มีอะไรมาปฏิเสธความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทยของบรรดาว่าที่ สว. นี้ ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ตามที่ THE STANDARD เคยรวบรวมไว้ใน สว. 67 : ใครเป็นใคร ที่ถูกเรียกชื่อให้ว่า ‘สว. สีน้ำเงิน’

 

 

แต่จนแล้วจนรอด ก็ต้องรอพิสูจน์จากจุดยืนและการทำงานของ สว. ชุดนี้ว่าเป็นอย่างไรก่อน ดีกว่ารีบแปะป้ายใส่สีพวกเขาไปล่วงหน้า เริ่มจากจับตาทิศทางการแต่งตั้งองค์กรอิสระในปีนี้

 

‘สว. สีน้ำเงิน’ พา ‘ภูมิใจไทย’ หลุดบ่วง?

 

แม้ กกต. ยังไม่ทันจะได้รับรองผลให้ สว. ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ การวิเคราะห์แนวทางการเมืองก็บานปลายไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะในแง่มุมว่า หาก สว. ชุดนี้เป็น ‘สีน้ำเงิน’ จริง ดังที่ถูกกล่าวหา การตั้งบุคคลในองค์กรอิสระก็อาจขาดความเป็นกลาง กระทั่งเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับบางฝ่าย

 

ขณะที่ปัจจุบัน พรรคภูมิใจไทยเองก็มีหลายคดีที่ยังอยู่ในอำนาจขององค์กรอิสระ เช่น

 

คดี ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อยู่ใน ป.ป.ช.

 

กรณีที่เคยอยู่ในความสนใจของสาธารณชน สืบเนื่องจาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สืบเนื่องจากมีการเปิดเผยว่า ศักดิ์สยามยังถือครองหุ้นบางส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ต่อมาในวันที่ 17 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าศักดิ์สยามมีความผิดจริง และตัดสิทธิให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

 

จากผลของคำวินิจฉัย เรื่องดังกล่าวยังถูกร้องไปยัง ป.ป.ช. ว่าศักดิ์สยามแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2567 ความคืบหน้าจาก ป.ป.ช. มีเพียงการตรวจสอบในเชิงลึก ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้

 

คำร้อง ‘ยุบพรรคภูมิใจไทย’ อยู่ใน กกต.

 

ผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของคดีข้างต้นเช่นกัน หลังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าพบนอมินีบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย เป็นเหตุให้มีการนำเรื่องยื่นต่อ กกต. ขอให้ทำคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านมาหลายเดือน กกต. ยังอยู่ระหว่างการจัดทำคำร้องที่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากต้องสอบสวนให้แน่ชัดว่าเงินบริจาคดังกล่าวผิดกฎหมายจริงหรือไม่

 

ใบแดง สส. ภูมิใจไทย อยู่ใน กกต.

 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีมติให้ใบแดงแก่ มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สส. นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกร้องคัดค้านเรื่องการแจกเงินไปลงคะแนนให้ตัวเอง ซึ่งขั้นตอนต่อไป กกต. จะต้องส่งคำร้องให้ศาลฎีกาดำเนินการต่อไป และหากศาลรับคำร้องก็จะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ของ สส. และรอการตัดสิน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising