นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจับตาตลาดก๊าซธรรมชาติ LNG ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังประเมินภายในปี 2033 ความต้องการใช้ LNG จะกินส่วนแบ่ง 12% ของตลาด LNG โลก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า ขณะที่ Shell มอง 3 ประเทศ คือ เยอรมนี เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความท้าทาย แต่อนาคตไทยและมาเลเซียน่าจะเป็นตลาดที่เติบโตมากที่สุดในภูมิภาค
Liquefied Natural Gas หรือ LNG ก๊าซธรรมชาติเหลว นับเป็นเทรนด์ Transition Fuel ที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่าน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากน้ำมันและถ่านหินไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เมื่อภูมิภาคอาเซียนเองก็กำลังเนื้อหอม ความต้องการใช้พลังงานย่อมสูงขึ้น อนาคตอาจเกิดการแข่งขันสูงขึ้นอีกหรือไม่ ไม่อาจคาดเดาได้ แต่ก็เห็นได้จากปีที่แล้ว ราคา LNG พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมออกมาระบุว่า ภายในปี 2030 แนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นตลาดที่น่าจับตาและเป็นตลาดสำคัญของโลก
หลังจากปีที่ผ่านมาแนวโน้มการใช้และราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ยุโรปลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติในยุโรปจะแตะระดับจุดสูงสุดในปี 2027 ก่อนที่จะทยอยลดลงในปี 2030
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทั้งนี้ น่าสนใจว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย ต่างพร้อมที่จะผลักดันการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นโยบายพลังงานและเศรษฐกิจที่เติบโตของเวียดนามหนุนการใช้ LNG
โดยเฉพาะเมื่อดูจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและ GDP ของเวียดนาม คาดว่าอนาคตเวียดนามจะมีการใช้ LNG เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าจะเพิ่มถึงเท่าตัวจาก 3.27 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 จะเพิ่มเป็น 7.6 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
“เวียดนามจะเป็นตลาดที่น่าจับตา เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และคาดว่าจะเติบโตไปอีกหลายปี ประกอบกับนโยบายแผนพลังงานของรัฐบาลจากการผลักดันแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (PDP8) ที่ปรับสัดส่วน จากเดิมที่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งหมดจะต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนอย่างก๊าซธรรมชาติ LNG ให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2050”
แนวโน้มการใช้ LNG ในอาเซียนเพิ่มถึง 4 เท่า
บริษัท Mordor Intelligence ผู้วิเคราะห์ตลาดก๊าซธรรมชาติ ระบุว่า ข้อมูลปี 2023 ตลาด LNG โลกเองก็มีอัตราการใช้เพิ่มมากขึ้น โดยจะเติบโตจาก 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.03 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2028
และคาดว่าภายในปี 2033 ความต้องการใช้ LNG เฉพาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอยู่ที่ 73 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 12% ของตลาด LNG ทั่วโลก นับเป็นอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2022
ขณะที่ สตีฟ ฮิลล์ รองประธานบริหารของ Shell กล่าวในการประชุม Gastech ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันตลาดก๊าซธรรมชาติ (LNG) เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา Shell ซึ่งเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับเยอรมนี เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็เผยว่า 3 ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีศักยภาพและเป็นตลาดที่ท้าทาย
มองไทยขึ้นแท่นผู้นำตลาด LNG
อย่างไรก็ตาม Shell มองว่า หากดูแนวโน้มในอนาคตแล้ว ตลาด LNG ที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากตลาดเหล่านี้นำเข้า LNG มาหลายปีแล้ว
ทั้งนี้ เขาเตือนว่า อุปสงค์สำหรับตลาดเหล่านี้ยังคงเปราะบางที่ต้องประเมินราคาอย่างมีเสถียรภาพไปพร้อมกับความท้าทายของแต่ละประเทศทั่วโลก ที่เตรียมพร้อมด้านพลังงาน เพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ
สำหรับประเทศไทย กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ในระหว่างการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2023) ระหว่างปี 2566-2580 หรือ PDP 2023 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพลังงานชาติ
ภายใต้ 5 แผนหัวใจหลัก ได้แก่
- แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)
- แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
- แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)
- แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
- แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)
ที่คาดว่าจะมีการพิจารณาเปิดเสรี เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับ LNG
อ้างอิง: