×

จับตาวิกฤต ‘เพดานหนี้’ เสี่ยงฉุดสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ป่วนตลาดการเงินโลก

27.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ภาระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งชนเพดานที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้กระทรวงการคลังต้องประกาศใช้มาตรการพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณี ‘ผิดนัดชำระหนี้’ ของรัฐบาลกลาง
  • ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนว่า หากสภาคองเกรสไม่สามารถยกระดับเพดานหนี้ได้ทันเวลา สิ่งที่ตามมาจะเป็นมหาวิบัติทางการเงิน หรือ ‘Financial Armageddon’ 
  • พรรครีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ประกาศชัดว่าจะใช้เรื่องนี้เป็นเกมต่อรองทางการเมือง ในขณะที่ฝั่งเดโมแครตยังยืนกรานไม่ยอมเจรจาด้วย
  • วิกฤตการคลังที่พัวพันเกมการเมืองของพญาอินทรีในรอบนี้อาจลากยาว และเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย พร้อมกับความปั่นป่วนของตลาดเงินโลก

ปัญหา ‘วิกฤตเพดานหนี้’ ของสหรัฐอเมริกากลับมาอยู่ในจุดสนใจของตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากภาระหนี้ของรัฐบาลพุ่งแตะเพดานที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต้องออกมาประกาศใช้มาตรการพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณี ‘ผิดนัดชำระหนี้’ ของรัฐบาลกลาง

 

อย่างไรก็ดี เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ระบุว่า เม็ดเงินในมาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังจะช่วยยืดระยะเวลาของปัญหาออกไปได้ถึงแค่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนเท่านั้น และหากสภาคองเกรสไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้อย่างทันท่วงที ก็อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เพดานหนี้ของสหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างไร? จะเกิดอะไรขึ้นหากสหรัฐฯ ล้มเหลวในการขยายเพดานหนี้? และเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบถึงโลกและไทยได้ในแง่มุมไหนกันบ้าง? เราลองไปทำความเข้าใจกันจากบทความนี้

 

เพดานหนี้คืออะไร?

 

อธิบายแบบง่ายๆ เพดานหนี้ก็คือ ตัวเลขหนี้ที่รัฐบาลกลางได้รับอนุญาตให้ก่อได้ด้วยการกู้มาใช้สำหรับบริหารประเทศ ใช้จ่ายเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ โครงการสวัสดิการต่างๆ เช่น ประกันสังคม การรักษาพยาบาล รวมถึงเงินเดือนของทหารในกองทัพ 

 

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีปัญหาเรื่องงบประมาณมาโดยตลอด เนื่องจากงบประมาณประจำปีมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ จึงต้องกู้ยืมหนี้ใหม่มาเพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ และเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เรียกได้ว่าหนี้สินที่รัฐบาลกลางกู้ยืมมาก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง และเพื่อรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลไม่ให้เกิดการก่อหนี้สะสมในระดับที่สูงเกินไป จึงมีการกำหนดเพดานหนี้เอาไว้ โดยเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากเพดานหนี้ไม่ได้รับการขยาย?

 

ในกรณีที่สภาครองเกรสประสบความล้มเหลวในการปรับขึ้นเพดานหนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระ ทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินสกุลดอลลาร์ นำไปสู่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และลามต่อไปยังตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก 

 

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนด สิ่งที่จะตามมาคือความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันและเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘วิกฤตการเงินโลก’ ครั้งใหญ่ 

 

ขณะที่ มาร์ก ซานดี นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics ระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นมหาวิบัติทางการเงิน หรือ ‘Financial Armageddon’ 

 

สอดคล้องกับมุมมองของ แจน ฮัตซีอุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ระบุว่า หากสภาคองเกรสไม่สามารถยกระดับเพดานหนี้ได้ทันเวลา นักลงทุนจะเกิดความกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็น “สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจโลก”

 

“เพียงแค่ข้อสงสัยเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เพียงพอที่จะส่งผลเสียอย่างมากต่อตลาด และวิกฤตเพดานหนี้ที่มีโอกาสลุกลามบานปลาย ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะงักอยู่กับที่ และทำร้ายการเติบโตของตลาดภายในประเทศได้” ฮัตซีอุสระบุ

 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมีมุมมองด้วยว่า ถึงแม้ในท้ายที่สุดเพดานหนี้ของสหรัฐฯ จะถูกขยาย แต่หากเกมการต่อสู้ระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันยืดเยื้อเป็นเวลานานเกินไป วิกฤตที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลเสียในระยะยาวต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ดี 

 

โดยยกตัวอย่างถึงกรณีสถาบันจัดอันดับเครดิต S&P Global Ratings ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ลงจาก AAA เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2011 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นหลังจากนั้น

 

เหตุใด ‘สภาคองเกรส’ จึงหาข้อสรุปในการเพิ่มเพดานหนี้ไม่ได้?

 

ในอดีตการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างก็กู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณกันทั้งคู่ แต่ในระยะหลังมานี้ ประเด็นเพดานหนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในเกมการเมือง

 

โดยพรรครีพับลิกันซึ่งมีเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง พยายามต่อรองให้รัฐบาลเดโมแครตปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงครั้งใหญ่เพื่อแลกกับการขยายเพดานหนี้ โดยโจมตีว่าการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเดโมแครตในปัจจุบันกำลังจะทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะล้มละลาย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีวินัยทางการคลังมากขึ้น

 

ขณะที่ฝั่งเดโมแครต ก็สื่อสารว่าไม่ต้องการที่จะต่อรองใดๆ และโจมตีกลับว่าการนำเพดานหนี้มาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง ได้สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศมาแล้วในอดีต และยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันซึ่งก็ไม่ได้ดูสดใสอยู่แล้ว เข้าสู่ภาวะถดถอยแบบจมลึกลงไปอีก

 

ย้อนกลับไปในปี 2011 ซึ่งเป็นยุคของ บารัก โอบามา เหตุการณ์คล้ายๆ กันเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยในครั้งนั้นทั้งสองฝ่ายต้องใช้เวลาพูดคุยกันอย่างเข้มข้นและยาวนาน ก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงกันได้ก่อนถึงเดดไลน์ไม่กี่ชั่วโมง แต่มันก็แลกมาด้วยความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดเงิน ตลาดทุน และการถูกปรับลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ

 

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? มีโอกาสกระทบถึงไทยหรือไม่?

 

เชื่อว่าในช่วงนับจากนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ก่อนที่มาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะไม่สามารถช่วยยืดเวลาของปัญหาได้อีกต่อไป เกมการต่อรองและยื้อยุดกันระหว่างทั้งสองพรรคจะทวีความเข้มข้นขึ้น อาจมีการปล่อยข่าวที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนออกมาเป็นระยะ เพราะปัจจุบันแผนการและเป้าหมายของฝั่งรีพับลิกันเองก็ยังไม่มีความชัดเจนนักว่าต้องการให้รัฐบาลปรับลดงบรายจ่ายลงเท่าไร

 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า ในวินาทีสุดท้าย สภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะสามารถก้าวข้ามข้อขัดแย้งจนกระทั่งบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ได้สำเร็จ แม้จะมีหลายครั้งที่กว่าจะหาข้อตกลงกันได้ก็เฉียดเข้าใกล้เส้นตายผิดนัดชำระหนี้แบบเส้นยาแดงผ่าแปดก็ตาม 

 

หากย้อนกลับไปในปี 2018 วิกฤตความขัดแย้งเรื่องงบประมาณของสหรัฐฯ ได้เคยก่อให้เกิดภาวะที่รัฐบาลต้องชัตดาวน์ หรือปิดทำการเป็นเวลาถึง 35 วัน ซึ่งส่งผลให้เหล่าพนักงานรัฐจำนวนหลายแสนคนถูกบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่น้อย

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research ประเมินว่า ในท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายคือรีพับลิกันและเดโมแครตจะสามารถเจรจากันได้ เพราะต้นทุนความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถกู้ยืมเพิ่มเติมได้นั้นสูงเกินไป แต่มีความเป็นไปได้ที่การต่อรองจะถูกลากให้เข้าไปใกล้จุดที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหรือ Default Zone มากที่สุด

 

พิพัฒน์ระบุว่า สิ่งที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเพดานหนี้ของสหรัฐฯ มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การต่อรองจะถูกลากยาวไปจนถึง Default Zone ทำให้รัฐบาลมีเงินไม่เพียงพอมาใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการต่างๆ เช่น ประกันสังคม การรักษาพยาบาล รวมถึงเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

เรื่องต่อมาคือ การผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันถูกยกให้มีสถานะเป็น Risk-free Asset หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง หากมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระขึ้นมาหรือผิดนัดชำระแม้แต่วันเดียว ก็จะสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมหาศาลต่อตลาดบอนด์ ตลาดหุ้น และตลาดเงินโลก แต่โอกาสที่จะไปถึงจุดนั้นมีค่อนข้างน้อย 

 

สำหรับผลกระทบของเรื่องนี้ที่อาจมีต่อไทย น่าจะเกิดขึ้นผ่านความผันผวนของตลาด เพราะหากตลาดมีความกังวลมากจะทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ในตลาดไทยด้วย หรือในกรณีแย่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องลดการใช้จ่ายหรือหยุดการใช้จ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ส่วนในกรณีเลวร้ายคือผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร เชื่อว่าจะไม่เกิด

 

“สุดท้ายจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ยอมลงให้กัน แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ความเสียหายคงจะเกิดขึ้นแล้ว ระหว่างทางตลาดจะผันผวนรุนแรง เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” พิพัฒน์ระบุ

 

เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า วิกฤตการคลังที่พัวพันเกมการเมืองของสหรัฐฯ ในรอบนี้จะใช้เวลามากน้อยเพียงใดในการคลี่คลาย เพราะยิ่งนานเท่าไรก็จะยิ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงินมากเท่านั้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X