การเดินหน้าลงนามกรอบ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก ภายใต้การจับมือกันระหว่างจีนและ 14 ชาติเอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทย เมื่อวานนี้ (15 พฤศจิกายน) กลายเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่ถือเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรงของจีน
ความตกลง RCEP จะครอบคลุมประชากรโลกกว่า 30% และคิดเป็น 30% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของทั่วโลก
แต่สหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ อีกทั้งรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นย้ำนโยบาย ‘America First’ ยังละทิ้งจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นคู่แข่งของ RCEP ทำให้ตอนนี้กลายเป็นสหรัฐฯ ที่อาจตกขบวนรถสำคัญ ที่อาจเป็นย่างก้าวในการกำหนดกรอบการทำงานของกฎระเบียบการค้าและการลงทุนโลกสมัยใหม่
ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ เคยแสดงท่าทีว่าจะพยายามฟื้นการเจรจาความตกลง TPP ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ไม่ได้ให้คำมั่นแต่อย่างใดว่าจะพาสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงฉบับนี้
ขณะที่ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต ณ ขณะนั้นก็แสดงท่าทีถอยห่างจาก TPP ซึ่งอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ให้การสนับสนุนภายหลังเผชิญกระแสกดดันจากในประเทศ
ด้านนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ของจีน กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์ระหว่างพิธีลงนาม RCEP ชี้ถึงความสำคัญของ RCEP ว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของการค้าพหุภาคีและการค้าเสรี
“นี่ไม่ใช่เพียงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ในความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือชัยชนะของการค้าพหุภาคีและการค้าเสรี” หลี่กล่าว
ขณะที่นักวิจัยจากสถาบัน Mizuho Research Institute ระบุว่าความตกลง RCEP จะช่วยตัดลดภาษีที่มีอยู่ออกไปกว่า 91% ในขณะที่ความตกลง TPP จะตัดลดภาษีลง 99.9% แต่ใจความสำคัญของ RCEP คือการนำจีนเข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์ทางการค้าร่วมกัน
อีกสิ่งที่น่าจับตามองเกี่ยวกับ RCEP คือการยกเลิกเก็บภาษีจำนวนมากจากการค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งสินค้าที่ส่งออกจากญี่ปุ่นไปจีนจะยกเลิกจัดเก็บภาษีเพิ่มจากเดิม 8% เป็น 86% ส่วนสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นไปเกาหลีใต้จะยกเลิกเก็บภาษีเพิ่มจาก 19% เป็น 92%
โดยหากความตกลงมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้อะไหล่รถยนต์ที่ส่งออกจากญี่ปุ่นกว่า 87% ปลอดภาษี เช่นเดียวกับเหล็กและเครื่องมือการเกษตรอย่างรถแทรกเตอร์ที่ปัจจุบันเก็บภาษีอยู่ที่ 3% ถึง 6% ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี
สำหรับการเดินหน้า RCEP เพื่อเปิดประตูการค้าของจีนสู่โลกภายนอก ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากความตึงเครียดทางการค้าต่อสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีท่าทีจะบรรเทาลง แม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของไบเดน ซึ่งจีนจำเป็นต้องหาพันธมิตรและเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในเอเชีย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ
แต่สำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ตอนนี้เหมือนกับเดินอยู่บนทางแยกที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งในยุคที่ไบเดนรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีภายใต้การนำของโอบามานั้นเขาเคยเป็นหนึ่งในคนที่พยายามผลักดัน TPP
แต่ในการหาเสียงเลือกตั้งปีนี้ ทางพรรคเดโมแครตกลับประกาศยืนยันว่าจะไม่เจรจาข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ใดๆ จนกว่าจะมีการลงทุนในบริษัทอเมริกันมากขึ้น และไบเดนยังเน้นย้ำนโยบาย ‘ซื้ออเมริกัน’ หรือการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ จะมีขึ้นใน 2 ปีหลังจากนี้ ซึ่งแหล่งข่าววงในของเดโมแครตเปิดเผยว่าการเจรจาข้อตกลงการค้า เช่น TPP อาจจะถูกหยิบยกขึ้นหารืออีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: