3 โบรกมีมุมมองบวกต่อ KCE หลังแจ้งกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ที่ 376.2 ล้านบาท ลดลงกว่า 34%YoY แต่เชื่อว่าผลงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ประเมินธุรกิจช่วงครึ่งหลังปีนี้ฟื้นตามดีมานด์สินค้า
บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ หรือ KCE แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิ 376.2 ล้านบาท ลดลง 34.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 571.90 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิ 721.64 ล้านบาท ลดลง 37.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,161.67 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 2/66 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้า 3,897.8 ล้านบาท ลดลง 16.49% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดขายในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 16.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ปริมาณการส่งสินค้า PCBs เพื่อขายลดลง 18.91% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการสินค้าของลูกค้าโดยรวมลดลง สาเหตุหลักมาจากการมีสินค้าคงคลังในระดับสูง เป็นผลจากการเร่งเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังในปีก่อน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการสินค้าของลูกค้ามีแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาส 3/66
ด้านอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 19.1% ของยอดขาย ลดลง 22.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากปริมาณขายที่ลดลง ขณะที่กำลังผลิตจริงโดยรวมไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 77% โดยมีวันหยุดยาวช่วงเดือนเมษายนปีนี้ เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/66 ที่อยู่ 79%
โดยในไตรมาส 2/66 บริษัทค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมีจำนวน 415.2 ล้านบาท ลดลง 10.5% ของยอดขายในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากค่านายหน้าการขายที่ผันแปรตามยอดขายที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการส่งออกที่ลูกค้าจ่ายค่าระวางสินค้าเอง
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.60 บาทต่อหุ้น กำหนดวันที่ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล วันที่ 21 สิงหาคม 2566 และกำหนดจ่าย ณ วันที่ 12 กันยายน 2566
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น KCE วันนี้ (9 สิงหาคม) ระหว่างการซื้อ-ขายปรับตัวเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบประมาณ 3 เดือน โดยไต่ระดับขึ้นไปที่ 45 บาท ก่อนจะมาปิดการซื้อ-ขายภาคเช้าที่ 43 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือบวก 2.38 จากราคาปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 42 บาท หลังจากที่ประกาศงบไตรมาส 2/66 ออกมา โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นบวกต่อผลการดำเนินงานของ KCE ในระยะต่อไป
3 โบรกมองบวก คาด KCE ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น KCE บวกสวนทางงบไตรมาส 2/66 ที่ออกมาอ่อนแอ โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 320.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 47% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยตัวเลขกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่ออกมายังต่ำกว่าที่ฝ่ายวิเคราะห์คาดไว้ 23% และยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ 13 เนื่องจากรายได้ไตรมาส 2/66 ที่ลดลง 3% จากไตรมาสก่อน แม้จะมีเรื่องเงินบาทอ่อนค่า แต่มีอัตราการใช้กำลังผลิตลดลงมาอยู่ที่ 77% เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 79%
อย่างไรก็ดี อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin: GPM) ในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 19.1% ถือว่าใกล้เคียงกับในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 19.6% และมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ลดลงมาที่ 10.7% จากไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 11.9% ใน 1Q66
โดยประเมินว่าผลการดำเนินงานของ KCE ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แม้ภาพการฟื้นตัวอาจจะค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังสัญญาณของการลดลงของอุปสงค์เพื่อระบายสต๊อก (Destocking) ค่อยๆ หมดลง และภาพการกลับมาสั่งซื้อสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Restocking) จะทยอยกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมีคำแนะนำให้ถือหุ้น KCE ให้ราคาเป้าหมายที่ 36 บาท
ด้านนักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ปรับคำแนะนำ KCE จากเดิม Neutral เพิ่มเป็น Outperform หลังงบไตรมาส 2/66 ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพของดีมานด์ความต้องการสั่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วอย่างชัดเจน
อีกทั้งในคำอธิบายงบการเงินไตรมาส 2/66 ของ KCE ยังระบุแนวโน้มของออร์เดอร์ไตรมาส 3/66 ที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าผลงานจะเห็นการเติบโตขึ้นเมื่อเปรียบรายไตรมาสต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4/66 ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อ KCE ได้รับอานิสงส์จากการส่งออก และในส่วนของต้นทุนค่าไฟและต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงจะเริ่มส่งผลบวกตั้งแต่ในงบไตรมาส 3/66 เป็นต้นไป
ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองบวกต่อการฟื้นตัวของวัฏจักรการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อว่า วงจรกลุ่มหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะมีลักษณะคล้ายกันจากยอดการส่งออกของไต้หวันในเดือนกรกฎาคม 2566 ออกมาดีกว่าคาด โดยการส่งออกสินค้ากลุ่ม ICT ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการส่งออกกลุ่มแผงชิ้นส่วนมีการชะลอตัวลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ เป็นปัจจัยหนุนให้กับหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น KCE และ HANA