เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ New Era ผู้นำการเงินดิจิทัลอย่าง KBTG ต้องสปีดตัวเองไปให้ไกลกว่า จึงเป็นที่มาของการระดมแนวคิดปรับวิสัยทัศน์ใหม่ พร้อมประกาศเป้าหมายเป็นองค์กรที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2025 ในงาน ‘KBTG Vision 2025’
เหล่าแม่ทัพที่ขับเคลื่อน KBTG ในทุกส่วนจะมีแผนการอย่างไรในอีก 3 ปีข้างหน้า และที่ผ่านมาผลสำเร็จจากการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเงินที่ดีของคนไทย และเมืองไทยเป็นอย่างไร THE STANDARD สรุปให้ในบทความนี้
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KBTG ชวนเราตั้งคำถามก่อนว่า ทำไม SEQUOIA กองทุนชั้นนำอันดับหนึ่งของโลกจึงเปิดกองทุนกว่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเหตุใดเงินลงทุนใน FinTech ที่มุ่งสู่ภูมิภาคนี้แค่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ถึงมากถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมฉายภาพให้เห็นว่าแม้ทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ FinTech ยังคงแข็งแกร่ง เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลพิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเติบโตสูง
KBank ก็มองเห็นเช่นเดียวกันว่า ภายในปี 2030 จะเป็นยุคทองของฝั่งเอเชีย จึงตั้งเป้าก้าวสู่การเป็น Regional Challenger ใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการเพิ่มการลงทุนเป็น 22,000 ล้านบาท
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KBTG
แล้ว KBTG เคลื่อนทัพด้วยกลยุทธ์ใด ประสบความสำเร็จระดับไหน?
KBTG ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาคเต็มตัว ขยายศักยภาพปั้น K-TECH ในจีน จากเดิมที่เคยเป็นเพียงองค์กรที่ให้บริการไอทีกับธนาคารกสิกรไทยในจีนเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์พัฒนาเต็มรูปแบบ มีทีม Blockchain เพื่อพัฒนาโครงการให้พร้อมใช้งานในไทย ฝั่ง KBTG Vietnam ก็พัฒนา Lending as a Service Platform และกำลังขยายตัวไปที่อินโดนีเซีย
“ช่วง 3 ปีที่ KBTG ทรานส์ฟอร์มองค์กร สามารถส่งมอบโครงการเพิ่มขึ้น 50% มีพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 60% และพัฒนานวัตกรรมไปกว่า 20 โปรเจกต์ มีมากถึง 11 พาร์ตเนอร์ ขยายไปในจีนและเวียดนาม รวมถึงเปิดบริษัทใหม่อีก 3 บริษัท คือ K-TECH, KX และ Kubix สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีได้กว่า 2,000 ล้านบาท” กระทิงกล่าว
กระทิงย้ำเสมอว่า KBTG ต้องสร้างเทคโนโลยีที่มีความหมาย และต้อง Empower ผู้คน ยกตัวอย่างแอปพลิเคชันเรือธงอย่าง K PLUS ปัจจุบันมีการทำธุรกิจมากถึง 29 พันล้านครั้งต่อปี และยอดผู้ใช้งานเกิน 18.6 ล้านราย ตั้งเป้ายอดผู้ใช้งาน 20 ล้านราย นอกจากนี้มีมากถึง 4 ล้านร้านค้าที่ใช้งาน K PLUS shop
“ยิ่ง K PLUS มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเงินไทย KBTG ยิ่งต้องสร้างเสถียรภาพและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานมากขึ้น ปัจจุบันสามารถใช้เวลาแก้ปัญหาหาระบบน้อยกว่า 1 นาที และ Down Time ได้กว่า 66%”
KBTG ยังพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ปี 2022 เปิดตัวแอป MAKE by KBank ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานกว่า 400,000 ราย หรือ Kubix ที่ให้บริการ ICO Portal ลงทุนในโทเคนดิจิทัลเปิดขายตัวแรก Destiny Token ได้ 265 ล้านบาท และยังมี Coral แพลตฟอร์มจำหน่าย NFT ของไทยที่พัฒนาขึ้นโดย KX รวมไปถึงแอป Khunthong (ขุนทอง) มีสมาชิกมากกว่า 850,000 คน
นอกจากนั้น KBTG ยังมีการพัฒนาในด้านงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Face Recognition and Face Liveness และ THAI NLP เทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาไทยของแชตบอต KBank รวมไปถึงพัฒนา AI ที่นำไปใช้ทางการตลาด
“เป้าต่อไป KBTG ต้องยิ่งใหญ่ให้สมกับศักยภาพขององค์กร เตรียมขึ้นแท่นองค์กรที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 100 ล้านคน รองรับปริมาณธุรกรรมแสนล้านรายการต่อปี มีอัตราการส่งมอบโครงการเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว พนักงานในองค์กรต้องเพิ่มเป็น 3,000 คนใน 7 ประเทศ สร้างนวัตกรรมให้เร็วขึ้น 10 เท่า และสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ได้ 5,000 ล้านบาท สุดท้ายคือเราต้องติด Top 100 บริษัทที่น่าทำงานที่สุดในโลก” กระทิงกล่าว
เพื่อให้เป้าหมายทั้งหมดเกิดขึ้นจริง KBTG จึงต้องก้าวไปอีกขั้นในการเป็นส่วนสำคัญของการสร้างยุคใหม่ที่เรียกว่า ‘Human First, Universe of Technology’ โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของชาว KBTG ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยความพร้อม 3 ด้าน ได้แก่
- พัฒนาบุคลากร จัดกิจกรรมเพิ่มความรู้ อัปสกิล พร้อมทั้งเปิดรับพนักงานที่มีทักษะความสามารถด้าน Dev, Data, Design รวมถึงสาย DeFi, Blockchain เพื่อบุกเบิกบริการใหม่ คาดว่าภายในปี 2565 จะรับพนักงานใหม่ในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกว่า 700 คน
- พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ด้วยงบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับเทรนด์การใช้งาน ทั้งในโลกบริการทางการเงินปัจจุบันและในอนาคต
- ยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรม เผยโฉม KBTG Labs หน่วยงานที่รวมพลคนมีความรู้ด้านธุรกิจและผลิตภัณฑ์ การออกแบบ UX/UI และการทำวิจัยด้านเทคโนโลยี
วรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman ของ KBTG
ก้าวสู่ New Era ของ KBTG ด้วยแนวคิด ‘Human First, Universe of Technology’
วรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman ของ KBTG ฉายภาพภารกิจหลักของ KBTG ภายใต้แนวคิด ‘Human First, Universe of Technology’ คือการสนับสนุนธนาคารกสิกรไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารที่ดีที่สุด รวมทั้งบทบาทในการพัฒนา Solutions ร่วมกับพันธมิตรใน Ecosystem ต่างๆ
“ทุกวันนี้เราไม่ได้มองแค่เรื่องของการแข่งขันทางธนาคาร แต่มองในเรื่องของเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงสถาบันการเงินได้อย่างสะดวก เราจึงตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุด และเป็นผู้ให้บริการที่ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด”
หลังจากนี้ KBTG จะมุ่งสนับสนุนธุรกิจธนาคารยุคใหม่ไปสู่ภูมิภาค AEC+3 โดยอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับการทำงาน 3 ด้าน
- ขยายระบบเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าพัฒนาระบบเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมจากฐานลูกค้าในไทยกว่า 21 ล้านราย รวมถึงพัฒนาระบบ K PLUS รองรับการขยายธุรกิจธนาคารสู่ระดับภูมิภาค ตั้งเป้ายอดผู้ใช้งาน 40 ล้านรายในปี 2570
- ขยายทีมงานเพื่อรองรับธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาค ตั้งเป้ารับพนักงานที่เวียดนาม 200 คนภายในปี 2565 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาแอป K PLUS Vietnam
- กำหนดรูปแบบการดำเนินงานแบบใหม่ เป็น One KBTG Operating Model เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาค
ปัจจุบัน KBTG มีแอปพลิเคชันกว่า 500 ตัว ทั้งแอปเก่าและใหม่ จึงต้องแบ่งกำลังคนมาดูแลและพัฒนา รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ และหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ KX คือ Coral ก็มีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์และลงทุนในนวัตกรรมอีกมากมาย
ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Venture Director of KASIKORN X (KX)
จาก ‘Coral’ สู่การเป็น ‘Regional Experience Platform’ ในฐานะ ‘Coralverse’
อาจกล่าวได้ว่า KX เกิดขึ้นมาพร้อมภารกิจใหญ่ คือการสร้างความเชื่อมั่นในการเงินรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนให้กับผู้คนอย่าง Digital Asset และ DeFi โดยมี KBTG และ KBank เป็นแรงสนับสนุนให้ KX ประสบความสำเร็จในด้าน Technology Access, Decentalize, Economy รวมไปถึง Financial Sevices และ Non-financial Services
ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Venture Director of KASIKORN X (KX) บอกว่า โลกการเงินรูปแบบใหม่เป็นโลกที่ท้าทายมาก ที่จะทำให้คนจำนวนมากเข้าใจและเข้าถึงได้ หน้าที่ของ KX จึงต้องสร้าง Ecosystem เพื่อทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจกลไกการทำงานของการลงทุนในโลกยุคดิจิทัล
ตัว Kubix ที่เป็น ICO (Initial Coin Offering) มอบโอกาสให้กับนักลงทุนมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลภายใต้คอนเซปต์ ‘Invest Earn Experience’ ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือเหรียญ Destiny Token
ยังมี Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace สนับสนุนการซื้อ-ขายผลงานศิลปะของศิลปินไทย ที่ได้รับความเชื่อถือสูงจากศิลปินและองค์กร การันตีผลงานด้วยการจดสิทธิบัตรด้วยความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีการยืนยันตัวตนศิลปินอย่างชัดเจน สามารถจ่ายด้วยค่าเงินไทยบาทปกติ และยังมีมาตราฐานในระดับสากล ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเป็นศิลปินที่หลากหลายสายมากกว่า 120 คน
ภายในปี 2025 Coral จะพัฒนาไปสู่ ‘Regional Experience Platform’ เพื่อสร้าง Ecosystem และประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้งานโดยมี ‘Coralverse’ พื้นที่ให้ศิลปินสร้างผลงานบน Coral เป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาคและระดับโลก มาพร้อมกับ Coggles ไกด์ประจำแพลตฟอร์มที่จะช่วยแนะนำการใช้งานใน Coral และภายในปีนี้จะเปิดตัว ‘Coral Wall 2.0’ เวอร์ชันล่าสุดที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถซื้อ-ขายผลงานบนแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้น
นอกจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เล่ามา ปีนี้ KX มีอีกหนึ่งบริการใหม่นั่นคือ ‘Bigfin’ เครื่องมือผู้ช่วยด้านการลงทุน ทำหน้าที่เป็นสมุดจดบันทึกการลงทุน มีจอแสดงผลภาพรวมพอร์ตการลงทุน เปรียบเสมือนพอร์ตการลงทุน เพื่อพัฒนาสู่การเป็น ‘Platform of Choice’ สำหรับนักลงทุนในอนาคต
“KX จะมีกองทุน KX Endless Capital สำหรับการลงทุนในโลก Web3, DeFi, Metaverse เป็นการลงทุนพร้อมกับการเข้าไปเป็นพันธมิตร โดยจะประกาศบริษัทกลุ่มแรกที่ได้รับทุนเร็วๆ นี้” ธนะเมศฐ์กล่าว
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director ของ KBTG Labs
จับตา ‘KBTG Labs’ นวัตกรรมสำคัญใน Ecosystem ของ KBTG
ต้องเล่าว่า KBTG Labs เปรียบเสมือนห้องทดลองของ KBTG ที่เน้นการทำ ‘Human Interaction Design’ และทดลองผลิตภัณฑ์บริการทุกอย่างให้รวดเร็ว รวมทั้งผลิตนวัตกรรมที่มีประโยชน์กับ KBank และผู้ใช้งาน เพื่อส่งต่อให้แต่ละหน่วยทำงานต่อให้เกิดผลงานใหม่
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director ของ KBTG Labs บอกว่า KBTG Labs เป็นทัพหลังที่ทำหน้าที่นับหนึ่งให้กับองค์กร ด้วยการนำไอเดียใหม่ๆ มาสร้างให้เกิดผลลัพธ์ รวมถึงการจับมือกับพาร์ตเนอร์ระดับโลก เพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มอบประสบการณ์ที่ดีด้านการเงินอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ สังคม และองค์กรต่างๆ ทั้งหมดนี้จะต้องขับเคลื่อนโดยบุคลากรที่มีคุณภาพ 3 กลุ่มคน ได้แก่ User Experience กลุ่มคนที่เข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้ สามารถรู้ถึงปัญหาที่ผู้ใช้ประสบอยู่ Research & Technology กลุ่มคนเข้าใจถึงกระบวนการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี และกระบวนการวิศวกรรมที่จะสร้างเป็นโซลูชันให้สำเร็จ และ Product & Business กลุ่มผู้เข้าใจตลาด สามารถประกอบร่าง และบอกได้ว่าสามารถสร้างนวัตกรรมจนกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้
ดร.ทัดพงศ์ยังบอกด้วยว่า เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ KBTG Labs ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ Innovation Runway ตั้งแต่การรวบรวมไอเดียผ่าน Idea Portal พื้นที่ที่ให้คนในองค์กรสามารถนำเสนอไอเดีย สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการทำ Prototype หรือจะนำ Prototype มาสร้างเป็นโครงการที่พร้อมนำไปทดลองตลาด และสุดท้ายคือ ชุดเครื่องมือที่จะทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพิสูจน์แล้วไปใช้งานกับผู้ใช้ฐานใหญ่
“เราตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะสร้างนวัตกรรมที่มีความเร็วขึ้น 10 เท่า พร้อมทั้งมีการผนวกเอา AI เข้ามาช่วยทำงานให้เกิดการทำงานที่สะดวกมากขึ้นด้วย ด้วยการสร้าง AI Factory นำความรู้ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์มาใช้ในกระบวนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์”
อีกประเด็นที่ ดร.ทัดพงศ์เน้นย้ำคือ Mindset แบบ ‘Human First’ ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างผลงานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างการพัฒนาแชตบอตใน KBank Live ช่วงการระบาดของโควิด ทำให้การตอบแชตกลายเป็นระบบอัตโนมัติได้ถึง 80%
“KBTG Labs เรามุ่งสร้างความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น รวมไปถึง ‘Deep Tech’ ด้านอื่นๆ เช่น Blockchain, Internet of Things, Quantum Computin หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อจดจำใบหน้าและเสียงเพื่อยืนยันตัวตน เราต้องการสร้างความเป็นเลิศในการเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้ แล้วนำมาสร้างเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและพาร์ทตเนอร์ของเรา KBTG”
การจะนำ ‘Universe of Technology’ มาสร้างเป็น ‘Human First Innovation’ ได้อย่างไรนั้น ดร.ทัดพงศ์ยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่ KBTG Labs กำลังพัฒนา อาทิ KBTG Smart Checkout เทคโนโลยีการคิดค่าสินค้าในร้านของชำโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์จดจำสินค้า ช่วยลดความผิดพลาดในการคิดราคาสินค้า และให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือ KBTG Smart Retail ที่นำนวัตกรรม Virtual Try-on สามารถทดลองสินค้าได้เหมือนอยู่ในร้านค้า รองรับการสั่งงานด้วยเสียง และสามารถจ่ายค่าสินค้าออนไลน์ได้ทันที
ระหว่างทาง KBTG Labs มีเทคโนโลยีที่พัฒนาจนสามารถตีพิมพ์รายงานวิจัยได้มากมาย และปี 2022 จะมีแผนตีพิมพ์งานวิจัยอีกเป็นจำหน่วย ซึ่งการทำวิจัยทั้งหมดนี้ KBTG Labs ยังจับมือกับสถานศึกษาและสถาบันวิจัยหลายแห่งเพื่อสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
“ปีนี้ KBTG Labs ทำงานร่วมกับ MIT Media Lab หน่วยวิจัยระดับโลก ทั้งการทำวิจัยร่วมกัน และให้ทุนวิจัยนักวิจัยไทยไปทำวิจัยใน MIT โดยมี พัทน์ ภัทรนุธาพร ในฐานะตำแหน่ง KBTG Fellow ไทยคนแรกที่ได้รับทุนสนับสนุน เชื่อว่าความร่วมมือทั้งสองส่วนจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเติบโต และยกระดับเทคโนโลยีและการวิจัยของไทยไปสู่ระดับโลก”
ดร.ทัดพงศ์บอกว่า “แม้วันนี้อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด เพราะ KBTG มี Mission ที่ไม่ธรรมดา แต่เชื่อว่าหากคนเก่งๆ มาอยู่รวมกัน จะสร้างสิ่งที่ยังเป็นภาพเลือนรางในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะช่วยกันสร้างผลงานจนเป็นประวัติศาสตร์ได้ จึงอยากจะชวนคนที่มีความฝัน และต้องการสร้างสิ่งสำคัญเพื่อพัฒนาให้เมืองไทย และชีวิตของคนไทยดีขึ้น มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีม KBTG และ KBTG Labs ไปด้วยกัน”
ทั้งหมดนี้คือภาพของ ‘Human First, Universe of Technology’ แนวคิดหลักที่จะผลักดันเป้าหมายสำคัญของ KBTG ในอีก 3 ปีต่อจากนี้ ในการเป็นองค์กรอนาคตแห่งการเงิน ที่มุ่งเน้นการเสริมกำลังบุคลากร เทคโนโลยี และดันนวัตกรรมการเงินผ่าน KBTG Labs และแน่นอนว่ายังต้องบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2568 ด้วยเช่นกัน