‘เข้มข้น ครบทุกแง่มุม อัดแน่นทุกเรื่องต้องรู้ด้าน AI จากรอบโลก’ ประโยคนี้น่าจะอธิบายความสำเร็จของงาน KBTG Techtopia: Across The AI-Verse ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 กันยายน 2566 ที่ KBTG เมืองทองธานี ได้เป็นอย่างดี
ถือเป็นครั้งแรกของ KBTG และเป็นงานสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้ของคนในวงการไอทีระดับบิ๊กงานแรกของปี ที่พาคนสายเทคไปผจญภัยในเมืองเทคโนโลยี พร้อมสำรวจเทรนด์ที่มาแรงที่สุดของปีไปด้วยกัน และทำให้ทุกคนที่มาร่วมงานเห็นภาพอนาคตที่ AI จะเข้ามาเปลี่ยนโลก เพราะการปรับตัวเข้าหาเทรนด์ AI ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป
งานที่ได้รวบรวมผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำ และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI กว่า 30 คน มาแชร์อินไซต์ไล่ตั้งแต่วิวัฒนาการของ AI ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต เทรนด์ที่กำลังมาแรงอย่าง GenAI พร้อมหยิบยก Use Case ของการนำ AI ไปปรับใช้กับธุรกิจ
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเวทีพร้อมฉายวิสัยทัศน์ของ AI ยุคใหม่ไม่ต่างอะไรกับเวทมนตร์ที่สามารถเสกทุกความฝันของทุกคนให้กลายเป็นจริง AI ไม่เพียงสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะ ออกแบบกราฟิก สร้างภาพยนตร์ แต่งเพลง ออกแบบบ้าน ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจบสายนั้นๆ ก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ด้วย AI นี่คือภาพของคำว่า ‘AI จะทำให้โลกเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล’
“ลองจินตนาการว่าไม่เกิน 10 ปี ลูกๆ ของคุณสามารถออกแบบยานอวกาศโดย AI ได้ เติมเต็มความฝัน AI จะทำให้ทุกสิ่งเป็นจริง ทุกวันนี้ AI สามารถพูดคุยได้เหมือนมนุษย์ ในอนาคตเราอาจแยกไม่ออกแล้วว่าเสียงที่ได้ยินคือเสียงของมนุษย์หรือ AI และคนที่เข้าประชุมแทนผมอาจจะเป็นหุ่นยนต์ก็ได้
“จะเห็นว่า AI เหมือนคลื่นที่ซัดเข้ามาหลายระลอก แต่นับจากนี้ไป AI ที่เปลี่ยนโลกได้จริงกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแต่จะ Empower ผู้คนในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การแพทย์”
กระทิงยกตัวอย่างด้านการศึกษาที่ทาง KBTG ได้ทำงานร่วมกับ MIT Media Lab สร้าง AI Character สร้างไอน์สไตน์มาสอนวิชาฟิสิกส์ หรือการสร้างที่มีบุคลิกที่จะทำให้คนไข้กล้าคุย กล้าปรึกษา หรือในโลกธุรกิจหลายบริษัทยักษ์เริ่มใช้ GenAI เข้ามาช่วยในการพัฒนาแคมเปญหรือทำงานด้านอื่นๆ เช่น Coca-Cola หรือ Starbucks แม้แต่ Enterprise Company อย่าง PwC หรือ BCG ก็มี AI เป็นของตัวเอง
“ลืมไม่ได้เลยคือโลกของการเงินการธนาคาร K PLUS คือ Mobile Banking อันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคน KBank และ KBTG เราเดินหน้าวิสัยทัศน์สู่การเป็น ‘AI First Banking’ เพราะโลกเปลี่ยนจาก Mobile First เป็น AI First แล้ว เราผ่านเฟสของการเป็น Data-Driven Transformation ซึ่งเวฟต่อไปเรากำลังมุ่งสู่ Automation-First Transformation & AI First Transformation”
“เหตุผลของการจัดงาน KBTG Techtopia ก็เพื่อชวนทุกคนมาร่วม Co-Imagine จินตนาการถึงการสร้างอนาคตร่วมกัน ผมเชื่อในศักยภาพของ AI ว่าจะสามารถ Empower และเปลี่ยนทุกจินตนาการให้กลายเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเป็นคนที่ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยกันหรือไม่ และผมเชื่อว่าทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้จะได้มากกว่าแรงบันดาลใจ แต่จะได้องค์ความรู้และมองเห็นแนวทางการนำ AI ไปปรับใช้กับธุรกิจ ผมอยากให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนมุมมองและ Co-Exploring จับมือกันเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ร่วมกับ AI Co-Thinking ช่วยคิดและแก้ปัญหา สุดท้ายคือ Co-Creating ผมหวังว่าจะได้เห็นพวกขึ้นทุกคนขึ้นมายืนบนเวทีนี้และบอกให้คนรุ่นหลังว่าพวกคุณใช้ AI เปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร”
ไฮไลต์ในงานที่ THE STANDARD ได้เข้าร่วมคือ เวทีสัมมนาที่รวบรวมผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากองค์กรระดับโลกทั้งในไทยและต่างประเทศมาแบ่งปันข้อมูลที่ต้องรู้ โดยครอบคลุม 4 แกนหลัก ได้แก่ AI Trend and Outlook, AI Transformation, AI x Human และ AI Ecosystem
สองแกนหลักที่จะช่วยฉายภาพกว้างให้กับคนที่อยากเข้าใจว่า AI เปลี่ยนโลกอย่างไรคือ AI Trend and Outlook และ AI Transformation
ในแกนของ ‘AI Trend and Outlook’ เมื่อพูดอิทธิพลของ AI ผ่านเทรนด์และนวัตกรรมเกิดใหม่ กระทิง เรืองโรจน์ บอกว่า เคล็ดลับความสำเร็จของ KBTG ยุคนี้ต้อง M.A.D. หรือการบูรณาการระหว่าง Machine Learning, AI และ Data เข้าด้วยกัน
“Machine Learning จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนข้อมูลที่สำคัญไปสู่ธุรกิจและสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง แนะนำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ โปรโมชันที่ตรงใจลูกค้า ด้าน AI ที่ KBTG มีนักวิจัยและนักพัฒนาที่ผสานวิชาการเข้ากับการทดลองในห้องปฏิบัติการ ที่ผ่านมามีการพัฒนา KBTG AI Chatbot ที่เป็น AI สำหรับตอบกลับลูกค้าอัตโนมัติ ประหยัดเวลามากกว่า 20,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ MIT Media Lab เมื่อต้นปี 2022 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ร่วมพัฒนาเช่น คู่คิด by K-GPT หรือ Generative AI เวอร์ชันภาษาไทย และสำหรับ Data นั้น ทาง KBTG มองข้อมูลเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ จึงได้มีการป้องกันเหมือนเงินในห้องนิรภัย อย่างการร่วมมือกับเมืองไทยประกันชีวิต นำ AI มาพัฒนา InsurTech ตรวจสภาพรถยนต์ด้วย AI เจ้าแรกในไทย และไม่หยุดพัฒนาผ่านโครงการต่างๆ ที่ทำร่วมกับคนรุ่นใหม่ เช่น โครงการ KBTG Kampus จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย”
Rafi Katanasho, APAC Chief Technical Officer and VP of Solution Sales บริษัท Dynatrace ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ Application Performance Monitoring (APM) จากอเมริกา กล่าวว่า หากมองไปรอบตัวจะเห็นว่าเบื้องหลังนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อน “เรารู้ดีว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สำเร็จ คือต้องส่งมอบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพทั้งในแง่ของความเร็วและความคล่องตัว เพื่อตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจและสามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานได้ ยิ่งกับผู้บริโภคยุคดิจิทัลซึ่งมีความคาดหวังเพิ่มขึ้น ธุรกิจและองค์กรยิ่งต้องปรับตัวให้เร็ว ต่อให้คุณใช้ระบบ CI/CD มาช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพทั้งในแง่ของระยะเวลาและคุณภาพ แต่ด้วยปริมาณข้อมูลมหาศาล ประเภทของข้อมูล ความเร็ว และความหลากหลายกลาย ถ้าเป็นยุคก่อนคุณอาจจะต้องขยายทีมซอฟต์แวร์ให้ใหญ่ขึ้น เพิ่มปริมาณบุคลากร ไปจนถึงขยายไปตามโลเคชันต่างๆ มันอาจเป็นไปตามเป้า แต่ต้องแลกมาด้วยทีมที่เบิร์นเอาต์
“แต่การมาถึงของ ChatGPT ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าให้อธิบายง่ายๆ การเรียนรู้ของ GenAI มันเหมือนกับเวลาที่มนุษย์เก็บข้อมูลผ่านการฟังและการมองเห็น ก่อนจะทำความเข้าใจว่าข้อมูลที่ได้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร คุณคงพอจะเดาได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรและจะพูดหรือตอบโต้อย่างไร แน่นอนว่าข้อมูลของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่คุณมีว่าเคยสะสมคลังข้อมูลและความรู้มากน้อยแค่ไหน GenAI ก็เช่นกัน ข้อมูลที่ได้มาอาจยังไม่ถูกต้องทั้งหมด มันจึงเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจระบบและความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน ทำความเข้าใจและเชื่อมโยงมันเข้าด้วยกันจึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและเฉพาะเจาะจง”
Ryan J. Salwa ผู้ก่อตั้ง GitHub อ้างถึงคำพูดของ Mark Anderson ผู้ก่อตั้ง a16z เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2011 ว่า “ซอฟต์แวร์กำลังจะกลืนกินโลก” เขาบอกว่าการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องลงลึกไปถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยจะส่งมอบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพในแง่ของความเร็ว คล่องตัว และเข้าถึงคนผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร จากแนวคิดนำไปสู่การเขียนโค้ด จากโค้ดสู่คลาวด์ และ AI จะเป็นเครื่องมือของเจเนอเรชันต่อจากนี้ที่จะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตั้งแต่การแก้ไขจุดอ่อนด้านความปลอดภัย สามารถแก้ไขและสร้างโค้ดใหม่ได้ ไปจนถึงทำความเข้าใจโค้ดที่คนอื่นเขียนเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและวิเคราะห์ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Stack Overflow พบว่า มากถึง 70% จะเริ่มนำ AI มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว
Ryan ยกตัวอย่าง ‘Copilot’ ผลิตภัณฑ์ที่ GitHub ร่วมมือกับ OpenAI ที่จะมาเป็นผู้ช่วยเขียนโค้ดให้กับนักพัฒนาได้มากมายหลายภาษาทั้ง Python, Go, TypeScript หรือแม้แต่ Ruby
“Copilot นั้นเกิดจากการเรียนรู้โค้ดของ AI มากกว่าพันล้านบรรทัดที่เปิดเป็น Public Code อยู่บน GitHub ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเขียนโค้ดลงและช่วยให้เราโฟกัสกับงานได้มากขึ้น ปัจจุบันมีนักพัฒนากว่า 1.5 ล้านคน ใน 27,000 องค์กร ที่ใช้ Copilot นับตั้งแต่ที่มันเปิดตัวในปี 2021 ก่อนที่โลกจะรู้จัก ChatGPT ไม่นานมานี้เราได้ทำงานกับศาสตราจารย์ของฮาร์วาร์ดเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบระยะยาวของการใช้ Copilot เราพบว่านักพัฒนาที่มีประสบการณ์น้อยกว่ายอมรับผลลัพธ์มากกว่านักพัฒนาที่มีประสบการณ์สูง แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นว่า Copliot กลายเป็นมาตรฐานการศึกษาของนักพัฒนา มันไม่ได้มาแทนที่ แต่เป็นเครื่องมือช่วยให้สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันหรือโซลูชันได้เร็วมากยิ่งขึ้น นักพัฒนายังคงทำหน้าที่หลักส่วน Copliot จะช่วยแนะนำทางเลือกให้เท่านั้น เนื่องจากนักพัฒนาเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆ มากขึ้น รู้วิธีดึงประสิทธิภาพการทำงานที่ดีที่สุดออกมา เราเชื่อว่าในอนาคตอันไกล ประสิทธิภาพการทำงานของ GitHub Copilot และนักพัฒนาจะเชื่อมโยงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
ส่วนแกนของ AI Transformation นั้น James Walker ผู้ก่อตั้ง Curiosity Software เป็นตัวอย่างของการนำซอฟต์แวร์มาสเต็ปอัปการทรานส์ฟอร์มองค์กร เขาพูดในฐานะของคนที่ทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบข้อมูลและการทดสอบจากแบบจำลองที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เขาบอกว่า ปกติแล้วการทดสอบซอฟต์แวร์จะเป็นกระบวนการสุดท้ายเสมอ แต่จริงๆ แล้วมันจะย้อนกลับไปยังตั้งแต่จุดเริ่มต้นตลอดไปจนทุกขั้นตอนการพัฒนา ยิ่งตอนนี้ซอฟต์แวร์ซับซ้อนกว่านั้น ยิ่งต้องทดสอบว่าท้ายที่สุดแล้วมันพัฒนาออกมาได้ตรงกับความต้องการหรือไม่
“ในความเป็นจริงการทดสอบในตอนท้ายก็อาจสายเกินที่จะแก้ ที่แน่ๆ คือมันจะทำให้ทุกอย่างล่าช้ากว่าเดิม โชคดีที่ตอนนี้ AI เข้ามาช่วยเราได้มาก ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT หรือ Copilot อย่างที่บอกไป แค่บอกว่าต้องการอะไรมันก็เขียนโค้ดออกมาให้คุณได้ หรือถ้าต้องการให้มันสร้างชุดทดสอบก็ไม่เกินความสามารถ แต่ตอนนี้สิ่งที่ยังเป็นปริศนาคือ เราป้อนคำถาม เราได้คำตอบ แต่เราจะเชื่อถือคำตอบเหล่านั้นได้อย่างไร สิ่งสำคัญอาจอยู่ที่ข้อมูลที่เรามีและความสามารถในการฝึกฝน AI และ LLM รวมถึงอัลกอริทึมอื่นๆ”
เขาบอกว่าสิ่งที่ Curiosity กำลังมุ่งเน้นคือการสร้างแบบจำลอง พูดง่ายๆ คือถ้าเป็นซอฟต์แวร์ที่นำไปใช้สำหรับธุรกิจก็สามารถสร้างผังงาน วางแผนกระบวนการทางธุรกิจ วางกฎเกณฑ์และข้อกำหนด พวกเขาจะเห็นภาพทันทีว่าใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่ นี่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยได้กับทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่กำลังจะเริ่มเปลี่ยนผ่าน หรือองค์กรที่ไม่อยากเสียเวลาไปกับการนำ AI เข้ามาใช้ไม่ถูกจุด
นอกจาก Main Stage ที่มีผู้เข้าร่วมฟังเต็มทุกพื้นที่ทั้ง 2 วัน ภายในงานยังมีพาร์ตเนอร์จาก Tech Company ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Google Cloud, Cisco, Splunk, Slack, GitHub, Elasticsearch, Dynatrace, Curiosity Software และ PALO IT รวมถึงบรรดาฟีเจอร์โปรเจกต์ที่ทำโดย KBTG Labs และบริษัทในเครือ KBTG ก็มาเปิด Exhibition Showcase ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้เก็บเกี่ยวความรู้ สอบถามจากคนทำงานตัวจริง และได้ทดลองสัมผัสประสบการณ์ Innovation ล้ำๆ ที่นำไปตอบโจทย์การทำงานได้
ส่วนพาร์ตที่ได้รับความสนใจและมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากคือ Playground Workshop เวิร์กช็อปเสริมสร้างทักษะด้าน AI ในมิติต่างๆ นำทีมโดย Beacon Interface ของ KBTG, GitHub, Splunk และ Google Cloud
ปิดท้ายด้วย KBTG FinFest ปาร์ตี้ Networking ให้ผู้ร่วมงานได้มาร่วมสนุกช่วงท้ายในแต่ละวัน พูดคุยและเพลิดเพลินไปกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งเพลงมันๆ โดย DJ Tob จาก Bangkok Invaders / Southside