ซุ่มพัฒนานวัตกรรมและเปิดตัวเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ตุลาคม) กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ก็ได้เปิดตัวออฟฟิศแห่งใหม่ใจกลางสามย่าน หรือ ‘K+ Building’ แล้ว โดยอาคารแห่งนี้จะเปรียบเสมือน ‘สามย่าน วัลเลย์’ ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดแสดงโชว์เคสนวัตกรรมทางการเงิน และ Co-Innovation Space ร่วมกับพาร์ตเนอร์แต่ละเจ้าของกสิกรไทย
พร้อมกันนี้ เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG ยังได้เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์การทรานส์ฟอร์มองค์กรของ KBTG แบบ ‘วัน เคบีทีจี’ (One KBTG) ซึ่งจะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อช่วยให้พนักงานของ KBTG เกิดความ ‘โปรดักทีฟ’ พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกมาได้รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของตลาด และช่วย Empower ให้ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยได้ทั้งลูกค้ากลุ่มองค์กรและลูกค้ารายย่อยในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน K+ มีผู้ใช้งานมากกว่า 14 ล้านรายแล้ว (เป้าหมายภายในปีนี้คือ 15 ล้านราย) โดยหลังจากช่วงคลายล็อกดาวน์ที่ผ่านมา KBTG ได้ดำเนินการเปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะ Contactless Technology, ขุนทอง (ผู้ช่วยเก็บเงินบน LINE), แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งรูปแบบใหม่ Make และแพลตฟอร์มโซลูชันด้านอาหาร Eatable
ขณะที่ล่าสุดยังได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล หวังเปิดตลาดทุนแบบใหม่ในประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนและลงทุนในผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มใหม่อีกด้วย
สำหรับเป้าหมายอีก 5 ปีต่อจากนี้ หรือภายในปี 2568 นั้น KBTG โดยเรืองโรจน์ตั้งเป้าที่จะผลักดันองค์กรขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีเบอร์หนึ่งของประเทศไทยให้ได้ โดยปัจจุบันได้ตั้ง Development Hub ขึ้นใน 3 ประเทศคือ ไทย เวียดนาม และจีน เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินได้ทันกับโครงสร้างการให้บริการของธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตรที่มุ่งสู่ดิจิทัล แบงก์กิ้ง
รวมถึงการเตรียมรับสมัครพนักงานเพิ่มอีกกว่า 400 ตำแหน่ง เพื่อให้ภายในปี 2568 กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จะมีจำนวนบุคลากรตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ที่ 1,900 คน (ปัจจุบัน 1,500 คน) ในการเร่งพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด
ขณะที่ในประเทศจีน KBTG ได้ตั้งบริษัท K-Tech ที่เมืองเซินเจิ้นในฐานะ ‘ฟินเทค’ โดยมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,379 ล้านบาท โดยตั้งเป้าจะรับพนักงานประมาณ 300 คน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการทางเงินสำหรับธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีนและประเทศอื่น และพันธมิตร โดยธนาคารกสิกรไทยในจีนยังมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายย่อยในการปล่อยสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีช่องว่างในรูปแบบ ‘Digital Lending’ อีกด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า