×

‘KBTG’ องค์กรผู้พัฒนานวัตกรรมและอยู่เบื้องหลัง ‘รางวัลธนาคารยอดเยี่ยมแห่งปี’ ของกสิกรไทย

27.03.2021
  • LOADING...
‘KBTG’ องค์กรผู้พัฒนานวัตกรรมและอยู่เบื้องหลัง ‘รางวัลธนาคารยอดเยี่ยมแห่งปี’ ของกสิกรไทย

หลังจากที่เมื่อวานนี้ ‘IDC’ (‎International Data Corporation) หรือบริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ออกมาประกาศผลรางวัลสถาบันด้านการเงินยอดเยี่ยมแห่งปี 2021 (IDC Financial Insight Innovation Award) ครอบคลุมทั้งฝั่งของ ‘แบงก์’ และกลุ่มธุรกิจประกันทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก โดยเป็น ‘ธนาคารกสิกรไทย’ ที่ได้รับรางวัลธนาคารยอดเยี่ยมแห่งปีของไทยในปีนี้ไปครอง (เจ้าของรางวัลนี้ในปี 2020 คือธนาคารกรุงศรี)

 

ประเด็นก็คือ การมอบรางวัลโดย IDC ในครั้งนี้ไม่ได้มองแค่ในแง่ที่ว่าธนาคารเจ้านั้นๆ มีรายได้มากน้อยแค่ไหน ปล่อยสินเชื่อสำเร็จไปในจำนวนเท่าไร หนี้เสียลดลงบ้างหรือเปล่า หรือมีความวูบวาบในด้านจำนวนลูกค้าหน้าใหม่ที่ตบเท้าเข้ามาเปิดบัญชีกับพวกเขาเพิ่มขึ้นแค่ไหน 

 

เนื่องจาก IDC ให้ความสำคัญกับ ‘มิติที่ลึก’ กว่านั้น นั่นคือศักยภาพในด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กร การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ และเทคโนโลยีที่เสริมประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ การให้บริการออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวเองเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยที่ผลกระทบจากการดิสรัปต์หรือโควิด-19 ไม่ได้ทำให้พวกเขาสะทกสะเทือนอย่างที่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบกัน

 

แล้วทำไมกสิกรไทยถึงสามารถสร้างนวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สามารถโต้คลื่นความท้าทายได้อย่างไม่รู้จบ?

 

คำตอบอยู่ที่ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอย่าง ‘KBTG’ หรือ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยผลักดันนวัตกรรมของกสิกรที่ใช้งานได้จริงส่งตรงถึงมือผู้บริโภคอย่างเรามาแล้ว

 

ถ้ายังนึกไม่ออกว่า KBTG ทำอะไร ตัวอย่างที่ง่ายแต่หากเอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วทุกคนต้องร้องอ๋อทันทีคือ แอปพลิเคชัน ‘K PLUS’ โมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งานมากกว่า 14.4 ล้านราย มีจำนวนธุรกรรมรวมทุกประเภท 14,500 ล้านรายการ เติบโตจากปีก่อนหน้า 71% (เฉลี่ยแล้วมีผู้ใช้งาน K PLUS วันละ 5 ล้านราย) โดยที่คาดว่าในปีนี้ผู้ใช้งานน่าจะเพิ่มเป็น 17.5 ล้านราย และมีจำนวนธุรกรรมที่กว่า 24,600 ล้านรายการ

 

ซึ่งหน้าที่ของ KBTG ก็คือการพัฒนาแอปฯ K PLUS ให้ตอบโจทย์การใช้งานทำธุรรกรรมในทุกๆ มิติ อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานทุกคนไม่ให้เกิดปัญหา แม้จะมีจำนวน Transaction ต่อวินาทีมากแค่ไหนก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นก็จะต้องพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาให้ได้ตรงกับความต้องการของตลาด และเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างทันท่วงทีด้วย

 

ขณะที่ในปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ทาง IDC ไม่ลังเลที่จะมอบรางวัลธนาคารแห่งปีให้กสิกรไทย ก็เป็นเพราะ ‘ความลีน’ และความคล่องตัวที่ KBTG ไม่หยุดที่จะพัฒนาและเปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินออกมาต่อเนื่อง (ในบางมุมยังพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินอ้อมไปรอผู้บริโภคล่วงหน้าแล้ว)

 

ตัวอย่างของนวัตกรรมโดย KBTG ที่พวกเขาได้เปิดตัวออกมาในปีที่ผ่านมา เพื่อต่อยอดและเสริมการใช้งานให้ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยทุกคนสามารถใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และ New Normal ที่เปลี่ยนไปจากโควิด-19 ได้อย่างไร้ข้อจำกัด หมดทุกข้อกังวล ได้แก่ 

 

ขุนทอง แชตบอตผู้ช่วยเก็บเงินบน LINE, Eatable แพลตฟอร์มโซลูชันด้านอาหารแบบครบวงจร, MAKE by KBank แอปพลิเคชันผู้ช่วยด้านการเงินของคนรุ่นใหม่, นวัตกรรมซื้อตั๋วดูหนังแบบ Contactless ที่ทำร่วมกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ Contactless Technology อื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการสัมผัสในช่วงโควิด-19 ระบาดแรงๆ (Face Pay, Paperless และ Face Check-In เป็นต้น)

 

จรุง เกียรติสุภาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ Chief Information Officer ประจำ KBTG ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยกล่าวถึงบทบาทของ KBTG ไว้ว่า สิ่งที่หน่วยงานของพวกเขาได้ดำเนินการคือการทำให้แอปฯ K PLUS เกิด ‘เสถียรภาพ’ สามารถรองรับการใช้งานของผู้คนได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุดในทุกๆ วัน

 

“เบื้องหลังแอปฯ K PLUS ที่เราได้เห็น คือการที่ทีมงานของ KBTG ร่วมกันทำงานอย่างหนักเพื่อให้มั่นใจว่าบริการของกสิกรไทยแบบ End-to-End จะไม่เกิดปัญหา มีความเสถียรมากที่สุด 

 

“โดยที่ในปี 2021 นี้แผนการของกสิกรไทยคือการขยายธุรกิจและการให้บริการออกไปในระดับภูมิภาค ซึ่งหน้าที่ของ KBTG ก็คือการทำอะไรบางอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารกสิกรไทยจะได้รับการสนับสนุนในทุกๆ แง่มุม โดยเมื่อไม่นานเราเพิ่งเปิดตัวบริษัท K Tech ในประเทศจีนเพื่อให้บริษัทแห่งนี้ผลักดันการสนับสนุนธนาคารกสิกรไทยในจีน (KBank China) รวมถึงเข้าครอบครองนวัตกรรมการเงินที่ล้ำสมัยจากจีน เนื่องจากจีนในเวลานี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัยเป็นจำนวนมาก

 

“ปัจจุบันเรามีพนักงานของ K Tech รวมกว่า 30 คนที่มาจากอุตสาหกรรมธนาคาร โดยที่ปีนี้เราตั้งเป้าจะรับบุคลากรเพิ่มเป็น 80 ราย และในอนาคตอันใกล้เราตั้งเป้าจะขยายให้ไปแตะถึงระดับ 300 คน ทั้งนี้เรายังตั้งเป้าที่จะขยายธนาคารกสิกรไปยังเวียดนาม เพื่อเปิดบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีรูปแบบการทำงานที่คล้ายคลึงกับ KBTG อีกด้วย

 

“ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี สิ่งที่ KBTG ทำไม่ใช่แค่เพียงการส่งมอบเทคโนโลยีให้กับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรีเสิร์ช วิจัยข้อมูล ศึกษาในด้านต่างๆ ด้านนวัตกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่ง เทคโนโลยีใหม่ๆ เรามีหน่วยงาน K Lab หรือ K Tech Innovation เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ

 

“ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง The Infinite Game ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับผมเป็นอย่างมาก เขาบอกไว้ว่า การพัฒนาให้ได้อย่างต่อเนื่องนั้น เราจะต้องไม่ไปคำนึงหรือให้ความสำคัญกับการแข่งขันกับคู่แข่งในสังเวียนแต่อย่างใด แต่จะต้องโฟกัสที่ตัวเองเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคให้ได้ตรงจุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจในการมาทำงานของผมเป็นอย่างมาก ตรงที่เรานำ IT เข้ามาใช้เพื่อให้สิ่งต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ นั่นคือบทบาทของเรา” จรุง กล่าว

 

จากคำสัมภาษณ์ทั้งหมดของจรุงก็น่าจะชี้ให้เห็นว่า KBTG มีบทบาทกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินให้กับธนาคารกสิกรไทยมากแค่ไหน

 

ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้ หรืออย่างน้อยก็ในปี 2022 กสิกรไทยและ KBTG จะสามารถรั้งแชมป์ธนาคารยอดเยี่ยมแห่งปีของไทยได้หรือไม่นั้น นี่คือบทพิสูจน์ที่พวกเขาคงจะต้องตอบด้วยตัวเอง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X