×

KBANK – จัดตั้ง JK AMC บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

30.06.2022
  • LOADING...
JK AMC

เกิดอะไรขึ้น:

บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งการจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (บริษัทย่อยที่ KBANK ถือหุ้นทั้งหมด) กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (บริษัทย่อยของ JMT) ในสัดส่วนการถือหุ้นรายละ 50% โดย JK AMC จะดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ปัจจุบัน JK AMC มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1.0 หมื่นล้านบาท

 

JK AMC มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่าจะทำกำไรได้ใน 4Q65 JK AMC วางแผนเข้าซื้อ NPL ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน โดยจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ 15 ปี ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด โดยจะเข้าซื้อ NPL จาก KBANK ในระยะแรก และวางแผนซื้อ NPL จากสถาบันการเงินอื่นๆ 

 

ในเวลาต่อมา KBANK วางแผนขาย NPL มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท (47% ของ NPL ทั้งหมด และ 2% ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมด) ให้แก่ JK AMC ในปี 2565 โดยธนาคารได้ดำเนินการขาย NPL มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ให้กับ JK AMC ไปแล้วในเดือนมิถุนายน 

 

ทั้งนี้ JK AMC ตั้งเป้ามี NPL ภายใต้การบริหารมูลค่า 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2025 หลังจากเริ่มดำเนินการใน 3Q65 ซึ่งบริษัทมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการลดต้นทุนคงที่โดยใช้ระบบนิเวศร่วมกันกับ JMT และใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและเครือข่ายของ JMT และ KBANK โดย JK AMC คาดว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจเช่นนี้จะทำให้บริษัทมีกำไรใน 4Q65

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ (30 มิถุนายน) ราคาหุ้น KBANK ปรับเพิ่มขึ้น 0.67%DoD สู่ระดับ 151.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลดลง 0.93%MoM อยู่ที่ระดับ 1,571.35 จุด

 

KBANK จะได้ประโยชน์อะไร:

ผลตอบแทนที่ KBANK จะได้รับจากการขาย NPL ให้กับ JK AMC คือเงินที่ได้จากการขาย NPL ในราคายุติธรรม บวกกับผลตอบแทนจากการลงทุน KBANK เชื่อว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการบริหารหนี้จากเดิมที่จะจบ 7-20 ปี เป็น 6-12 ปี สำหรับสินเชื่อที่มีหลักประกัน (ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย) และจาก 5 ปี เป็น 3-5 ปี สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน 

 

ในส่วนของงบดุล การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยเร่งปรับปรุงงบดุล เพิ่มสินทรัพย์สภาพคล่อง (เงินสดจากการขาย NPL) เพิ่มฐานเงินทุนสำหรับใช้สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อใหม่ เปิดโอกาสให้ปรับลดชั้นเงินให้สินเชื่อตามเกณฑ์คุณภาพอย่างระมัดระวัง NPA ไหลเข้าลดน้อยลง และรักษา LLR Coverage 

 

ขณะที่ในส่วนของงบกำไรขาดทุน การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการปรับใช้เงินที่ได้จากการขาย NPL และลดภาระการตั้งสำรอง (Credit Cost) เนื่องจาก KBANK ได้รวมเอาการเคลื่อนไหวครั้งนี้เข้ามาไว้ในเป้าหมายทางการเงินปี 2565 ของธนาคารเรียบร้อยแล้ว 

 

อย่างไรก็ดี SCBS คงประมาณการกำไรไม่เปลี่ยนแปลง โดยในปี 2565 คาดว่ากำไรจะฟื้นตัว 21% จากการคาดการณ์ว่า Credit Cost จะลดลง 13 bps สินเชื่อจะเติบโต 6%NIM จะลดลง 6 bps และรายได้ค่าธรรมเนียมคงที่ โดยยังคงเลือก KBANK เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร โดยได้รับการสนับสนุนจาก Valuation ที่น่าสนใจ กำไรจะฟื้นตัวได้ดีในปี 2565 และความเป็นผู้นำในด้านดิจิทัลแบงกิ้ง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising