×

‘กสิกรไทย’ เผยกำไรปี 66 สูงสุดในรอบ 9 ปี จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท

19.01.2024
  • LOADING...
ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิ 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ก่อนหน้านี้ที่ KBANK มีกำไรสูงกว่าระดับนี้ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2557 ซึ่งทำได้ 46,153 ล้านบาท 

 

ส่วนกำไรสุทธิของ KBANK ระหว่างปี 2562-2565 

ปี 2562 จำนวน 38,726 ล้านบาท

ปี 2563 จำนวน 29,487 ล้านบาท

ปี 2564 จำนวน 38,052 ล้านบาท

ปี 2565 จำนวน 35,769 ล้านบาท

 

การเติบโตของกำไรในปีนี้หนุนจากรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 11.19% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 148,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.61% ขณะที่อัตราผลตอบแทน (Net Interest Margin: NIM) อยู่ในระดับ 3.66% 

 

KBANK อธิบายว่าการเติบโตในระดับ 18.55% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำเมื่อปีก่อน รวมทั้งเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารยังตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 51,840 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่งผลให้ธนาคารมี Coverage Ratio ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ระดับ 152.33% 

 

ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้การดำเนินงานสุทธิอยู่ที่ 44.10% เพิ่มขึ้นจาก 43.15% เมื่อปีก่อน ส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL) อยู่ที่ระดับ 3.19% 

 

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 KBANK มีสินทรัพย์รวม 4,283,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,187 ล้านบาท จากปี 2565 

 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงขยายตัวในลักษณะไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) โดยการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับขึ้นของต้นทุน ภาระหนี้และค่าครองชีพของครัวเรือน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอีกทั้งตลาดการเงินโลกในระหว่างปีค่อนข้างผันผวน โดยเริ่มฟื้นตัวกลับในช่วงปลายปีหลังจากที่ตลาดการเงินประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดแล้ว

 

สำหรับในปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายที่หลากหลายจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการเติบโตที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญกับปัญหาความเปราะบางของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยเช่นกัน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising