‘กสิกรไทย’ แนะจับตา 3 ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจโลกและไทย พร้อมเชียร์ลงทุนแบบ DCA ใน ‘ทองคำ’ สัดส่วน 5-10% เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อท่ามกลางตลาดผันผวน ส่วนช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นแนะลุยซื้อกลุ่มสถาบันการเงิน
ธนาคารกสิกรไทยประเมินแนวโน้มที่กระทบการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยในครึ่งปีแรก 2565 จับตาแรงกดดันจาก 3 ปัจจัยส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
เริ่มมาจากกำลังการผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดประเทศ จนทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น บวกกับราคาน้ำมันที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตามด้วยสภาวะสงครามรัสเซียและยูเครน แนะนำปรับพอร์ตลงทุนที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ ด้วยการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือกระจายความเสี่ยงด้วยทองคำ และจับจังหวะดอกเบี้ยขาขึ้นโดยลงทุนในกลุ่มธุรกิจหรือกองทุนรวม เช่น กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์
พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การลงทุนในปีนี้เป็นปีที่ท้าทายจากแรงกดดัน 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
- กำลังการผลิตยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ ภาคการผลิตยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้เต็มกำลัง ประกอบกับความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดประเทศ
- การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการที่มากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตมีจำกัด ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวอย่างผันผวน (Stagflation)
- สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังเห็นการใช้กำลังปะทะกันต่อเนื่อง และล่าสุดประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณาคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียตามรอยสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะหลายประเทศในยุโรปจำเป็นต้องพึ่งพานำเข้าพลังงานน้ำมัน
“ด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุดคือ เงินเฟ้อพุ่ง ของแพง ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนธุรกิจสูง ในขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความผันผวนมากขึ้น ควรปรับแนวทางการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ โดยทยอยลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (DCA) หรือกระจายความเสี่ยงด้วยทองคำภายใต้สัดส่วน 5-10% และในช่วงดอกเบี้ยขาขี้นควรลงทุนในกลุ่มธุรกิจหรือกองทุนรวม เช่น กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์” พิพัฒน์พงศ์กล่าวสรุป