×
SCB Omnibus Fund 2024

กสิกรไทยคาดบาทอ่อนค่าแตะจุดต่ำสุดราว 36 บาทในอีก 2 เดือน ก่อนกลับมาแข็งค่าตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

23.06.2022
  • LOADING...
เงินบาทอ่อนค่า

กสิกรไทยประเมินเงินบาทจะอ่อนค่าแตะจุดต่ำสุดที่ 36 บาทกว่าๆ ในอีก 2 เดือน ก่อนการขึ้นดอกเบี้ยและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะช่วยหนุนให้กลับมาแข็งค่าที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี

 

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า การออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการแถลงล่าสุดว่าต้องการจะจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด จนทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจจะมีการปรับขึ้นไปถึงระดับ 3.5% จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันให้เงินบาทจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในฝั่งอ่อนค่าต่อไป โดยคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะจุดต่ำสุดที่ระดับ 36 บาทต้นๆ ต่อดอลลาร์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า

 

“ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินในเอเชียรวมถึงเงินบาทอ่อนลงเพราะ Fed แต่เชื่อว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าท่าทีของ Fed จะไม่ใช่สายเหยี่ยวอีกต่อไป เพราะล่าสุด Fed เองก็ดูเหมือนเริ่มกังวลเรื่องภาวะถดถอยเช่นกัน หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วลงความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 3.5% ก็จะน้อยลง เงินทุนจะไหลกลับเข้ามาในเอเชียบางส่วน ซึ่งจุดนี้เองที่จะเป็นจุดต่ำสุดของเงินบาทและเอเชียก่อนจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น” กอบสิทธิ์ระบุ

 

กอบสิทธิ์ยังประเมินด้วยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจาก 5% ของต้นทุนเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันมาจากอัตราแลกเปลี่ยน หากปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ โดยคาดว่า ธปท. จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในเดือนสิงหาคมและพฤศจิกายน

 

“การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลดีไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนมากเกินไป แต่ก็ต้องดูไม่ให้กระทบกับคนที่มีภาระหนี้มากเกินไปเช่นกัน ถ้าเปรียบ ธปท. เป็นหมอ แนวทางการขึ้นที่เหมาะสมคงเป็นการค่อยๆ จ่ายยาแล้วรอดูอาการ อาจจะปรับขึ้น 1 ครั้งในเดือนสิงหาคม แล้วเว้นวรรคก่อนจะไปขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน” กอบสิทธิ์กล่าว

 

กอบสิทธิ์กล่าวอีกว่า แม้ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันจะยังอยู่ในระดับสูง แต่การนำมาใช้เพื่อดูแลค่าเงินบาทจะต้องทำอย่างเหมาะสม คือดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไป และไม่ทำมากเกินไปจนทำให้ผู้ประกอบการชะล่าใจคิดว่าเป็นภาระของทางการ โดยหากดูจากสถิติในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ธปท. ขายเงินดอลลาร์เพื่อแทรกแซงค่าเงินบาทในบางสัปดาห์ถึง 3-5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

 

อย่างไรก็ดี กอบสิทธิ์ประเมินว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ประกอบกับภาวะการท่องเที่ยวของไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีส่วนช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปีจะกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising