ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2564 จะเติบโตในกรอบ 8.0-8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โตต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2563 ที่เติบโต 6.5%YoY ทำให้ทั้งปี 2563 GDP เติบโตเกินกว่าที่ประเมินไว้ในระดับ 2.3%YoY ส่วนหนึ่งเพราะจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการช่วยอัดฉีดเงินสภาคล่องเข้าสู่ระบบตรงจุด
ทั้งนี้ ไตรมาส 4/2563 เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างชัดเจน เห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนเติบโตหลังมาตรการผ่อนปรนการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น ตัวเลขค้าปลีกโตในกรอบ 4.3-5.0%YoY
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตฟื้นตัวขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฟื้นตัวดีกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2563) ทำให้การส่งออกของจีนขยายตัว 21.1% และ 18.1% ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 ตามลำดับ
ด้านปี 2564 คาดว่า จีนจะปรับมาตรการจากที่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในปีก่อน เช่น อัดฉีดเงินสู่ธนาคารพาณิชย์, มาตรการเลื่อนชำระหนี้, มาตรการเงินอุดหนุนและมาตรการทางด้านภาษี เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่และประเทศในระยะยาว เช่น การยกระดับเทคโนโลยี การส่งเสริมภาคต่างประเทศ ฯลฯ และแผนยุทธศาสตร์ Dual Circulation ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568)
นอกจากนั้นยังเริ่มเห็นทิศทางการลงทุนของภาครัฐที่จะเปลี่ยนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) มาเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (New Infrastructure) และการลงทุนสีเขียว (Green Investment) โดยภาครัฐได้มีการวางแผนใช้จ่ายถึง USD 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ใช้จ่ายในระยะเวลา 5 ปี โดยเป็นการลงทุนมุ่งเน้นในโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล (Digital Infrastructure) ครอบคลุมการพัฒนา 5G การสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) รวมถึงการส่งเสริมการบูรณาการอุตสาหกรรมการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet of Things)
ส่วนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยคาดว่า ทางธนาคารกลางจีนจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ เพื่อคงการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ในระยะหนึ่ง จนกว่าจะเห็นทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจน และเริ่มมีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารกลางจีนจะลดการดำเนินนโยบายทางการเงินนอกกรอบ (Unconventional Monetary Policy) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อลดผลกระทบของโควิด-19
อย่างไรก็ดีปี 2564 เศรษฐกิจจีนยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ ภาระหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นจากผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา และจะไม่ลดลงในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากภาคธุรกิจอาจจะไม่กลับมาทำกำไรได้เต็มที่ และความเสี่ยงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายการค้าที่จะเปลี่ยนไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล