×

KBANK มองสังคมผู้สูงอายุกระทบบาทแข็ง ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจไม่สมดุล

05.02.2019
  • LOADING...

ประเด็นค่าเงินบาทแข็งอาจส่งผลกระทบกับธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ยังอยู่ในความสนใจของประชาชน แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวเป็นระยะ แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถคลายความกังวลของผู้ประกอบการได้เท่าใดนัก โดยค่าเงินบาทวันนี้ (5 ก.พ.) อยู่ที่ 31.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานค่าเงินบาท ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ 31.323 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค อันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากสถานการณ์การเมืองในประเทศและความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลกโดยรวม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงของค่าเงิน ทั้งการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) และการประกันค่าเงิน (Options) เพื่อประกันความเสี่ยง การฝากเงินเข้าบัญชีเงินตราต่างประเทศ หรือการเลือกกำหนดราคาสินค้าในสกุลเงินท้องถิ่นแทนการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

 

ขณะที่ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่าประเทศไทยขณะนี้อยู่ในภาวะ ‘เศรษฐกิจไม่สมดุล’ นั่นคือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างมีนัยสำคัญสู่สังคมผู้สูงอายุ หากพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจพบว่าภาคการส่งออกของไทยเติบโตพอสมควรในปีที่ผ่านมา ทำให้ดุลการค้าเกินดุล ส่งผลถึงดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลด้วย โดยจำนวนผู้สูงอายุในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การบริโภคภายในประเทศไม่ได้คึกคักขึ้นอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากพฤติกรรมของประชากรกลุ่มนี้จะระมัดระวังการใช้จ่ายมากกว่าคนหนุ่มสาว เศรษฐกิจภายในประเทศจึงไม่ได้เติบเท่าที่ควร กลไกอัตโนมัติที่จะทำให้ตลาดกลับไปสู่จุดดุลยภาพเดิมที่เคยเป็นก็ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นเผชิญและยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเห็นผลนัก คาดว่าอีกประมาณ 10 ปี ประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นเกือบแตะ 70 ล้านคน จากนั้นจะทยอยลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดต่ำและจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มเป็นสัดส่วนสำคัญ ขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันกำลังซื้อต่อเนื่อง เห็นได้จากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วงที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับสูง ขณะนี้ยังมีสัญญาณเรื่องหนี้จากการบริโภคและอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจับตาต่อเนื่อง

 

ประเด็นใหญ่คือปัจจัยจากภาวะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธุรกิจของประเทศไทยจะอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ หากอ่อนค่าลงก็จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในที่สุด ซึ่งสหรัฐอเมริกาขณะนี้ยังมีปัจจัยจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในที่สุด จึงยังถือว่ามีความผันผวนอยู่มาก

 

กอบสิทธิ์มองว่าเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจากปัจจัยของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซัน ความต้องการถือเงินบาทของนักท่องเที่ยวลดลง และจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไฮซีซันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีนี้จนถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป ซึ่งอาจจะทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising