×

เจาะดีล KBANK ซื้อหุ้นธนาคารในอินโดนีเซีย โบรกชี้ เสริมแกร่งพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ปูทางธุรกิจสู่อาเซียน

30.05.2022
  • LOADING...
KBANK

นักวิเคราะห์มองธนาคารกสิกรไทยเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นธนาคารเมสเปี้ยนเป็น 67.5% ส่งผลดีระยะยาว เสริมแกร่งพอร์ตสินเชื่อ SMEs และรายย่อย แต่ยังคงประมาณการกำไรปีนี้ เนื่องจากแบงก์เมสเปี้ยนเป็นธนาคารขนาดกลางเล็ก มีกำไรราว 200 ล้านบาท พร้อมแนะจับตากลุ่มแบงก์เริ่มสยายปีกอาเซียนเพิ่ม หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายและแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว

 

วันนี้ (30 พฤษภาคม) ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด (KVF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือครองหุ้นทั้งหมด ได้เข้าทำสัญญาซื้อ-ขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข เพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารเมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ในประเทศอินโดนีเซีย โดย KVF จะดำเนินการเข้าทำรายการภายใต้เงินลงทุนไม่เกิน 220 ล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่าประมาณ 7,556 ล้านบาท

 

หลังจากธุรกรรมนี้ ธนาคารและ KVF จะเข้าถือหุ้นรวมกันเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 67.5% ทั้งนี้ การซื้อ-ขายหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จได้หลังได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าธุรกรรมจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

 

มองกสิกรไทยรับอานิสงส์ระยะยาว 

ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารเมสเปี้ยนของ KBANK เป็นไปตามแผนธุรกิจเดิมของ KBANK ที่ต้องการทยอยลงทุนในธุรกิจธนาคารในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ โดย KBANK ได้เริ่มเข้าลงทุนในธนาคารเมสเปี้ยนตั้งแต่ปี 2560 ในสัดส่วน 9.99% จนล่าสุดวันนี้ที่มีรายงานว่าจะเข้าถือหุ้นเพิ่มเป็น 67.50% 

 

ตฤณกล่าวว่า ดีลนี้มีขนาดรายการไม่ใหญ่มาก โดยหากเทียบเป็นเงินลงทุนต่อสินทรัพย์ของ KBANK แล้วจะอยู่ที่ราว 0.8% ของสินทรัพย์เท่านั้น และทาง KBANK คาดว่าการทำรายการเข้าถือหุ้นเพิ่มน่าจะแล้วเสร็จปลายปี จึงประเมินว่าดีลครั้งนี้จะมีผลต่อกำไรของ KBANK ในปีนี้น้อยมากๆ 

 

ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียมีความโดดเด่นด้านจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค หรือราว 250 ล้านคน มีอัตราการเติบโตของ GDP ที่น่าสนใจ ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับต่ำ และระดับ NPL ไม่สูง จึงเป็นโอกาสที่ KBANK มองเห็นและเข้ามีส่วนร่วมในตลาดอินโดนีเซียมากขึ้น ในเบื้องต้นคาดว่า KBANK จะเข้าไปให้บริการด้านสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ก่อน ซึ่งเป็นตลาดที่ KBANK มีความแข็งแกร่งในประเทศไทยอยู่แล้ว จึงสามารถส่งต่อบริการสู่ตลาดต่างประเทศได้ง่าย

 

“มองเป็นการต่อยอดแผนการขยายธุรกิจสู่อาเซียนมากกว่า โดยก่อนหน้านี้ KBANK เคยให้เป้าหมายว่าจะมีรายได้จากธุรกิจต่างประเทศราว 5% การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในเมสเปี้ยนคือการนำแผนธุรกิจเดิมมาสานต่อ ซึ่งมองว่าเป็นจังหวะที่ดี เพราะปัจจุบันสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และ GDP ของประเทศในอาเซียนก็ฟื้นตัว และนอกจาก KBANK แล้ว เราเชื่อว่าหลายๆ ธนาคารของไทยก็น่าจะเริ่มโฟกัสการขยายธุรกิจในต่างประเทศกันมากขึ้น” ตฤณกล่าว

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของหุ้น KBANK ล่าสุด วันนี้ (30 พฤษภาคม) ณ เวลา 15.30 น. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.37% มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 148.5 บาท 

 

คาดจุดกระแส ‘แบงก์ไทย’ ปัดฝุ่นแผนรุกอาเซียน

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แม้การเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเมสเปี้ยนของ KBANK จะไม่ทำให้ บล.เอเซีย พลัส ปรับเพิ่มประมาณการกำไรของ KBANK ในปีนี้ แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีในระยะยาว โดยจะทำให้ KBANK มีฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรจำนวนมากและยังมีหนี้ครัวเรือนในระดับต่ำ ทำให้ KBANK มีโอกาสขยายสินเชื่ออีกจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าหลังจากนี้ธนาคารไทยจะเริ่มขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้ง GDP ของประเทศกลุ่มอาเซียนก็มีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง โดยประเทศปลายทางที่น่าลงทุนก็คงเป็นอินโดนีเซียและเวียดนาม 

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อดีลที่ KBANK เข้าถือหุ้นธนาคารเมสเปี้ยนเป็น 67.50% เนื่องจากเป็นดีลเล็กและสร้าง Upside ต่อกำไรสุทธิได้เพียง 0.3%

 

ฝ่ายวิจัยระบุว่า KBANK เข้าซื้อหุ้นเพิ่มในธนาคารเมสเปี้ยน (BMAS) อีก 57.51% (ปี 2560 ถือ 9.99%) โดยเงินลงทุนรอบนี้อยู่ที่ 7,556 ล้านบาท คิดเป็น PBV ที่ 4.2 เท่า ซึ่งถูกกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 4.9 เท่า แต่แพงกว่าดีลที่ BBL ซื้อ Permata ซึ่งคิดเป็น PBV ที่ 1.77 เท่า

 

ทั้งนี้ มูลค่าสินทรัพย์ของธนาคารเมสเปี้ยนอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของสินทรัพย์ KBANK และมีสินเชื่ออยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของสินเชื่อ KBANK และมีกำไรสุทธิในปี 2564 อยู่ที่ 179 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.3% ของกำไรสุทธิ KBANK ซึ่งถือว่าเล็กมาก

 

ฝ่ายวิจัยระบุว่า จากการสอบถามกับทาง IR ของ KBANK พบว่าดีลนี้จะซื้อเพียงเท่านี้และจะไม่มีการทำ Tender Offer โดย KBANK มุ่งเป็น Strategic Partner

 

จึงแนะนำซื้อ KBANK ราคาเป้าหมายที่ 190 บาท โดยยังคงเลือก KBANK เป็น Top Pick ของกลุ่มธนาคาร เพราะ Valuation ยังไม่แพง ซื้อขายเพียง 0.7 เท่าของ PBV และแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/65 จะเพิ่มขึ้น YoY ได้ต่อ จากการตั้งสำรองที่ลดลง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising