KBANK ผนึก JMT ร่วมทุน 1 หมื่นล้านบาท จัดตั้ง JK AMC เร่งแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด ตั้งเป้าขึ้นแท่น AMC เบอร์ 1 ของประเทศ ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 1 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ NPL มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด ขึ้นมา (JK AMC) จึงเป็นอีกทางเลือกในการบริหารหนี้เสียของธนาคารเพิ่มเติมจากการบริหารจัดการเองภายในหรือการเปิดประมูล โดยธนาคารจะเลือกวิธีการบริหารที่มีประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด
ในส่วนของการขายหนี้เสียให้ JK AMC นอกจากธนาคารจะได้รับเงินจากการขายหนี้แล้ว ธนาคารจะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรของการบริหารหนี้จาก JK AMC ด้วย ในฐานะผู้ถือหุ้น JK AMC ในสัดส่วน 50% ซึ่งธนาคารลงทุนผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION)
ทั้งนี้ KBANK มีแผนโอนขายหนี้ NPL ให้ JK AMC จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2565 ซึ่งการขายหนี้ในครั้งนี้จะส่งผลให้ NPL และการตั้งสำรองในอนาคตของธนาคารลดลง ทำให้ธนาคารมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้
“หนี้เสียในส่วนของลูกค้ารายใหญ่ที่มีมูลค่าสูงๆ ธนาคารคงจะเก็บไว้บริหารจัดการเอง แต่ในส่วนของสินเชื่อรายย่อย เช่น บ้าน และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน JMT จะมีความชำนาญกว่าในการติดตาม ซึ่งเราก็คาดหวังว่าการร่วมทุนกันใน JK AMC จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการหนี้ในส่วนหนี้ได้” พัชรกล่าว
ด้าน ปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท และกรรมการ JMT กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 90% ของ GDP
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวและความเปราะบางของเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะยิ่งทำให้สถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพมีโอกาสเพิ่มขึ้น ซึ่งหนทางในการแก้ปัญหาหนึ่งในนั้นต้องขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทยที่ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการนำกลไกของ AMC มาช่วยประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด ทำให้ KBANK และ JMT ได้หารือกันเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยได้บรรลุข้อตกลงเพื่อร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน JK AMC ขึ้นมาได้ โดยกลุ่ม JMT ได้ลงทุนผ่านบริษัทย่อย บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM)
ทั้งนี้ JK AMC ถือเป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกในไทยที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ด้วย JMT มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ KBANK มายาวนาน มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจนี้ รวมทั้งยังมีบริษัทในเครือที่จะช่วยให้ JK AMC ดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ นอกจากนี้การจัดตั้ง JK AMC ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือผ่านข้อเสนอการชำระหนี้ที่เหมาะสม เมื่อปรับตัวดีขึ้นก็จะสามารถกลับมาขอสินเชื่อในระบบต่อไป
“ใบอนุญาตจัดตั้ง JV AMC ของ ธปท. มีอายุ 15 ปี ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นความร่วมมือระยะยาว ทั้งสองฝ่ายจะมีการใช้เครือข่ายและระบบนิเวศทางธุรกิจร่วมกัน โดยคาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เพิ่มการเติบโตของ JMT ในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 50% หรือโตในลักษณะ J Curve” ปิยะกล่าว
สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JK AMC กล่าวเพิ่มเติมว่า JK AMC มีเงินทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งบริษัทจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซื้อหนี้เสียทั้งที่มีหลักประกัน (Secure) และไม่มีหลักประกัน (Unsecure) จาก KBANK สถาบันการเงิน หรือบริษัทอื่นๆ มาบริหารจัดการ โดยตั้งเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมีหนี้ภายใต้การบริหารที่ 1 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี
“ปัจจุบัน NPL ในกลุ่มลูกค้าบุคคลของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.9% โดยทรงตัวที่ระดับนี้มาประมาณ 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่เราคาดว่าจากไตรมาส 3 เป็นต้นไป ตัวเลขจะเริ่มปรับขึ้น เพราะกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ใน Stage 2 ซึ่งมีอยู่ราว 7% จะไหลมาเป็น Stage 3 หรือ NPL มากขึ้น และภาวะเช่นนี้จะลากยาวไปตั้งไปแต่ครึ่งหลังของปีนี้ไปจนตลอดทั้งปีหน้า” สุทธิรักษ์กล่าว
สุทธิรักษ์กล่าวว่า ศักยภาพทางธุรกิจของ JK ที่จะส่งเสริมให้ไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจได้คือ
- ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารหนี้ของ JMT และ JMT ยังมีบริษัทในกลุ่มที่จะช่วยให้ JK AMC มีต้นทุนที่แข่งขันได้
- การใช้ช่องทางต่างๆ ของธนาคารช่วยประชาสัมพันธ์ทรัพย์ NPA ไปสู่ลูกค้าที่สนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ
- โอกาสเพิ่มมูลค่าธุรกิจอื่นๆ ให้ครบวงจร เช่น การรับปรับปรุงบ้านให้กับผู้ซื้อทรัพย์ด้อยคุณภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล การช่วยเหลือลูกค้าที่มีประวัติเครดิตที่ดี เป็นต้น
โดย JK AMC ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการและเริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP