×

กสิกรไทยได้รับอนุมัติจากแบงก์ชาติเมียนมา ลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
11.04.2020
  • LOADING...

​ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ในการขยายธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 (เออีซี จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ด้วยกลยุทธ์ Asset Light and Digital Expansion วันนี้ธนาคารกสิกรไทยได้รับข่าวดีจากการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ของธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือเอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A Bank) ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา  

 

​​การร่วมลงทุนในธนาคารกับเอแบงก์ในครั้งนี้เป็นรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมาที่ใช้เงินลงทุนน้อยและมีประสิทธิผลกว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาต่างประเทศและธนาคารท้องถิ่น โดยการเข้าไปร่วมลงทุนในเอแบงก์สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที และจะเป็นการต่อยอดศักยภาพของเอแบงก์ที่เป็นธนาคารท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็ว มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมาให้บริการ มีความเข้าใจในทุกกลุ่มลูกค้าชาวเมียนมา กับจุดแข็งของธนาคารกสิกรไทยที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำการให้บริการกลุ่มลูกค้าบุคคล กลุ่มเอสเอ็มอี การให้บริการดิจิทัลแบงกิ้ง รวมถึงกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ มีบริการทางการเงินที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งนักลงทุนต่างชาติ (FDI) บรรษัทขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคลในประเทศเมียนมา ผ่านช่องทางสาขา 18 สาขา ครอบคลุมทุกเมืองหลัก เช่น ย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์, เมียวดี, เมาะลำไย (อิรวดี) รวมทั้งมีแผนกลยุทธ์ขยายธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้งที่สามารถให้บริการทั้งกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของธนาคารและกลุ่มลูกค้าจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยยึดมั่นในปรัชญา Beyond Banking ที่อยู่เคียงข้างลูกค้า ช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคคลและธุรกิจแบบยั่งยืน 

 

​ปัจจุบันเอแบงก์มีสินทรัพย์ 3.14 แสนล้านจ๊าด หรือ 6.4 พันล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 4 หมื่นล้านจ๊าด หรือ 820 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2557 เป็นธนาคารที่มีความเข้าใจความต้องการของลูกค้าบุคคลและธุรกิจเมียนมาในเชิงลึก มีวิสัยทัศน์และแนวทางการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับธนาคารกสิกรไทยในการผนึกกำลังเพื่อส่งมอบบริการที่ยั่งยืนให้แก่ชาวเมียนมา ด้วยบริการทางการเงินที่มีความหลากหลายในประเทศเมียนมา โดยมีเป้าหมายสำคัญดังนี้  

 

  • การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทยและเมียนมาผ่านการเป็นพันธมิตรและเครือข่ายของธนาคารกสิกรไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจระหว่างประเทศและธนาคารเมียนมา
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นในเมียนมาเพื่อสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น (Financial Inclusion) ผ่านการพัฒนาโครงการซัพพลายเชนไฟแนนซ์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจท้องถิ่น อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
  • การขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัลที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของการพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน เพื่อครอบคลุมลูกค้าส่วนบุคคลทั่วประเทศ ซึ่งยังมีสัดส่วนในการเข้าถึงธนาคารค่อนข้างต่ำ รวมถึงธุรกิจรับชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศ
  • มุ่งเน้นการสร้างช่องทางของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าส่วนบุคคลสามารถเข้าถึงและทำธุรกรรมได้ผ่านช่องทางธนาคารตัวแทน (Agent Banking) และการขยายจำนวนเครื่อง ATM

 

​​ภัทรพงศ์กล่าวสรุปตอนท้ายว่า รูปแบบของการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มทุนให้กับเอแบงก์ ซึ่งจะส่งผลให้เอแบงก์มีฐานของเงินทุนในการดำเนินธุรกิจที่เข้มแข็งขึ้น โดยการลงทุนครั้งนี้จะดำเนินการผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือครองหุ้น 100% เป็นบริษัทลงทุน (Investment Holding Company) นอกประเทศไทย มีงบลงทุนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศให้กับธนาคารกสิกรไทย นอกจากนี้การมีโอกาสเข้าร่วมถือหุ้นในเอแบงก์จะช่วยสร้างความหลากหลายในการให้บริการการเงิน เสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเมียนมา เพื่อต่อยอดธุรกิจของธนาคารในเมียนมาที่จะเชื่อมเครือข่ายธุรกิจและระบบชำระเงินตามยุทธศาสตร์การทำธุรกิจในอนาคตของธนาคารกสิกรไทย ที่จะมุ่งเน้นขยายเครือข่ายการให้บริการแก่ลูกค้าท้องถิ่น นักธุรกิจไทย และต่างชาติที่ขยายธุรกิจไปในประเทศ AEC+3   

 

ทั้งนี้เอแบงก์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 โดยมีทรัพย์สินมูลค่า 3.14 แสนล้านจ๊าด หรือ 6.4 พันล้านบาท ทุนจดทะเบียน (ปัจจุบัน) 4 หมื่นล้านจ๊าด หรือ 820 ล้านบาท มีฐานลูกค้า 11,000 ราย


จำนวนสินเชื่อรวม 2.18 แสนล้านจ๊าด หรือ 4.4 พันล้านบาท มีจำนวนเงินฝาก 2.6 แสนล้านจ๊าด หรือ 5.3 พันล้านบาท มีเครือข่ายสาขา 18 แห่ง, 6 Myanmar Post Office และจำนวนพนักงาน 550 คน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X