ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ชี้เป้า 11 ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero โดยคาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 ยืนยันบทบาทธนาคารในการเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านและความรับผิดชอบในฐานะประชากรโลก
วันนี้ (24 เมษายน) ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงาน EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth ว่า การลงทุนที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) สามารถเป็นภัยคุกคาม (Threats) หรือโอกาส (Opputunities) ก็ได้
โดยคนที่ปรับตัวไม่ทันอาจเจอความเสี่ยงจากมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่อการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น CBAM ของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันทางธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กสิกรไทย’ เผยกำไรสุทธิไตรมาสแรก 10,741 ล้านบาท ลดลง 4.19% จากปีก่อน แจงเพิ่มสำรองหนี้-จับตา ‘ลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง’ ใกล้ชิด
- ‘กสิกรไทย’ กางยุทธศาสตร์ ESG ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อสีเขียว 2 แสนล้านบาทภายในปี 2573
- กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ตัวเลือกที่น่าสนใจสอดรับกระแส ESG
“ESG จะเป็นภัยคุกคามก็ต่อเมื่อเราไม่สามารถปรับตัวได้ตามเวลาและวิธีที่เหมาะสม แต่ ESG จะเป็นโอกาสอย่างมากหากเราปรับตัวได้ตามวิธีที่เหมาะสม” ขัตติยาระบุ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากรายงานของ McKinsey พบว่า มีกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่
- การจัดการคาร์บอน (Carbon Management)
- การก่อสร้าง (Buildings)
- น้ำ (Water)
- ไฮโดรเจน (Hydrogen)
- ผู้บริโภค (Consumer)
- ขยะ (Waste)
- พลังงาน (Power)
- น้ำมัน ก๊าซ และเชื้อเพลิง (Oil, Gas and Fuel)
- อุตสาหกรรม (Industrials)
- คมนาคม (Transport)
- เกษตรกรรมและการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Agriculture and Land Use)
โดยกลุ่มธุรกิจ 11 กลุ่มนี้สามารถสร้างรายได้รวมกันมากกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของทั้งโลกไปสู่ Net Zero
ขัตติยากล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนนั้นยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ทั้งจากนักลงทุนทั่วไป, Venture Capital, ธนาคาร และสถาบันการเงิน พร้อมแนะนำอีกว่า ทุกภาคส่วนในสังคมควรร่วมมือกันผลักดันประเด็นดังกล่าว
“การแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน ภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และสถาบันการเงิน ทุกฝ่ายล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้โลกใบนี้เปลี่ยนผ่านไปได้ การจัดงานในวันนี้จึงอยากเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง หากเราทำสำเร็จ เราจะพบดินแดนใหม่ที่สดใสอย่างแน่นอน” ขัตติยากล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68