คาซุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวแสดงจุดยืนแนวนโยบายด้านการเงินที่จะมุ่งเน้นสานต่อนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะใช้นโยบายแบบผ่อนคลายอย่างน้อยไปอีก 10 ปี ก่อนเน้นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแบบฉับพลันจะกลายเป็นการ ‘Disrupt’ หรือทำให้ระบบการเงินของญี่ปุ่นหยุดชะงักได้
นอกจากนี้ อุเอดะยังแสดงจุดยืนสนับสนุนการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control หรือ YCC) และอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Rates) ซึ่งเป็นสององค์ประกอบที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในนโยบายการเงินของญี่ปุ่น โดย YCC เป็นนโยบายที่ตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับศูนย์ ขณะที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Rates Policy-NIRP) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1%
ทั้งนี้ อุเอดะแสดงความคิดเห็นดังกล่าวในระหว่างงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายน โดยอุเอดะถือเป็นผู้ว่าการ BOJ คนแรกที่มาจากสายวิชาการโดยตรงนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก
โดยอุเอดะย้ำชัดว่า เป็นการ ‘เหมาะสม’ ที่จะคงการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนและอัตราดอกเบี้ยติดลบในมุมมองของสภาวะเศรษฐกิจ การเงิน และราคาในปัจจุบัน และขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคหลักยังไม่อยู่เหนือเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อุเอดะกล่าวเสริมอีกว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีทิศทางแนวโน้มการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงข้อมูลสนับสนุนด้านตัวเลขแรงงานที่ได้รับการขึ้นค่าจ้างสูงสุดในรอบ 30 ปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีการพัฒนาในเชิงบวก ดังนั้นธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องจับตาดูต่อไปว่าจะความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อจะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องเกินปีนี้ต่อไปหรือไม่
ขณะนี้มีเพียงผู้เล่นในตลาดไม่กี่รายที่คาดว่าการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่คนใหม่ของ BOJ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของธนาคารกลางญี่ปุ่นในปีนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับการขาดเสถียรภาพทางการเงินอันเป็นผลพวงมาจากการปรับใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร และถึงขั้นทำให้ธนาคารใหญ่อย่าง Silicon Valley Bank และ Signature Bank ล้มละลาย
กระนั้น นักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายฝ่ายต่างคาดหวังว่า BOJ จะปรับกรอบนโยบายในบางจุด ซึ่งทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเคลื่อนไหวผิดปกติ และเป็นชนวนที่ทำให้ค่าเงินของสกุลเงินเยนอ่อนค่าร่วงลงอย่างแรงในปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะถือเป็นทิศทางนโยบายการเงินที่สวนกระแสโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อสูงจนต้องหันมาใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ส่งผลให้ค่าเงินเยนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันต่อ BOJ ได้ผ่อนคลายลงบ้างเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชะลอ และความหวังเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มมีน้อยลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
อ้างอิง: