×

มีเทนรั่วไหลมหาศาลในคาซัคสถาน กระทบโลกแค่ไหน

โดย THE STANDARD TEAM
17.02.2024
  • LOADING...
ก๊าซมีเทน

มีรายงานพบการรั่วไหลของก๊าซมีเทนในปริมาณมากถึง 127,000 ตัน ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังเกิดการระเบิดที่หลุมสำรวจก๊าซแห่งหนึ่งในคาซัคสถาน ซึ่งทำให้เพลิงลุกไหม้เป็นเวลายาวนานกว่า 6 เดือน 

 

“ขนาดและระยะเวลาของการรั่วไหลนั้นไม่ธรรมดา” มันเฟรดี คัลตาจิโรเน หัวหน้าหอสังเกตการณ์การปล่อยก๊าซมีเทนระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ กล่าว “มันใหญ่มาก”

 

การรั่วไหลเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2023 เมื่อเกิดการระเบิดระหว่างการขุดเจาะที่หลุมสำรวจแห่งหนึ่งในแคว้นมังกิสตาอู (Mangistau) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาซัคสถาน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงสิ้นปี

 

รายงานระบุว่า มีความพยายามควบคุมเพลิงอย่างต่อเนื่อง แต่สามารถควบคุมได้เพียงวันเดียวคือในวันที่ 25 ธันวาคม 2023 และขณะนี้ทางการท้องถิ่นอยู่ระหว่างดำเนินการปิดผนึกหลุมด้วยปูน 

 

ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร ก่อผลกระทบต่อโลกแค่ไหน

 

เทียบเท่ารถ 7 แสนคันปล่อยควันเสียรวมกัน 1 ปี

 

มีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการคำนวณหาค่าเทียบเท่าก๊าซเรือนกระจกโดย Greenhouse Gas Equivalency Calculator ขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ พบว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการรั่วไหลของก๊าซมีเทนครั้งนี้เทียบได้กับการขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า 717,000 คันใน 1 ปี

 

ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ประกอบด้วยมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ดวงตามนุษย์มองไม่เห็น แต่เมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่านกลุ่มก๊าซมีเทน มันจะสร้างลายนิ้วมืออันเป็นเอกลักษณ์ที่ดาวเทียมบางดวงสามารถติดตามได้

 

เหตุการณ์รั่วไหลของก๊าซมีเทนครั้งใหญ่นี้ได้รับการตรวจสอบครั้งแรกโดย Kayrros บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ของฝรั่งเศส และอยู่ระหว่างการพิสูจน์ยืนยันโดยสถาบันวิจัยอวกาศแห่งเนเธอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งวาเลนเซียในสเปน

 

เมื่อดูจากข้อมูลดาวเทียม นักวิทยาศาสตร์พบว่าสามารถมองเห็นก๊าซมีเทนที่มีความเข้มข้นสูงได้ถึง 115 ครั้งในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม

 

ข้อมูลนี้ทำให้เชื่อว่ามีก๊าซมีเทนรั่วไหลมากถึง 127,000 ตัน ซึ่งอาจเป็นการรั่วไหลของมีเทนโดยฝีมือมนุษย์ที่เลวร้ายเป็นอันดับ 2 ที่เคยบันทึกไว้ เป็นรองเพียงเหตุการณ์รั่วไหลของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 และ 2 ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังเยอรมนีที่เกิดระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน 2022 จนส่งผลให้ก๊าซมีเทนมากถึง 230,000 ตันรั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศ

 

ข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุว่า มีเทนเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30% นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 

 

กระทรวงนิเวศวิทยาของแคว้นมังกิสตาอูยืนยันในแถลงการณ์ว่า พบความเข้มข้นของมีเทนในอากาศเกินข้อกำหนดของกฎหมาย 10 ครั้ง ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน ถึง 21 กันยายน นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการระเบิดครั้งแรก ระดับมีเทนในอากาศสูงกว่าที่อนุญาตถึง 50 เท่า

 

ความผิดพลาดของกระบวนการขุดเจาะ

 

การสอบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าว ซึ่งนำโดยคณะกรรมการความปลอดภัยในอุตสาหกรรมของเมืองอะตีราอู (Atyrau) พบว่า บริษัท Buzachi Neft ไม่สามารถกำกับดูแลการขุดเจาะบ่อได้อย่างเหมาะสม

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังกล่าวโทษ Zaman Energo ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วง สำหรับความผิดพลาดในกระบวนการขุดเจาะ ขณะที่ Zaman Energo ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ 

 

อย่างไรก็ดี Buzachi Neft บริษัทสัญชาติคาซัคสถานซึ่งเป็นเจ้าของหลุมสำรวจแห่งนี้ ปฏิเสธข้อมูลที่ว่าก๊าซมีเทนรั่วไหลออกมาในปริมาณมาก แต่กล่าวว่าหลุมมีก๊าซในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมีเทนที่รั่วไหลออกมาจะถูกเผาไหม้ทันทีที่ออกมาจากหลุมเจาะ นอกจากนี้บริษัทยังระบุด้วยว่า มีเพียงไอน้ำเท่านั้นที่รั่วไหลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนสีขาวขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้จากอวกาศ

 

“เรารับมือกับสถานการณ์นี้ด้วยความรับผิดชอบ” ดานียาร์ ดุยเซมบาเยฟ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ของบริษัท กล่าวกับ BBC

 

คาซัคสถานให้คำมั่นลดการปล่อยก๊าซมีเทน 

 

กระทรวงพลังงานของคาซัคสถานเผยกับ BBC ว่า การจัดการกับการรั่วไหลนั้นเป็น “การดำเนินการทางเทคนิคที่ซับซ้อน” และ “ไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่เป็นสากลเพื่อกำจัดอุบัติเหตุในลักษณะนี้”

 

แม้เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการตรวจพบการรั่วไหลของมีเทนครั้งใหญ่ในเอเชียกลาง แต่ ลูอิส กวนเตร์ จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งวาเลนเซีย ซึ่งช่วยตรวจสอบการรั่วไหลกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแคว้นมังกิสตาอูนั้นเด่นชัด “นี่เป็นการรั่วไหลของก๊าซมีเทนที่ใหญ่ที่สุดจากกิจกรรมปกติของมนุษย์ที่เราเคยตรวจพบ” เขากล่าว 

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศที่ Climate Action Tracker กล่าวว่า ด้วยการคาดการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น คาซัคสถานจึงเผชิญกับความเสี่ยงที่จะมีก๊าซมีเทนรั่วจากท่อส่งก๊าซเพิ่มมากขึ้น

 

ในการประชุม COP28 เมื่อปีที่แล้ว คาซัคสถานได้เข้าร่วม Global Methane Pledge ซึ่งเป็นข้อตกลงโดยสมัครใจที่ประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ประเทศให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030

 

ภาพ: European Space Agency / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising