×

ขัตติยาหนุนแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เปิดทาง ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ พาประเทศหลุดพ้นมลทินคณะรัฐประหาร

โดย THE STANDARD TEAM
18.06.2024
  • LOADING...
ขัตติยา สวัสดิผล

วันนี้ (18 มิถุนายน) ขัตติยา สวัสดิผล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ว่า ในระบอบประชาธิปไตยเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ เพราะประชาชนคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ดังนั้นในฐานะพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎร มีหน้าที่แปรเสียงเรียกร้องของประชาชนให้ปฏิบัติได้จริงผ่านกระบวนการทางการเมืองในระบบ โดยเฉพาะความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง 

 

ขัตติยากล่าวว่า พรรคเพื่อไทยรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนมาโดยตลอด จึงเป็นเหตุผลที่ผลักดันนโยบายเรือธงในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และมีเจตนารมณ์เดินหน้าเรื่องนี้อย่างสุดกำลัง ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล จนถึงวันนี้ผ่านมา 11 เดือน เรายังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาสัญญาที่เราเคยให้ไว้ โดยเลือกเดินไปสู่เป้าหมายอย่างมียุทธศาสตร์ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ถูกกลไกซ่อนเร้นของคณะรัฐประหารมาขัดขวางการจัดทำ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ จนต้องสะดุดหยุดลง จึงเสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ยังมีข้อจำกัดอยู่ ให้เหมาะสมและเพียงพอในการสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าของอำนาจ 

 

ขัตติยาขยายความว่า ประชามติเปรียบเสมือนเข็มทิศของระบอบประชาธิปไตยที่ช่วยชี้ทางเดินให้กับบ้านเมือง และเป็นเข็มทิศที่ช่วยตัดสินใจในช่วงเวลาที่สังคมเกิดความสับสนหรือหาทางออกไม่ได้ ดังนั้นเพื่อลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาสในการนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำประชามติ, การเพิ่มช่องทางให้ลงคะแนนประชามติผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการลงคะแนน รวมถึงการปรับแก้เงื่อนไขของการผ่านประชามติที่ต้องใช้ ‘เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น’ (Double Majority) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ขัดกับหลักสากล ให้เหลือเพียงการใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว 

 

“เราจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้การทำประชามติหลุดพ้นจากรอยแปดเปื้อนของคณะรัฐประหารที่ฉวยใช้และลดทอนประชามติ ให้กลายเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมของการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญมาอย่างยาวนาน อีกทั้ง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คณะรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ต่างฉวยใช้การทำประชามติให้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมและการฟอกขาวให้กับรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยคณะรัฐประหาร หากดูเพียงผิวเผินอาจเข้าใจว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และปี 2560 ถือเป็นตราประทับรับรองว่ารัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่มาจากคณะรัฐประหารมีความชอบธรรม มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะได้รับความยินยอมจากประชาชนส่วนใหญ่ ผ่านการรับฟังเสียงด้วยการทำประชามติ แต่จะพบว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารทั้งสองฉบับ ล้วนมีกระบวนการรับฟังเสียงประชาชนที่ไม่มีความชอบธรรม และขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น ทั้งการไล่จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา หรือผู้ที่รณรงค์ให้ประชาชนไปโหวตไม่รับร่าง หรือมีการข่มขู่ว่าหากประชาชนส่วนใหญ่โหวตไม่รับร่าง คณะรัฐประหารก็จะไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ก็ได้ตามอำเภอใจ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีความอึดอัดและไม่ยอมรับความชอบธรรมที่เกิดจากตราประทับของกระบวนการประชามติที่ถูกใช้โดยคณะรัฐประหาร เพราะถือว่าเป็นประชามติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีความโปร่งใส ไม่เสรี และไม่เป็นธรรม” ขัตติยากล่าว

 

ขัตติยากล่าวอีกว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ประชามติที่ควรจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศถูกดูแคลนด้อยค่า และไม่ถูกยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศได้ในสายตาของประชาชนจำนวนมาก หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดีในระยะยาวต่อการตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องสำคัญของประเทศที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรีและสถานะของประชามติให้กลับมาเป็นเครื่องมือของระบอบประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม ได้รับการยอมรับจากประชาชน

 

“ความเห็นต่างและความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งวิธีการหรือเครื่องมือที่ใช้ในการหาทางออกจากความขัดแย้ง จะเป็นตัวชี้วัดความมีอารยะของสังคมนั้นๆ การกลับไปถามประชาชนให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ ที่ส่งผลต่ออนาคตของประเทศ คือมาตรวัดว่าความเป็นประชาธิปไตยยังไม่ตายไปจากประเทศนี้ และเมื่อเสียงของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด กระบวนการเพื่อรับฟังเสียงของประชาชนย่อมต้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุดไม่แพ้กัน” ขัตติยากล่าวในตอนท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X